ยกสุดท้าย "3ป." อยู่หรือไป เจอด่านอันตราย
สงครามเพิ่งเริ่ม "3ป." เผชิญศึกใหญ่กว่าที่คิด ทั้งอาวุธลับ ธรรมนัส แถมเกมท้องถนน ตามป่วนไม่เลิกรา คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
ภาพ "3ป." กอดคอกระเซ้าเย้าแหย่ต่อหน้า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ภายในบ้านป่ารอยต่อ เมื่อบ่ายวันที่ 3 ก.ย.2564 เหมือนตอกย้ำว่า ไม่มีใครเสี้ยมให้ 3ป.แตกคอกันได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ประยุทธ์” ชนะ แต่แพ้จับตาล้างไพ่ ปรับครม.-ยุบสภา
ส่องงูเห่า เย้ย “ทักษิณ” ไผเป็นไผ 6 ส.ส.เพื่อไทย
แผนล้มประยุทธ์ล่ม “ทักษิณ” ฝันค้าง บัตร 2 ใบหงายเก๋ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อธิบายความเป็น "3ป." ทำนองเลือดสุพรรณว่า “ถ้าไป ก็ต้องไปด้วยกัน” และย้ำว่า “ถ้าอยู่ เราต้องอยู่กัน 3
คน”
ปรากฏการณ์ “แผ่นดินไหว” ในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้เรื่องราวของ “ป.ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ , “ป.ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ “ป.ประยุทธ์” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกนำมาพูดถึงกันอีกครั้ง
การลงมติในศึกซักฟอกจบไปแล้ว แต่ดูเหมือนสงครามเพิ่งจะเริ่มต้นอีกครั้ง แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ต้องการจัดการ “กบฏ” ให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่ก็ต้องรอสัญญาณจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
‘ไม่คิดเป็นนายกฯ’
"3ป." นั้น มีความแนบแน่นผูกพันกันมายาวนาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะ “พี่ใหญ่” ได้รับความเคารพนับถือจากน้องทั้งสองเป็นอย่างดี
ว่ากันว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั้นไม่คิดจะเป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนข่าวปล่อยก่อนหน้านี้ เพราะรู้ดีว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง จึงให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ น้องเล็กอย่างสุดกำลัง โดยอาศัยคอนเนกชั่น ทั้งในวงข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และการเมือง ประคับประคองรัฐนาวา
จะว่าไปแล้ว พรรคพลังประชารัฐในวันนี้ ไม่ต่างจากพรรคไทยรักไทย ยุคหลังเลือกตั้งปี 2548 มี “ร้อยก๊กพันซุ้ม” เป็นศูนย์รวมนักการเมืองระดับยอดเซียน ไม่ว่าจะเป็นเสนาะ เทียนทอง,เนวิน ชิดชอบ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, พินิจ จารุสมบัติ, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ฯลฯ
“บิ๊กป้อม” เป็น ผบ.ทบ.ในยุคไทยรักไทยรุ่งเรือง รู้จักนักการเมืองมากหน้า และรู้ลึกเรื่องระบบการเมืองอุปถัมภ์ จึงใช้ประสบการณ์เหล่านี้ มาทำงานการเมืองในช่วงหลัง
การเผชิญหน้าระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ย่อมเป็นเรื่องที่ “บิ๊กป้อม” เข้าใจได้ และหาทางยุติความขัดแย้งโดยเร็ว ก่อนสถานการณ์จะคุมไม่อยู่
เนื่องจาก “ธรรมนัส” อดีตนายทหารรุ่นน้อง มีบุคลิกใจถึง พึ่งได้ จึงรวบรวมไพร่พลไว้พอสมควร ทั้งที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ และต่างพรรค โดยเฉพาะ “กลุ่มพรรคเล็ก”
การรับบทหัวหมู่ทะลวงฟัน “2 ป.” ก็ได้ใจ “นักเลือกตั้ง” ในพรรค เพราะที่ผ่านมา “ป.ประยุทธ์” และ “ป.ป๊อก” ไม่ค่อยเห็นหัว ส.ส.มากนัก
‘น้องทั้งสอง’
“บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย ตกเป้าโจมตีจาก ส.ส.กลุ่มใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ กรณีที่พรรคไม่ได้ประโยชน์อันใดเลย จากการที่บิ๊กป๊อกคุมมหาดไทย ต่างจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์
บุคลิกของ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นคนเงียบขรึม คนเข้าหายาก แต่การเล่นบท “น้ำนิ่งไหลลึก” ศัตรูอ่านใจได้ยาก จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ “บิ๊กป๊อก” อยู่รอดปลอดภัยในตำแหน่ง ผบ.ทบ.สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช
เช่นเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ.สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเลือกที่จะเล่นบทคนกลาง และจัดวางกำลังคนในกองทัพอย่างแยบยล ประคองสถานการณ์การเผชิญหน้า ระหว่างกองทัพกับคนเสื้อแดง
จังหวะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ล้มเหลว การชุมนุมใหญ่ของ กปปส. กลายเป็นเงื่อนไขให้กองทัพเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอีกรอบ ในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.)
15 ปีแล้ว ที่กลุ่ม "3ป." โลดแล่นอยู่ในวงการเมืองไทย และจากนี้ไป พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้นานแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร ผู้คุมพรรคพลังประชารัฐ
ทำนองเดียวกัน ชะตาชีวิตการเมืองของ “ร้อยเอกธรรมนัส” ก็ขึ้นอยู่กับบิ๊กป้อมเช่นกัน หากวันใดพี่ใหญ่ตัดสินใจปรับโครงสร้างพรรค “ผู้กองคนดัง” คงหลุดทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรค
ทุกวันนี้ พล.อ.ประวิตร ใช้สำนักงานมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก หรือนักข่าวเรียกว่า “บ้านป่ารอยต่อ” ภายในค่ายทหาร ร.1 รอ.ทม. เป็นกองบัญชาการสู้รบในสมรภูมิสุดท้าย