คอลัมนิสต์

โตแล้วแตก “พลังประชารัฐ” บทเรียนพรรคเฉพาะกิจ

โตแล้วแตก “พลังประชารัฐ” บทเรียนพรรคเฉพาะกิจ

30 ส.ค. 2564

อลหม่านบ้านป่ารอยต่อ “พลังประชารัฐ” ซุ้มขาใหญ่กดดันปรับ ครม. ต่อรองโหวตซักฟอก คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

ก่อนศึกซักฟอกทุกครั้ง จะมีข่าวความปั่นป่วนภายในพรรคแกนนำรัฐบาล เป็นเรื่องปกติ เพราะคำว่า “นักเลือกตั้ง” ไม่ใช่เทพ ไม่ใช่มาร แต่เป็นคนเดินดิน ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง ย่อมมีการชิงไหวชิงพริบ ชิงเล่นเกมเก้าอี้ดนตรี

 

 

ยิ่งเป็นพรรคการเมือง “เฉพาะกิจ” ก็มักมีชะตากรรมเช่นนี้ ขนาดพรรคสหประชาประชาไทย จัดตั้งโดยกลุ่มทหารที่ทรงอำนาจที่สุดในยุคสงครามเย็น ก็ยังเจอฤทธิ์ “นักเลือกตั้ง” กระทั่ง จอมพลถนอม กิตติขจร ทนไม่ไหวต้องยึดอำนาจตัวเอง

 

 

พรรคพลังประชารัฐ ที่ก่อกำเนิดมาจากความคิดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หนึ่งใน 3 ป. ที่ต้องการผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านการเป็นรัฐบาลมา 2 ปี รัฐนาวาลำนี้ เจอพายุโควิดซัดโครม จนเกือบเรือจม

 

 

จับอาการป่วนในพรรคพลังประชารัฐ ในนาทีก่อนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเริ่มต้นขึ้น มีคู่ความขัดแย้งที่ชัดเจนที่สุดคือ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กับ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน

 

 

นัยว่า ผลคะแนนโหวตศึกซักฟอก ทั้งกรณี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส และ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จะนำมาซึ่งแรงกดดันให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี

กลุ่มที่มีพลังมากที่สุดในพรรคพลังประชารัฐ ต้องการให้ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ,สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี

 

 

โตแล้วแตก “พลังประชารัฐ” บทเรียนพรรคเฉพาะกิจ พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ

 

 

เรื่องข้างต้นนี้ ก็ยังเป็นแค่ “ข่าวปล่อย” ซึ่งจะมีการปรับ ครม.หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี และปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ คงเป็นเรื่องของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคที่จะเคลียร์ใจกับหัวหน้าซุ้มต่างๆ

 

++

พลังป้อม

++

 

 

จุดเริ่มต้นของพรรคพลังประชารัฐ นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พร้อมด้วย 4 กุมารคืออุตตม สาวนายน,สุวิทย์ เมษินทรีย์,สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล แต่ผู้อยู่เบื้องหลังม่านตัวจริงคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

 

การระดม “อดีต ส.ส.” เข้าพรรค ไม่ได้มีแค่ “สามมิตร” หากแต่มีเครือข่าย “บ้านป่ารอยต่อ” ได้ชักชวนนักเลือกตั้ง “บ้านใหญ่” เข้าสู่พรรคมากมาย เปรียบเทียบสมัยที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ได้กวาดต้อน “อดีต ส.ส.” เข้าค่าย ก็ยังระดมผู้คนได้ไม่เท่า “บิ๊กป้อม”

ช่วงเลือกตั้งทั่วไป พลังประชารัฐร่วมใจศึกเลือกตั้ง พอหลังมีการจัดตั้งรัฐบาล ก็เริ่มเห็นร่องรอยของความแตกต่าง ความแปลกแยกระหว่าง “นักเลือกตั้ง” กับ “เทคโนแครต”

 

 

สุดท้าย “สมคิด” กับ 4 ยอดกุมาร ก็ต้องออกจากพรรคไป พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค โดย “บิ๊กป้อม” ลุกออกจากหลังม่าน มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อกุมสภาพ และสร้างเอกภาพภายในพรรค

 

 

พลังประชารัฐ ยุคบิ๊กป้อม จึงเป็นรวมมิตรต้มยำสูตรสีเขียว ไม่ต่างจากพรรคสามัคคีธรรมและพรรคความหวังใหม่

 

 

 

ที่น่าสนใจคือ การที่บิ๊กป้อม ดัน “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค เพื่อหวังผลในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

 

++

ซุ้มใหญ่ซุ้มเล็ก

++

 

ดังที่ทราบกัน พลังประชารัฐเป็นแหล่งรวมนักเลือกตั้ง “บ้านใหญ่” เมื่อจำแนก “มุ้ง” หรือ “ซุ้ม” ก็อาจจะมีแค่ไม่กี่ซุ้ม แต่หากนับจริงๆ อาจจะมากถึง 10 ซุ้ม

 

 

วันนี้ “ซุ้มผู้กองมัส” ที่มี “สันติ พร้อมพัฒน์” และ “วิรัช รัตนเศรษฐ” เป็นแนวร่วม บิ๊กป้อมให้ความไว้วางใจ จึงดูเป็นซุ้มที่ใหญ่ที่สุด และมีพลังมากที่สุด

 

 

บังเอิญว่า พลังประชารัฐ มี ส.ส. “นกแล” (ส.ส.สมัยแรก) จำนวนหนึ่งในภาคกลาง และภาคใต้ เมื่อ “ผู้กองมนัส” เข้ามาดูแลชีวิตความเป็นอยู่ พวกเขาก็ไหลมารวมในซุ้มผู้กอง

 

 

รองลงก็คือ “ซุ้มสามมิตร” ของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” มีประสบการณ์โชกโชน และเคยนำไพร่พลย้ายมาหลายพรรค จึงนิ่งเฝ้าดูสถานการณ์ ไม่ผลีผลามขยับให้เสียหายแก่ซุ้มตัวเอง

 

 

นอกจากนั้น ยังมีซุ้มบ้านใหญ่อีกเพียบ อาทิซุ้มปากน้ำ,ซุ้มชลบุรี 1,ซุ้มชลบุรี 2,ซุ้มแปดริ้ว, ซุ้มสระแก้ว,ซุ้มสระบุรี,ซุ้มนนทบุรี,ซุ้มสิงห์บุรี ฯลฯ

 

 

นักเลือกตั้งข้างต้นนี้ มีฐานเสียงของตัวเอง เลือกเมื่อไหร่ก็ชนะ จึงพร้อมจะเปลี่ยนป้ายยี่ห้อได้ตลอดเวลา ดังนั้น พวกเขาจึงเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของซุ้มใหญ่ในพรรคอยู่เงียบๆ

 

 

ในวันที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ตกเป้าที่ฝ่ายค้านต้องการใช้เวทีซักฟอกเขย่าให้ร่วงคาสภาฯ และมวลชนบนท้องถนนรวมพลังขับไล่ แต่ภายในพรรคพลังประชารัฐ กลับขาดเอกภาพ มีบางกลุ่มอยากได้อำนาจ และบางกลุ่มเริ่มเอาตัวรอด

 

 

โตแล้วแตก “พลังประชารัฐ” บทเรียนพรรคเฉพาะกิจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

 

เรือเหล็กของ “3 ป.” ในสถานการณ์ปัจจุบัน มิต่างอะไรกับเรือใหญ่เผชิญพายุถล่มทุกทิศทุกทาง จนเรือชนหินโสโครก ใกล้อับปาง บรรดา “ลูกเรือ” จึงดิ้นหนีเอาตัวรอด