'คาร์ม็อบ' จุดติด สิงหาชี้ชะตา 'ตู่'
คาร์ม็อบ 1 สิงหา "บก.ลายจุด" ขยายแนวร่วมทั่วประเทศ รุกไล่ประยุทธ์ จับตา "ม็อบแว้น" ป่วนกรุง คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดย ขุนน้ำหมึก
คาร์ม็อบภายใต้ชื่อกิจกรรม “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม” (วิภาวดี-รังสิต) ในวันอาทิตย์ที่ 1 ส.ค.2564 มีรถทุกชนิดเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 1 พันคัน ถือว่า “คาร์ม็อบจุดติดแล้ว”
เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีคาร์ม็อบ 3 ขบวนคือ คาร์ม็อบของ บก.ลายจุด ,คาร์ม็อบราษฎร นำโดย ไผ่-เพนกวิน และคาร์ม็อบคนเสื้อแดง ของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำผู้จัดคาร์ม็อบ สื่อสารกับกลุ่มต่างๆ ผ่านคลับเฮ้าส์ โดยวางกติการ่วมกัน ไม่มีการจอดรถเพื่อหยุดทำกิจกรรมภาคพื้นในที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ แต่จะใช้วิธีการขับรถวนไปเรื่อยๆ
บก.ลายจุด นักกิจกรรมแนวสันติวิธี เน้นย้ำ “ไม่เอาปะทะ ไม่เอาวุ่นวาย” และคาร์ม็อบไม่มีเป้าหมายไปบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายในค่าย ร.1 รอ.
สิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของ บก.ลายจุด ก็คือ กลุ่มจักรยานยนต์ หรือกลุ่ม 2 ล้อ เพื่อประชาธิปไตย ที่ได้ร่วมทำกิจกรรมคาร์ม็อบกับกลุ่ม “ม่อน อาชีวะ” ไปเมื่อวันเสาร์(31 ก.ค.64) ด้วยเหตุนี้ จึงมีเหตุการณ์ปะทะ ระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมบริเวณ ด้านหน้า รพ.ทหารผ่านศึก
นี่เป็นสิ่งที่ บก.ลายจุด คงไม่ปรารถนาที่จะให้เกิดขึ้น เมื่อมีคนมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก หลายกลุ่มก้อน
++
ออกแบบคาร์ม็อบ
++
จับสัญญาณการแสดงออกผ่านโซเชียลของคนไทยหลากหลายกลุ่ม ที่มีต่อรัฐบาลประยุทธ์ในมหาวิกฤตโควิด นักวิเคราะห์การเมือง อาจสรุปว่า สถานการณ์ “สุกงอม” แล้ว สำหรับการเคลื่อนไหวบนท้องถนน
วันเสาร์ที่ 10 ก.ค.2564 บก.ลายจุด ได้อุ่นเครื่องจัด “คาร์ม็อบ” กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “กดแตรไล่ประยุทธ์” ตามหลักการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ใช้อารมณ์ขัน ความสนุก ลดความตึงเครียด
ม็อบแว้น จุดอ่อนคาร์ม็อบ
เนื่องจากสถานการณ์โควิดระบาด บก.ลายจุด จึงเลือกเคลื่อน “รถ” แทน “คน” ปรากฏว่าคาร์ม็อบได้ปลุกให้คนชั้นกลางกล้าเข้าร่วมขบวน “สมบัติทัวร์” ได้
คาร์ม็อบอาจเปรียบเทียบกับการเคลื่อน “คน” นับหมื่นนับแสนไม่ได้ แต่กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แบบนี้ มี “รถ”เข้าร่วมนับพันคัน ก็สร้างพลังและสร้างความตื่นตัวได้
กิจกรรมคาร์ม็อบ ได้ขยายวงไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว และมีเป้าหมายลักษณะรวมศูนย์คือ ขับไล่รัฐบาลประยุทธ์
++
สายพิราบ
++
กว่าสิบปีมานี้ ชื่อ “หนูหริ่ง” หรือ “บก.ลายจุด” จะถูกบันทึกไว้ในทำเนียบนักเคลื่อนไหวมวลชน ที่ชอบออกแบบการประท้วงเผด็จการ ตามแนวทางการต่อสู้สันติวิธี
บก.ลายจุด ต่อต้านเผด็จการทหาร มาแต่สมัยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 เขาได้นำพามิตรสหาย จัดกิจกรรมต้านเผด็จการเป็นกลุ่มแรกๆ เมื่อขบวนการประชาชน ขยับเป็น “ม็อบ” ลงสู่ท้องถนน บก.ลายจุด ก็ถอยออกมา
ปี 2553 หลายคนคงจำกิจกรรม “วันอาทิตย์สีแดง” ได้ดี หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ บก.ลายจุด ในบทบาทแกนนอน ได้เปิดปฏิบัติการ “นัดกินแมค” ที่สี่แยกราชประสงค์ พร้อมกับยกป้าย “ที่นี่มีคนตาย”
กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครั้งนั้น ได้ปลุกให้คนเสื้อแดงกล้าแสดงตัวตนมากขึ้น เพราะหลังสลายการชุมนุม คนเสื้อแดงตกอยู่ในสภาวะระส่ำระสาย แกนนำถูกจับ มีคนเจ็บคนตาย
บก.ลายจุดแกนนำคาร์ม็อบ
เมื่อกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “ม็อบสามนิ้ว” ออกมาจัดกิจกรรม และเคลื่อนขบวนลงถนน ช่วงเวลานั้น ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “ยุทธวิธี” และการแสวงหา “แนวร่วม”
โดยเฉพาะการเคลื่อนม็อบรีเด็ม (ม็อบไม่มีแกนนำ) ที่มีการปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชนบ่อยครั้ง จึงมีเสียงสะท้อนจากนักกิจกรรมรุ่นใหญ่ว่า ควรหลีกเลี่ยงการทำม็อบไร้แกนนำ
บก.ลายจุด เชื่อว่า พื้นที่การต่อสู้ที่แท้จริงไม่ใช่บนถนน สนามต่อสู้ที่แท้จริงคือการรับรู้และวิธีคิด ความเข้าใจและระบบคุณค่าทางการเมือง ส่วนปฏิบัติการการชุมนุมเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่จะเรียกร้องทำให้เกิดความสนใจเพื่อสื่อสารกับสังคม