"ส.ว." หัก "พปชร." เงา "3 ป." ยืนทะมึน
เบื้องลึก "ส.ว." หัก ส.ส.พลังประชารัฐ สัญญาณรอยร้าวภายในเครือข่าย 3 ป." คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมึก
ศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญจบไปอีกยกหนึ่ง ทิ้งไว้ซึ่งรอยบาดหมางระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
ไม่ต้องพูดปฏิกิริยาจากพรรคก้าวไกล และภาคประชาชนฝ่ายก้าวหน้า ที่เสนอยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว ยกแรกถูก ส.ว.ตีตกมาแล้ว ยกที่สองก็เจอ ส.ว. คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.จำนวน 12 ฉบับ จากทั้งหมด 13 ฉบับ ยิ่งเพิ่มเชื้อไฟแห่งการต่อต้านระบอบประยุทธ์
ดังนั้น กลุ่ม Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ จึงเปิดแคมเปญ “ล้ม ส.ว. เดินหน้าสภาเดี่ยว” ปลุกผู้คนให้มาลงชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ เพิ่มเติมจาก 70,000 รายชื่อ
“ตราบใดที่ ส.ว. ลากตั้งทั้ง 250 คน ยังอยู่ในอำนาจอย่างสุขสบาย ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเดินหน้าประชาธิปไตยของประเทศแบบนี้ไปเรื่อยๆ”
ภาคประชาชน เดินหน้ารื้อ ส.ว. เดินหน้าสภาเดี่ยว
หันมาดูความขัดแย้งภายในฝ่ายเดียวกัน มีหลายมุมมอง บ้างว่าเป็นรอยร้าวในขั้วอำนาจ “3 ป.” บ้างว่าเป็นปฏิบัติการสั่งสอนนักเลือกตั้ง โดยฝีมือกลุ่มอดีตนายทหาร และข้าราชการ ที่อยู่บนสภาสูง
‘ไพบูลย์’ เปลี่ยนไป
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 มาตรา 29 มาตรา 41 มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 94 มาตรา 144 มาตรา 185 และมาตรา 270) เสนอโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับคณะ เบื้องต้นเหมือนจะนอนมา แต่ใครเล่าจะคิดว่า ไพบูลย์จะกลายเป็นกิ้งกือตกท่อ เพราะฝีมือ ส.ว. ที่เป็นเพื่อนเก่า
จุดแตกหักอยู่ที่การเสนอแก้ไขมาตรา 144,185 โดยตัดบทลงโทษรุนแรงต่อนักการเมืองและข้าราชการประจำที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน เรียกว่า เป็นการถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง
เล่ากันว่า ส.ว.ที่มาจากข้าราชการประจำ สมัยที่พวกเขาเป็นสมาชิก สนช. ต่างเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการบรรจุมาตรา 144 ให้ลงโทษ ส.ส., ส.ว. และกรรมาธิการที่แทรกแซงการแปรญัตติงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม และมาตรา 185 ห้าม ส.ส., ส.ว. เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการ ส.ว.ส่วนใหญ่ ไม่ชอบพฤติกรรม “นักเลือกตั้ง” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการเข้าไปล้วงลูกงบประมาณ ทำให้ข้าราชการประจำอึดอัดใจ อดีตนายทหารใหญ่ เพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงรวมหัวกันต่อต้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ม.144 และ ม.185 พร้อมกับส่งสัญญาณไปถึงนายกรัฐมนตรี
เย็นวันที่ 23 มิ.ย.2564 อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์” ยืนยันไม่เห็นด้วยที่จะแก้ ม.144 และ ม.185 ที่เป็นหัวใจของการปราบทุจริตคอร์รัปชันในรัฐธรรมนูญ คืนวันเดียวกัน มีการตรวจเช็คสัญญาณจากทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง เมื่อได้เสียงยืนยันว่า ไม่เห็นด้วย ส.ว.สายทหารเก่า ก็เดินหน้าหักพลังประชารัฐ และผลก็ออกมาตามเสียงโหวตว่า ส.ว.คว่ำ 12 ฉบับ เหลือไว้แค่ฉบับเดียว
เพื่อไทยสาขา 2
ก่อนถึงวันลงมติ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาร้องขอให้ ส.ว.รับหลักการแก้ไขวาระ 1 ไปก่อน และในชั้นกรรมาธิการ จะเสนอแก้ไข ม.144 และ ม.185 ให้คงหลักการเข้มข้นรัฐธรรมนูญปี 2560 ไว้ตามเดิม ให้สบายใจได้
ไพบูลย์ นิติตะวัน
“ไพบูลย์” เคยเป็น ส.ว.มาก่อน และเพื่อน ส.ว.หลายสิบคนในสภาสูงวันนี้ ก็เคยอยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว. แต่หลังจากไพบูลย์ได้ย้ายเข้าไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ คงได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับ ส.ส.หรือนักเลือกตั้งรุ่นเก่า เกี่ยวกับ ม.144 และ ม.185 ที่เข้มข้น จน ส.ส.ไปแตะงบฯ ของหน่วยงานราชการลำบาก ยกตัวอย่างกรณี ส.ส.ไปติดต่อหน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนก็สุ่มเสี่ยงว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานหน่วยราชการ ตาม ม.185 พูดกันตามจริง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กว่าร้อยละ 60 ล้วนแต่เป็นอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะระดับแกนนำพรรค ก็เคยทำงานในรัฐบาลทักษิณมาแล้วทั้งนั้น
อย่างไรก็ดี ส.ส.พลังประชารัฐ กับ ส.ว. ต่างก็อยู่ใต้ร่มเงา “3 ป.” ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.ประวิตร ก็แบ่งบทกันเล่น คอยประคองทั้ง 2 ขั้ว ให้เดินไปแนวทางเดียวกัน