"ตู่" ย่ำรอยเดิม "เต้น" เกาะสามนิ้ว
ม็อบไล่ประยุทธ์ วันที่ "ตู่" จุดไม่ติด "เต้น" รอแตะมือ "ธนาธร" คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมึก
ในที่สุด กลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย ตัดสินใจเกมยืดเยื้อ ขอใช้เวลา 3 เดือน ขับไล่ประยุทธ์ ไม่เล่น “เกมกดดัน” แบบเดิมๆ เลี่ยงแตกหัก
เย็นวันที่ 26 มิ.ย.2564 จตุพร พรหมพันธ์ ได้เดินเท้าเคลื่อนขบวนกลุ่มไทยไม่ทน จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนิน ไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามนัดหมาย มีข้อน่าสังเกตว่า มวลชนที่เข้าร่วมครั้งที่ 2 ยังเป็นคนหน้าเดิมๆ กลุ่มนักศึกษารามคำเเหงเพื่อประชาธิปไตย แต่คนเสื้อแดงหายไปเยอะ โชคดีที่ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นำกลุ่มคนเสื้อแดงก้าวหน้า63 (เครือข่ายเสื้อแดง 4 ภาค) นำสมาชิกเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย จึงสร้างสีสันได้ระดับหนึ่ง
ด้านกลุ่มประชาชนคนไทย ของ “ทนายนกเขา” นิติธร ล้ำเหลือ เคลื่อนมาด้วยรถบรรทุกเครื่องเสียงคันเดียว และประกาศจะถอยออกจากแยกนางเลิ้ง ก่อนม็อบจตุพรจะมาถึง สำหรับแผนการจัดม็อบของกลุ่มไทยไม่ทน “จตุพร” บอกว่า ภารกิจชุมนุมใหญ่ ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ภายใน 3 เดือนนี้
จุดไม่ติด
ว่ากันตามเกม จตุพร พรหมพันธุ์ จับมือ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 โหมโรง “ไล่ประยุทธ์” ตั้งแต่เดือน มี.ค.2564 โดยมีกลุ่มญาติวีรชนพฤษภาทมิฬ และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมจัดเสวนา "สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย"
วันที่ 4 เม.ย.2564 “ตู่ จตุพร” นัดชุมนุม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ที่ อนุสรณ์พฤษภาประชาธรรรม ถ.ราชดำเนิน ภายใต้ รหัส 4 4 4 ประยุทธ์ออกไป แต่ก็มีคนเสื้อแดงมาร่วมจำนวนหนึ่ง บังเอิญว่า มีโควิดระบาดรอบใหม่ จตุพรจึงยุติการชุมนุม และย้ายไปจัดเวทีปราศรัยออนไลน์ ภายในสตูดิโอพีซทีวี ตอนที่จัดปราศรัยออนไลน์ ก็มีวิทยากรมาร่วมมากหน้าหลายตา ทั้งนักการเมืองระดับชาติ และนักเคลื่อนไหวมวลชนทุกสี สร้างความคึกคักให้กับแกนนำไทยไม่ทนพอควร
พลันที่ลงสู่ท้องถนน วันที่ 24 มิ.ย.2564 จตุพรก็เจอสถานการณ์ “ม็อบจุดไม่ติด” อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด ความจริงที่เจ็บปวดของจตุพรคือ การพาดหัวข่าวว่า “ม็อบจุดไม่ติด” ต่างจากยุคสมัยที่เขาเป็นแกนนำ นปช.ยุคแดงทั้งแผ่นดิน เหนืออื่นใด วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน และไทกร พลสุวรรณ เลขาธิการแนวร่วมอีสานกู้ชาติ ก็ไม่ใช่แกนนำที่มีมวลชนเป็นของตัวเอง แม้กระทั่งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และองค์กรประชาธิปไตยทั้งหลาย ก็มีลักษณะมีแต่ “หัว” กับ “ชื่อ” ไม่มีมวลชนเช่นกัน
จตุพร รุกก้าวถอยก้าว
รอเป็นพระเอก
ช่วงสองสามวันมานี้ “เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จะถูกเชิญไปร่วมพูดคุยเกี่ยวกับ “ม็อบ 24 มิถุนา” ประหนึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการชุมนุม ขณะที่สหายร่วมรบอย่าง “ตู่ จตุพร” ยังหน้าดำคร่ำเครียดอยู่กับการลงท้องถนน ดังที่รู้กัน “เต้น” พร้อมกับธิดา ถาวรเศรษฐ์ และเหวง โตจิราการ ยังเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับม็อบราษฎร และม็อบสามนิ้ว
“อรุณรุ่งของการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่ ทำให้เพดานแห่งความกลัวแตก จนท้องฟ้าสว่างไสว”
ล่าสุด เต้นโพสต์เฟซบุ๊ควิเคราะห์สถานการณ์การเมือง หลังศึกแก้รัฐธรรมนูญ “ผลการลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระแรกที่เพิ่งผ่านไป สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายเรื่อง เช่น การจับมือข้ามขั้วฝ่ายค้านกับรัฐบาล ความไม่เป็นเอกภาพของฝ่ายค้าน และการเหยียบตาปลากันของพลังประชารัฐกับ ส.ว.ลากตั้ง”
เสี่ยเต้น สบายๆ รอเล่นเกมใหม่
“เต้น” ร่ายยาวตามประสานักวิเคราะห์ แล้วสรุปว่า “สำหรับประชาชนคงมีทางเดียว คือล็อคดาวน์อำนาจเผด็จการ ผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร.จากประชาชน” จับจังหวะของเต้น พอประเมินได้ว่า เขากำลังการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ที่กำลังรายชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับรื้อระบอบประยุทธ์
เชื่อว่า เต้นเตรียมจะเป็นพระเอกเสื้อแดง เข้าร่วมขบวนการรื้อระบอบประยุทธ์ เคียงข้างคู่สีส้ม “ธนาธร-ปิยบุตร”