คอลัมนิสต์

จับตาศึก ส.ก. คู่ขนานเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” พรรคไหนพร้อม

จับตาศึก ส.ก. คู่ขนานเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” พรรคไหนพร้อม

29 ส.ค. 2564

อุ่นเครื่องเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” ตรวจแนวรบศึก ส.ก. สำรวจความพร้อม 4 พรรคใหญ่ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะมีขึ้นปลายปีนี้ หรือกลางปีหน้า ยังไม่ชัดเจน แต่ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อย่างน้อย 2 คน ที่ออกเดินหาเสียงล่วงหน้าไปแล้วคือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา

 

 

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ก.นั้น คนกรุงเทพฯไม่ได้สัมผัสกับการเลือกตั้งท้องถิ่นนานถึง 11 ปี เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ออกเป็น 50 เขตเลือกตั้ง โดยมีสมาชิกเขตเลือกตั้งละหนึ่งคน ก็สร้างความคึกคักขึ้นมาทันที

 

จับตาศึก ส.ก. คู่ขนานเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” พรรคไหนพร้อม

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทย ลงช่วยเหลือชาวบ้าน

 

 

เนื่องจากช่วงโควิดระบาด บรรดาว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ทั้งพรรคเก่าพรรคใหม่ ต่างเรียงหน้าเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างแข็งขัน ชาวบ้านเริ่มคุ้นหน้านักการเมืองท้องถิ่นบ้างแล้ว

 

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ส.ค.2553 เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งสุดท้าย ก่อนจะเว้นช่วงยาวมาจนถึงปีนี้

ผลการเลือกตั้ง ส.ก.50 เขต มีจำนวนทั้งสิ้น 61 คน แยกเป็นผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ 45 คน ,พรรคเพื่อไทย 15 คน และผู้สมัครอิสระ 1 คน

 

 

ปัจจุบัน อดีต ส.ก.หลายคน ได้เป็น ส.ส.กทม. อาทิเช่น กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา, กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ, ศิริพงษ์ รัสมี และประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ

 

++

ฐานเปลี่ยนคนเปลี่ยน

++

เวลาผ่านไป 10 กว่าปี พฤติกรรมการเลือกตั้งของชาวกรุงเทพมหานคร ก็เปลี่ยนไปเยอะ หากย้อนไปดูคะแนน “ป๊อปปูล่าโหวต”

 

 

เมื่อการเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค.2562 ผลปรากฏว่า อันดับ 1 พรรคอนาคตใหม่ ได้ 804,272 คะแนน ,อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ ได้ 791,893 คะแนน ,อันดับ 3พรรคเพื่อไทย ได้ 604,699 คะแนน และอันดับ 4 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 474,820 คะแนน

 

 

กรณีพรรคเพื่อไทยนั้น ส่งผู้สมัคร ส.ส.แค่ 22 เขต และเว้นให้พรรคไทยรักชาติ 8 เขต ส่วนพรรคอื่นส่งครบ 30 เขต

 

 

จากข้อมูลคะแนนข้างต้น พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ ส.ส.เขต แถมคะแนนบางส่วนยังไหลไปที่พรรคพลังประชารัฐ ส่วนคะแนนส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ก็ไปโผล่ที่พรรคอนาคตใหม่(พรรคก้าวไกล)

 

 

สำหรับว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้เปิดตัวมาแล้ว ต่างก็ประกาศว่าเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค อย่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา

 

 

ส่วนพรรคการเมืองที่เตรียมส่งผู้สมัคร ส.ก. ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคก้าวไกล, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคกล้า รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ กลับยังไม่เปิดตัวว่าที่ผู้ว่าฯกทม.

ดูเหมือนแวดวงการเมืองก็ทราบกันดีว่า “ชัชชาติ” และ “จักรทิพย์” มีพรรคการเมืองไหนให้การสนับสนุนอยู่ลับๆ

 

++

วิกฤตคือโอกาส

++

 

การเลือกตั้ง ส.ก.ครั้งใหม่นี้ กกต. กำหนดให้ ส.ก.ได้เขตละคน เท่ากับจำนวน ส.ก.ลดจาก 61 คน เหลือ 50 คนเท่านั้น

 

 

พรรคเพื่อไทย มีความพร้อมเรื่องการวางตัวว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ครบทั้ง 50 เขตไปแล้ว ร้อยละ 90 เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ และหลายคนย้ายมาจากพรรคก้าวไกล

 

 

อดีต ส.ก.พรรคเพื่อไทย ปี 2553 ส่วนใหญ่ย้ายไปสังกัดพรรคไทยสร้างไทย ยกเว้น ส.ก.บางคน ที่ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

 

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องการจัดวางตัวผู้สมัคร ส.ก. ทั้ง 50 เขต ก็เตรียมไว้แล้ว 90% เท่าที่ตรวจสอบตามเขตต่างๆ กว่าร้อยละ 70 ยังเป็นอดีต ส.ก.ปี 2553

 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมกับ ส.ส.กทม. ได้เปิดตัว “กลุ่มเปลือกส้ม” จิตอาสาที่ทำงานช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิด ซึ่งพรรคก้าวไกลยังไม่เปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็จัดทีมผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคลงพื้นที่อย่างคึกคัก พร้อมทีมงานเปลือกส้ม

 

 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เปิดตัวพรรคไทยสร้างไทย ด้วยจุดแข็งคือฐานเสียงในเมืองหลวง ฉะนั้น อดีต ส.ก.หลายคน จึงย้ายจากเพื่อไทยมาร่วมงานด้วย

 

 

พูดถึงประสบการณ์การต่อสู้ในสนามเมืองกรุง ก็มี “คุณหญิงสุดารัตน์” และพรรคประชาธิปัตย์ที่ขับเคี่ยวกันมา ตั้งแต่สมัยพรรคพลังธรรม จนมาถึงพรรคเพื่อไทย

 

 

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ก็ลงพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมทีมงานผู้อาสาที่จะลงสมัคร ส.ก.ในหลายเขต ซึ่งพรรคกล้า ก็ตั้งเป้าชิงฐานเสียงในเมืองหลวง ก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวว่า พรรคจะส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.เหมือนกัน

 

 

จับตาศึก ส.ก. คู่ขนานเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” พรรคไหนพร้อม

อดีต ส.ก.รุ่นใหญ่ ในนามไทยสร้างไทย แจกอาหารชาวลาดพร้าว

 

เลือกตั้ง ส.ก. และเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2564 หรือไม่ ยังไม่มีใครยืนยัน แต่พรรคต่างๆ ก็ลุยหาเสียงล่วงหน้ากันแล้ว