ปั่นความหลัง'แม้ว'ในเพลงลูกทุ่ง ความจริงครึ่งเดียว
กลุ่มแคร์ปั่นไม่เลิก ปลุกความหลังสมัย "ทักษิณ" คนรากหญ้ามีความสุข แต่ความรวยก็พาไปสู่บทอวสาน คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมึก
เหมือนได้กลิ่นยุบสภา เลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ฉวยจังหวะโควิดระบาด ออกช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นกระบวนการ
แม้แต่เรื่องวัคซีนป้องกันโควิด ก็กลายเป็น “วัคซีนการเมือง” พรรคร่วมรัฐบาลต่างแย่งชิง “วัคซีน” กันวุ่นวาย ขนาดนายแพทย์ใหญ่ ระดับ ผอ.โรงพยาบาล ยังออกมาวิจารณ์พฤติกรรมนักการเมืองแบบไม่ไว้หน้า
กลุ่มแคร์ ฝ่ายเสนาธิการของพรรคเพื่อไทย เห็น “ลุงตู่” กำลังเมาหมัด กองเชียร์เสียงแผ่วเบา จึงรุกฆาต ด้วยการปั้น “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร ให้กลับมาเป็นความหวังของคนไทยทั้งชาติอีกครั้ง
ล่าสุด ทีมงานกลุ่มแคร์ ได้เขียนบทความเรื่อง “จริงไหมที่คนไทยส่วนใหญ่มีความสุขในยุคพี่โทนี่?” โดยอ้างอิงทักษิณ ชินวัตร เคยให้สัมภาษณ์ในสื่อออนไลน์ Thai Enquirer ในหัวข้อ Exclusive Interview with Former Prime Minister Thasin Shinawatra โดยมีความตอนหนึ่ง โทนี่ได้ระบุไว้ว่า “...ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่มี ความสุขดีในยุคของผม...”
ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ ยังพูดถึง “เพลงลูกทุ่ง” ที่สามารถสะท้อนภาพความเป็นไปในสังคมได้เป็นอย่างดี หรือแม้กระทั่งใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองก็ได้ ซึ่งยุครัฐบาลไทยรักไทย มีเพลงลูกทุ่งดังหลายเพลง ที่สะท้อนว่า “ประชาชนมีความสุขมากในยุคทักษิณ”
กลุ่มแคร์ กำลังขายความหลัง ปลุกฝัน
++
เพลงหาเสียง
++
ผู้เขียนบทความชิ้นนั้น ได้ยกเพลง “สามโห่ สามช่า” ร้องโดย “คัทลียา มารศรี” แต่งโดย ครูลพ บุรีรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเพลงนี้เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2546 เป็นปีที่ 2 ของรัฐบาลทักษิณ
เวลานั้น นโยบายประชานิยมเฟื่องฟู ทั้งกองทุนหมู่บ้าน และโอท็อปหรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จึงถูกนำมาร้อยเรียงในเนื้อเพลง
“หมู่บ้านเรานี้ กำลังโชคดีมากมายหลายต่อ ลูกตามีเรียนหมอ แล้วลูกป้านอก็ได้เป็นกำนัน
ต่างคนมีงาน กองทุนหมู่บ้านกำลังลือลั่น หนึ่งผลิตภัณฑ์กับหนึ่งตำบลคนบอกดี๊ดี..”
ผู้เขียนอาจไม่ทราบเบื้องหลังแท้จริง เพลง “สามโห่ สามช่า” นี้ ชัย ศิษย์ประเสริฐ ผู้บริหารค่ายชัย โปรโมชั่น ได้มีการปรับแก้เนื้อเพลงเดิมของครูลพ บุรีรัตน์ ที่เขียนชื่อเพลง “โห่สามลา” เป็นเรื่องราวของหนุ่มบ้านนาจะบวช ให้แฟนสาวอุ้มหมอนแล้วโห่หน้านาค
เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองเวลานั้น กระแสพรรคไทยรักไทยมาแรง “ชัย” จึงให้ครูลพปรับแก้เนื้อใหม่ เอาหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลมาใส่ เป็นเรื่องความรักของหนุ่มสาวสองตำบล ถ้าค้าขายดีก็จะมารวมหมู่บ้านกัน
อันที่จริง ยังมีเพลง “ไอ้หนุ่มชุมชน” ขับร้องโดย ศร สินชัย สังกัดแกรมมี่โกลด์ ออกมาเผยแพร่ในช่วงใกล้เลือกตั้ง 2548
“คนจนคืออ้าย วันวาเลนไทน์ยังไปไต้หนู ความจนสอนให้คนสู้ กะพอได้อยู่หม่มมื้อหม่มวันแต่ถ้าได้น้องมาประคองคงดีกว่านั้น สิกู้เงินกองทุนหมู่บ้าน มาช่วยสร้างฝันในวันแต่งเรา”
เพลงนี้ได้บอกว่า การเกิดขึ้นของสถานีวิทยุชุมชนในยุคทักษิณ และนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ถ้าใครได้ชมเอ็มวีเพลงไอ้หนุ่มชุมชน จะเห็นว่า พระเอกนั้นสวมเสื้อยืดสีขาว มีชื่อพรรคไทยรักไทย คาดอกเสื้อชัดเจน
อาการฟีเวอร์ของทักษิณ และไทยรักไทย ทำให้นักร้องหมอลำคนหนึ่งใช้ชื่อ “รักไทย ก้องวาริน” แต่เสียดายออกเพลงชุดเดียวก็แป้ก แจ้งเกิดไม่สำเร็จ
พระเอกเอ็มวี เพลงไอ้หนุ่มชุมชน ใส่เสื้อพรรคไทยรักไทย
++
เพลงรวยเพลงลา
++
สำหรับเพลงลูกทุ่ง ที่โผล่มาในยุคทักษิณรุ่งเรืองอีกเพลงหนึ่งคือ เพลง “หนุ่มราชภัฎ” ร้องโดย ดำรง วงศ์ทอง และแต่งโดยชลธี ธารทอง
“รวยเหมือนทักษิณ จะซื้อเครื่องบินไอพ่น ขับเวียนวนเที่ยวยลนางฟ้า แต่วันนี้ยังมีหนี้ท่วมนาต้องหลับตาฝันค้างกลางวัน”
“รวยเหมือนทักษิณ จะซื้อเครื่องบินคอปเตอร์ขับพาเธอ เที่ยวสองต่อสอง หนุ่มราชภัฏอัตคัตเงินทอง ได้แค่มองลอดรั้วมหาลัย”
อาจารย์ชลธี ตั้งใจขายท่อนฮุค “รวยเหมือนทักษิณ” ให้คนจดจำและคาดว่า เพลงนี้จะดังระเบิดเถิดเทิง แต่บังเอิญเพลงนี้ออกเผยแพร่ ในช่วงที่มีกระแสไล่ระบอบทักษิณ เลยไม่เปรี้ยงปร้าง แต่ก็ยังมีคนจำได้ถึงวันนี้
ต้นปี 2549 ความรวยของทักษิณ กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองไทย หลังตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด ซึ่งเป็นการขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เกิดกระแสโจมตีทักษิณเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
การขายหุ้นครั้งมโหฬารของทักษิณ ส่งผลให้เกิดขบวนการล้มระบอบทักษิณ และปิดท้ายด้วยการรัฐประหาร 2549