คอลัมนิสต์

หักเหลี่ยมเฉือนคม “พลังประชารัฐ” วัดขุมกำลังธรรมนัส-สันติบวกสุชาติ

หักเหลี่ยมเฉือนคม “พลังประชารัฐ” วัดขุมกำลังธรรมนัส-สันติบวกสุชาติ

02 ก.ย. 2564

ซักฟอกกร่อย ศึกภายใน “พลังประชารัฐ” มาแรง เดิมพันอนาคต “ประยุทธ์” สองขั้ววัดกำลังระหว่างกลุ่มธรรมนัสกับกลุ่มต้าน คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

พลันที่มี “เกมล้มประยุทธ์” เกิดขึ้น ก็ทำเอาบรรยากาศการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ “กร่อยสนิท” ชาวบ้านร้านตลาดต่างเฝ้ามองไปที่วันลงมติ 4 ก.ย.2564

 

 

นาทีนี้ในพรรคพลังประชารัฐ กลับไปสู่สภาพเดิมคือ “พรรคร้อยพ่อพันแม่” ไม่ต่างจากวันที่ “นักเลือกตั้ง” หลายพรรคหลั่งไหลเข้ามาร่วมงาน

 

 

พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.จำนวน 122 คน ประกอบด้วยอดีต ส.ส. ,นักการเมืองท้องถิ่น, นักธุรกิจ และอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็น ส.ส.หน้าใหม่ กว่าร้อยละ 60 มาจาก ส.ส.เขตในภาคกลาง, กรุงเทพมหานคร และภาคใต้

 

 

หากมีการวัดกำลังกันในวันที่ 4 ก.ย.2564 คงต้องสู้กันหนัก ระหว่างกลุ่มธรรมนัส กับกลุ่มไม่เอาธรรมนัส ที่ “รัฐมนตรีช่วย” คนหนึ่งเป็นแกนหลักรวบรวมไพร่พล

“สันติ” เคยเป็น 1 ใน 4 ช. ที่นักข่าวชอบเรียกขาน แต่วันนี้ กลาย “ช.” ที่หายไปจากฝั่งธรรมนัส โดยแตะมือกับ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น คู่แค้นของผู้กอง

 

 

++

ซุ้มผู้กอง-มะขานหวาน

++

กลุ่ม ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.สายเหนือ เป็นแขนขาประกอบด้วย บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, จีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา, ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก ,ภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก ,ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร ,สัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ และวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง

 

 

ส่วน ส.ส.พิจิตร 3 คน และ ส.ส.พิษณุโลก อีก 2 คน ก็ยังไม่ชัดว่าอยู่กับกลุ่มผู้กองธรรมนัส เพราะก่อนหน้านี้ พวกเขาสังกัดกลุ่มสามมิตร

 

 

นอกจากนี้ ในภาคอีสาน ส.ส.เขต 11 คน ก็อยู่ในสายผู้กองธรรมนัส 8 คน ที่ดูแลโดย เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

“ร้อยเอกธรรมนัส” ยังเก็บเกี่ยว ส.ส.สมัยแรก จากภาคกลาง และภาคใต้ อีกประมาณ 20 คน มาอยู่ในซุ้มผู้กอง แต่จุดอ่อนของ “ส.ส.นกแล” สามารถย้ายไปขั้วไหนก็ได้

 

 

คู่แข่งของกลุ่มธรรมนัส คือ “สันติ พร้อมพัฒน์” รัฐมนตรีช่วยคลัง ที่ถอยออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับ “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีแรงงาน

 

 

“สันติ” มีกลุ่ม ส.ส.เพชรบูรณ์ 5 คน เป็นกำลังหลัก ได้แก่พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์, จักรัตน์ พั้วช่วย, วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ,สุรศักดิ์ อนรรฆพันธุ์ และเอี่ยม ทองใจสด

 

 

กลุ่มสันติ ยังมีพันธมิตรการเมืองเป็นซุ้มเดิมๆ ที่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย และแย่งชิง ส.ส.สมัยแรกในภาคกลาง, ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกมาอยู่ในสังกัดได้

 

 

++

ซุ้มเป็นกลาง

++

ในศึก 2 ขั้วค่ายพลังประชารัฐ รอบนี้ กลุ่มสามมิตร กลายเป็นกลุ่มเป็นกลาง ที่นั่งประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งอยู่เงียบๆ เพราะมีประสบการณ์ผ่านศึกมาเยอะ

 

 

กลุ่มสามมิตร ยังรักษากำลังพลหลักไว้ได้ อาทิ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ,อนุชา นาคาศัย รมต.สำนักนายกฯ, สรวุฒิ เนื่องจำนง ส.ส.ชลบุรี, บุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี ,มณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท, พรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย และชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส.สุโขทัย

 

 

กลุ่มแสนสุข ของตระกูลคุณปลื้ม มี ส.ส.ชลบุรี 2 คน เพราะ ส.ส.อีก 3 คนแยกไปอยู่ซุ้มอื่นแล้ว เหมือนกลุ่มบ้านริมน้ำ ที่มีแค่ สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทราเท่านั้น

 

 

กลุ่มสระแก้ว ของตระกูลเทียนทอง มี ส.ส.เขต 2 คน และ ส.ส.สระแก้วอีกคนหนึ่งนั้นขึ้นตรงต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

 

กลุ่มปากน้ำ ของตระกูลอัศวเหม มี ส.ส.ในซุ้ม 5 คนได้แก่ อัครวัฒน์ อัศวเหม ,ยงยุทธ สุวรรณบุตร ,ภริม พูลเจริญ,ฐาปกรณ์ กุลเจริญ และกรุง ศรีวิไล ส่วนไพลิน เทียนสุวรรณ แยกไปสังกัดบ้านป่ารอยต่อฯ

 

 

กลุ่มเมืองหลวง ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ล้วนเป็น ส.ส.สมัยแรก ต่างก็แยกไปสังกัดกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ,กลุ่มดาวฤกษ์ และกลุ่มอิสระ

 

 

ซุ้มเป็นกลางก็เป็นตัวแปรที่สำคัญ เพราะมีกำลังพลมากกว่า 30 คน จึงถูกช่วงชิงจากคู่ขัดแย้งภายในพรรคอย่างหนัก