'สุนิสา' ม้งลาว ราชินียิมนาสติก
ราชินียิมนาสติกคนใหม่ "สุนิสา ลี" ม้งลาว-อเมริกันคนแรก ผู้สร้างประวัติศาสตร์ คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดย ขุนน้ำหมึก
ต้องใช้คำว่า “มหัศจรรย์แห่งชาติพันธุ์” เมื่อสาวน้อยวัย 18 ปี เชื้อสายม้ง-อเมริกัน คนแรก คว้าเหรียญทอง ยิมนาสติก ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
วันที่ 29 ก.ค.2564 “สุนี” หรือ สุนิสา ลี ลงแข่งขันยิมนาสติก ประเภทบุคคล รวมอุปกรณ์ เธอทำคะแนนรวม 57.433 คะแนน รวมทั้ง 4 อุปกรณ์ ได้เหรียญทองไปครอง
เหรียญทองประวัติศาสตร์ของม้ง-อเมริัน
ก่อนหน้านี้ สุนิสา ลี ได้คว้าเหรียญเงินกับให้กับทีมชาติสหรัฐอเมริกา ในการแข่งขันยิมนาสติกทีมหญิง รวมอุปกรณ์ และเธอยังมีโอกาสจะคว้าเหรียญรางวัลอีกหลายประเภท
วันนี้ สื่อในสหรัฐฯ ได้นำเสนอเรื่องราวของสาวน้อยวัย 18 ปี อย่างมากมาย รวมถึงสื่อท้องถิ่นที่รัฐมินนิโซต้า ต่างร่วมแสดงความยินดีกับนักกีฬายิมนาสติกชาวเมืองเซ็นต์พอล และชุมชนชาวม้ง ก็ได้ออกมาเฉลิมฉลองกันครึกครื้น
พูดถึงทีมชาติสหรัฐ นับแต่ โมน ไบลส์ ราชินียิมนาสติก ขอถอนตัวเนื่องจากปัญหาด้านสภาพจิตใจ ทำให้ สุนิสา ลี ต้องก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของสหรัฐ และเธอก็ทำได้สมใจกองเชียร์เพื่อนร่วมชาติ
++
ลูกหลานวังเปา
++
“สุนี” หรือ สุนิสา ลี (Sunisa Lee) เกิดเมื่อ 9 มี.ค.2546 ในเมืองเซนต์พอล รัฐมินนิโซตา เป็นลูกสาวของแย็ป ทาว ผู้ช่วยด้านการเเพทย์ และจอห์นหรือฮัว ลี ช่างวิศวกรรมที่บริษัทแห่งหนึ่ง
ฮัว ลี และแย็ปทาว พ่อแม่ของสุนิสา
เมืองเซนต์พอล มีชุมชนชาวม้งขนาดใหญ่ ประชากรประมาณ 8 หมื่นคน ซึ่งพวกเขาอพยพมาบ้านเกิดเมืองนอนในเมืองลาว เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว
ช่วงสงครามลับในลาว (ปี 2500-2517) ซีไอเอได้เข้าไปสนับสนุน “วังเปา” ผู้นำชาวม้ง ในแขวงเชียงขวาง ให้จัดตั้ง “กองทัพม้ง” ต่อสู้กับฝ่ายแนวลาวอิสระ ที่มีคอมมิวนิสต์เวียดนามหนุนหลัง โดยตั้งกองบัญชาการที่เมืองล่องแจ้ง
ปี 2517 เมื่อสหรัฐถอนกำลังทหารออกจากเวียดนามใต้ ส่งผลกระทบถึงกองทัพม้งวังเปา ที่ถูกให้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว สุดท้าย “นายพลวังเปา” ก็จำต้องอพยพทหารม้ง และพลเรือน หลายหมื่นคน ออกจากเมืองล่องแจ้ง เดินทางอาศัยอยู่ในประเทศไทย
สุนิสา ในชุดชาวม้ง และมารดาของเธอ
สมัยโน้น ฮัว ลี กับแย็ป ทาว พ่อแม่ของ “สุนี” ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ ไม่รู้เรื่องสงคราม พ่อแม่ชาวม้งกระเตงลูกๆ ข้ามป่าข้ามเขามาอยู่ศูนย์อพยพบ้านวินัย อ.ปากชม จ.เลย ต่อมา รัฐบาลสหรัฐ จึงเปิดรับชาวม้งอพยพ และทยอยบินลัดฟ้าสู่สหรัฐ ในฐานะผู้ลี้ภัยประเทศที่สาม ครอบครัวของฮัว ลี ไปสหรัฐปี 2522 ครอบครัวของแย็ป ทาว ก็เดินทางไปปี 2530
ชาวม้งผู้หลบภัยสงคราม ได้มาตั้งรกรากอยู่ในหลายรัฐที่สหรัฐ และส่วนใหญ่จะอยู่ในรัฐมินนิโซต้า ชาวม้งลาวเหล่านี้ได้กลายเป็นพลเมืองอเมริกัน
จริงๆแล้ว จอห์นหรือฮัว ลี มีสถานะเป็นพ่อบุญธรรมของสุนี โดยแย็ป ทาว ได้มาแต่งงานใหม่กับฮัว ลี ในปี 2548 ซึ่งตอนนั้น สุนีเพิ่งมีอายุ 2 ปี
++
สาวม้งผู้พิชิต
++
จุดเริ่มต้นการเล่นยิมนาสติกของสุนีนั้น มาจากฮัว ลี และแย็ป ทาว ต้องการให้ลูกๆ ทั้ง 5 คน มีการออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพเข้มแข็ง จึงพาลูกไปสมัครเป็นสมาชิกกีฬายิมนาสติกในท้องถิ่น และสุนิสา หรือสุนี ดูจะมีพรสวรรค์ในการเล่นยิมนาสติกมากกว่าลูกคนอื่นๆ
เส้นทางสู่โอลิมปิกของสุนี เต็มไปด้วยความยุ่งยาก ในปี 2562 พ่อบุญธรรมของเธอ ประสบอุบัติเหตุตกราวบันได เป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงหน้าอกลงไป ช่วงก่อนที่เธอจะไปแข่งขันกีฬาแห่งชาติสหรัฐ เธอสะเทือนใจมากที่เห็นพ่อต้องนั่งรถเข็น
ฮัว ลี ขอร้องให้ลูกสาวไปแข่งตามแผนการ หากไม่ไปจะหมดสิทธิ์ไปโอลิมปิก เธอทำได้ตามที่พ่อแม่หวัง เธอได้ที่ 2 รองจากโมน ไบลส์ ราชินียิมนาสติก
ปีที่แล้ว โควิดระบาดทั่วสหรัฐ ลุงและป้าของสุนีเสียชีวิตเพราะโควิด โรงยิมก็ถูกสั่งปิด ทำให้เธอไม่ได้ฝึกซ้อม ภายหลังโรงยิมเปิด เธอจึงได้เร่งฝึกซ้อม เพื่อไปแข่งขันโตเกียวเกมส์
“ในนามที่เป็นพ่อแม่ของเธอ พวกเรารู้สึกดีใจมาก เธอเป็นคนม้ง-อเมริกัน คนแรกที่ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ฉะนั้น การที่เธอได้เข้าไปแข่งขัน ก็ทำให้พวกเราดีใจมากที่สุดแล้ว..” ฮัว ลี บอกกับผู้สื่อข่าว
วันนี้ “สุนิสา” หรือ “สุนี” ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการกีฬาสหรัฐ สำหรับครอบครัว ประชาคมลาวและม้งในสหรัฐ ย่อมภาคภูมิใจกับความสำเร็จของเธอ นี่คือมหัศจรรย์แห่งชาติพันธุ์ม้ง ผู้เดินทางไกลมาจากเมืองล่องแจ้ง เมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว