“นายกฯ” ฝ่า3ด่านหิน ก่อนยุบสภา เลือกตั้งใหม่ปีหน้า
3 ด่านหินที่เรือแป๊ะจะต้องฝ่าข้ามไป ก่อน “นายกฯ” ต้องตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการยุบสภาเพื่อไปเลือกตั้งใหม่ ต้นปี2565
การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2565 ผ่านพ้นไปเรียบร้อย เท่ากับว่ารัฐบาลมีงบประมาณไว้ใช้แล้ว แต่มันเป็นแค่ด่านแรก เพราะยังเหลืออีก2 ด่านหินที่จะต้องฝ่าไป
ว่ากันว่าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี2565 ไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้หนักใจ เพราะได้พรรคเพื่อไทย มาช่วยสนับสนุนงบกลาง1.6 หมื่นล้าน จะมีเพียงพรรคก้าวไกลที่จ้องโจมตีงบสถาบันเท่านั้น
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันไม่มีพรรคไหนงอแงเนื่องจาก ทุกกระทรวงฯล้วนแฮปปี้กับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร พอมีเม็ดเงินเข้ามา ตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไป แต่ละพรรคก็จะรีบเบิกจ่ายงบประมาณไปเพื่อสร้างผลงานให้กับรัฐมนตรีของพรรคตนเอง จึงเรียกว่าทุกพรรควินวิน
นั่นคือด่านแรก ส่วนด่านที่สอง นี่ถือเป็นด่านหินที่สุดเพราะฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว มีนายกฯและรัฐมนตรีอีก5 คนดังที่ทราบกันดี
ครั้งนี้พรรคฝ่ายค้านไม่ได้ใช้ยุทธศาสตร์ในการเล่นการเมือง เพราะจับรัฐมนตรีมาซักฟอกครบทุกพรรค ทั้งพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ จะทำให้คะแนนเสียงไว้วางใจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคภูมิใจไทย มีหลายเรื่องที่เป็นปมร้อนคาใจกันอยู่ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่การบริหารจัดการวัคซีนเป็นหลัก
เรียกว่าฝ่ายค้านจะทำหน้าที่คอยยุให้แยก ถ่างแผลที่ปริร้าวให้ห่างออกมากกว่าเดิม ด้วยประเด็น "เหลื่อมล้ำ" และการใช้วัคซีนหาเสียงระหว่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ
จากปัญหาการจัดซื้อ จัดสรรวัคซีน ที่เอาเปรียบกันเองก็มาถึงปัญหาการจัดการ อุปกรณ์ตรวจโควิดหรือที่เรียกว่าชุดตรวจATK ซึ่งก็ขัดแย้งกันชัดเจนระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน
แหล่งข่าวในพรรคร่วมรัฐบาลบอกว่าการอภิปรายไม่น่าห่วง นายกฯน่าจะตอบได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การโหวต เพราะตามรายชื่อจะต้องโหวตนายกฯก่อน แล้วตามด้วย นายอนุทิน ตรงนี้แหละจะมีการเปรียบเทียบว่า ใครจะได้คะแนนเท่าไหร่
อย่าลืมว่าครั้งที่แล้ว มีส.ส.พลังประชารัฐ ไม่โหวตให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ทั้งเขากระโดงและผับทองหล่อ
ครั้งนี้ฝ่ายค้านจะย้ำแผลเขากระโดงอีก มันยิ่งชัดเมื่อการรถไฟฯส่งหนังสือให้กรมที่ดินเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินมิชอบบนที่เขากระโดงกว่า5พันไร่ ซึ่งมีบ้านพักของรัฐมนตรีอยู่ด้วย
ฝ่ายค้านจะจี้ไปที่ต่อมจริยธรรมของรัฐมนตรี และความรับผิดชอบร่วมกันของส.ส. จะเป็นปมที่ทำให้ส.ส.ของพลังประชารัฐ ตัดสินใจแหกมติอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะผ่านไป แต่จะเต็มไปด้วยรอยร้าวและแผลขนาดใหญ่ของพลังประชารัฐและภูมิใจไทย ขณะเดียวกัน ลูกพรรคพลังประชารัฐ ก็จะก่อหวอดให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี
คนในพลังประชารัฐ มีความต้องการให้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคขึ้นดำรงตำแหน่งรมว.มหาดไทย เพื่อคุมการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ก็จะทำให้พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่พอใจ แต่เรื่องนี้มีปัญหามาตั้งแต่ พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ยอมตั้ง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯที่ พล.อ.ประวิตรและร.อ.ธรรมนัสขอมา ขึ้นเป็นปลัดมหาดไทย
ประกอบกับ ตำแหน่งรมว.สาธารณสุข ที่นายอนุทิน นั่งอยู่นั้นมักจะมีปัญหาตลอด กระทั่งล่าสุดไปทะเลาะกับหมอชนชทเรื่อง ชุดตรวจATK ที่อาจมีการ "ล็อกสเปก"เลือกชุดตรวจจากจีน เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องใช้ความกล้าหาญ ยึดโควต้าคืนแล้วปรับใหญ่ ซึ่งจะมีขึ้นประมาณเดือนกันยายน
ส่วนด่านที่สามก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นหลังการอภิปรายฯ ก็ประมาณกลางเดือนกันยายน เวลาจะสอดคล้องต้องกันพอดี โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นพร้อมกับการปรับครม.
ประกอบกับสถานการณ์ม็อบที่กดดันและชุมนุมขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ตลอดเวลา ก็มีการวิเคราะห์กันว่า หากพรรคร่วมแตกคอ พรรคภุมิใจไทยอาจจะย้ายขั้ว ทำให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพื่อกดดันให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกแล้ว นายอนุทิน จะได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกฯ แต่คงยาก เพราะหากเป็นเช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้วิธียุบสภา หลังจากเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน
นี่คือ3 ด่านหินที่เรือแป๊ะจะต้องฝ่าข้ามไป ก่อนจะตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการยุบสภาเพื่อไปเลือกตั้งใหม่ต้นปี2565