แผน 4 แนวรบ “ทักษิณ” เดินเกมแรง หยุดประยุทธ์
ซักฟอกหยุดประยุทธ์ “ทักษิณ” เปิดเกมรุกทุกแนวรบ บ่อนเซาะรอยร้าวพลังประชารัฐ ใกล้เป็นความจริง คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
ท่ามกลางอุณหภูมิการเมืองอันร้อนแรง ทั้งในสภา และนอกสภา สมชาย แสวงการ ส.ว.คนดัง ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว มีข้อความว่า “จับตาวิกฤติ 4 กันยา ชี้ชะตาบ้านเมือง ถ้าขบวนการรวมหัวลงมติคว่ำลุงสำเร็จ วงจรอุบาทว์จะกลับมา”
บังเอิญวันเดียวกันที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ตอนนี้มีข่าวอยู่ 2-3 เรื่อง คือการโหวตล้มนายกฯ ถ้าเป็นเรื่องจริง ผมถือว่าไม่เป็นสุภาพบุรุษ”
แผนลับ “ล้มประยุทธ์” มีจริงหรือไม่? คงต้องไปถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
อย่างไรก็ตาม วันที่ 4 ก.ย.2564 หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจสิ้นสุดลง ก็มีการลงมติทันที ซึ่งจะเป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศเฝ้าจับตามอง
ทักษิณ เดินเกมทุกรูปแบบ
ส่องรัฐธรรมนูญ 2560 บทบัญญัติว่าด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา 151 ระบุว่า “มติไม่ไว้วางใจ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”
มาตรา 170 บทบัญญัติว่าด้วยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 (6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 171”
หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้กรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 11 คนสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง ส่งผลให้จำนวน ส.ส.ทั้งสภาผู้แทนราษฎรจากที่กฎหมายกำหนดให้มี 500 คน เหลือเพียง 487 ราย
ประยุทธ์ บอกมีคนจะโหวตล้มนายกฯ ในสภา
เมื่อหักจำนวน ส.ส. 5 คน ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และอีก 2 ส.ส.หญิงที่ศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ในสภาฯ จึงเหลืออยู่ 480 คน
ถ้าเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งหมด เท่ากับ 241 คน แต่ปัจจุบัน พรรคฝ่ายค้านมี ส.ส.212 คน และพรรครัฐบาลมี ส.ส. 268 คน
หากจะต้องการ “หยุดประยุทธ์” ผ่านกลไกสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 พรรคร่วมฝ่ายค้านต้องหาเสียงผู้สนับสนุนมาอีก 30-40 คน
++
ศึกนอกศึกใน
++
เนื่องจากองค์ประกอบของพรรคพลังประชารัฐ มีส่วนผสมระหว่างอดีตนายทหารใหญ่ 3 คนที่เรียกกันว่า “3 ป.” กับนักเลือกตั้ง จึงมีความอิหลักอิเหลื่อมาตั้งแต่ตอนจัดตั้งรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย ดูมีความแปลกแยกจาก ส.ส.ที่มาจากหลายพรรคการเมือง ยามที่รัฐบาลมีเสถียรภาพ ก็ไม่มีอะไร แต่ชั่วโมงที่มีเสียงขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ กระหึ่มทั้งแผ่นดิน นักเลือกตั้งก็เริ่มคิดถึงอนาคต
หากมีการยุบสภา ต้องหาเสียงใหม่ พลังประชารัฐจะชู “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้หรือ?
แรงกระเพื่อมในพลังประชารัฐ เกิดจากนักเลือกตั้งกลุ่มใหญ่ ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล เพื่อเรียกศรัทธาประชาชนคืนมา ก่อนยุบสภาเลือกตั้งใหม่
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ รู้เรื่องข่าวเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จึงให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองทำอะไรผิด จะไม่มีการปรับ ครม. และไม่ยุบสภา
++
โทนี่เดินแรง
++
อย่างที่รู้กัน พรรคเพื่อไทย มีความมั่นอกมั่นใจมากในศึกซักฟอกรัฐบาลหนนี้ ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแน่นอน
ดังนั้น ขบวนการไล่ประยุทธ์ จึงแบ่งออกเป็น 4 แนวรบ ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย เปิดเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ คู่ขนานให้ประชาชนโหวตลงมติไล่ประยุทธ์ทางออนไลน์
กลุ่มแคร์ จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ไล่ประยุทธ์ และขอประชามติล้มระบอบประยุทธ์ทางออนไลน์
กลุ่มคนเสื้อแดง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จัดชุมนุมใหญ่ 2 ก.ย. และต่อเนื่องไปจนถึงวันลงมติ 4 ก.ย.2564
ปิดท้ายด้วย “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร ขออภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านเวทีคลับเฮาส์ โดยแนะนำวิธีเอาประยุทธ์ออกจากตำแหน่ง ขอให้ประชาชนในทุกเขตเลือกตั้ง ไปบ้าน ส.ส. แล้วบอกว่า “...อย่ายกมือไว้วางใจประยุทธ์นะ ถ้ายกมือไว้วางใจ คราวหน้าฉันไม่เลือกแน่นอน...”
ตลอด 2 เดือนมานี้ “ทักษิณ” เปิดตัวเล่นเกมไล่ประยุทธ์ เหมือนช่วงปี 2553 ที่กระโจนเข้าสมรภูมิแดงทั้งแผ่นดิน ทักษิณอาจได้รับรู้ถึง “รอยร้าวลึก” ภายในพรรคพลังประชารัฐ จึงออกแรงเขย่าอีกรอบ