คอลัมนิสต์

เบื้องลึก "บิ๊กตู่" เขี่ยทิ้งสองกบฏ "ธรรมนัส - นฤมล" เชือดคาเก้าอี้รัฐมนตรี

เบื้องลึก "บิ๊กตู่" เขี่ยทิ้งสองกบฏ "ธรรมนัส - นฤมล" เชือดคาเก้าอี้รัฐมนตรี

09 ก.ย. 2564

เบื้องลึก หักเหลี่ยมเฉือนคม สยบคลื่นใต้น้ำ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เขี่ยทิ้งสองกบฏ "ธรรมนัส - นฤมล" ออกจากตำแหน่ง รมต.

 

"บิ๊กตู่" ออกมาให้สัมภาษณ์แล้ว ถึงปมเขี่ยทิ้ง "ธรรมนัส พรหมเผ่ารมช.เกษตรและสหกรณ์ และ "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์"  รมช.แรงงาน  พ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรี 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

 

ปฏิบัติการ "หักเหลี่ยมเฉือนคม" ทางการเมือง ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่  7 ก.ย.64  ที่ผ่านมา ตกเป็นที่จับตามองของสื่อมวลชน ถึงท่าทีระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มองหน้ากันติดหรือไม่ 

 

อันเป็นผลพวงจากการก่อพายุอารมณ์โถมเข้าใส่รัฐบาล ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากมี กลุ่มคน "คิดการใหญ่" หมายโค่นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

 

หนึ่งใน "กลุ่มคิดการใหญ่"  หวยดันมาออกมาที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์และแกนนำพรรคอีกสองสามคนนั่นเอง 

 

ท่าทีแรกปรากฎหลังประชุมครม. "ร.อ.ธรรมนัส" ปฏิเสธให้สัมภาษณ์สื่อ "บอกไม่พูดมากเจ็บคอ"

 

แต่ข้อเท็จจริงแล้ว "ร.อ.ธรรมนัส" ได้ตระเตรียมพิมพ์จดหมาย "จะ" ขอลาออกจากตำแหน่ง รมช. ยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี  ด้วยความหวังว่า นายกฯ อาจแบ่งใจด้วยการฉีกหนังสือลาออกจากตำแหน่งของเขาก็ได้  

   

ในที่สุดค่ำคืนของวันที่ 7 ก.ย.64  สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใต้การทำหน้าที่ของ "ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส"  เลขาธิการคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะถูกมติ ครม.ให้ไปทำหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และให้ ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแทน 

 

ประกาศราชกิจจานุเบกษาให้ธรรมนัส และนฤมลพ้นตำแหน่ง

เป็นการทำหน้าที่เลขาธิการ ครม.ของ ธีระพงษ์ ด้วยการรับหนังสือจากนายกรัฐมนตรี ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์  และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากตำแหน่ง รมช. แรงงาน เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยทันที 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ความปรากฏชัดช่วงบ่ายของวันที่ 9 ก.ย. เมื่อราชกิจจานุเบกษาประกาศให้สองรัฐมนตรีช่วย พ้นจากตำแหน่ง

 

น่าสนใจกว่านั้น กับการออกมาเปิดเผยของวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี   นอกจากระบุความหมายการพ้นตำแหน่งของสองรมช. เป็นไปตามรธน.มาตรา 171 คือ"การปลดออกจากตำแหน่ง"  ยังมีอีกปมคือ มีผลตั้งแต่ตีหนึ่งของวันที่ 8 ก.ย. 

 

"เนื่องจากในตัวพระบรมราชโองการได้มีการอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคําแนะนํา ส่วนวันที่มีผลบังคับจริงคือวันที่ระบุในพระบรมราชโองการ  นั่นหมายถึง ตั้งแต่เวลา 01.00 น. ของวันที่ 8 ก.ย. 2564"  มือกฎหมายรัฐบาลกล่าวไว้เมื่อวันที่ 9 ก.ย.64 

 

รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์

รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์

 

หมายความว่า ปฏิบัติการ "บิ๊กตู่เชือดสองรมช." ได้ดำเนินการชนิดชนเร็วเคลมเร็ว ให้เสร็จสิ้นหลังประชุมครม.จนกระทั่งราชกิจจานุเบกษาออกประกาศอย่างเป็นทางการลงวันที่ 9 กันยายน   

 

จึงไม่แปลกที่ รอ.ธรรมนัส ตัดสินใจออกมาแถลงถึงการยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งที่รัฐสภาทันที ประหนึ่งเปิดหน้าชน พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเต็มตัว

 

เบื้องลึก \"บิ๊กตู่\" เขี่ยทิ้งสองกบฏ \"ธรรมนัส - นฤมล\" เชือดคาเก้าอี้รัฐมนตรี

แม้จดหมายลาออกพบการเรียงพิมพ์ที่มีจุดผิดพลาดหลายประการ โดยเฉพาะการลงวันที่หนังสือเป็นวันที่ 8 กันยายน เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าสายเกินการณ์ ไม่ทันปฏิบัติการ"เชือดคาเก้าอี้" ของคนบนตึกไทยคู่ฟ้า ที่ดำเนินเรื่องมาตลอดค่ำคืนวันที่ 7  กันยายน 

 


 

 

 

 

 

"ผมเดินไปในทิศทางเดียวกันไม่ได้ ที่จริงแล้วก่อนที่จะลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าจะลาออกแต่หัวหน้าพรรคห้ามไว้" 

 

นี่เป็นการให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งของ "ร.อ.ธรรมนัส" ที่ได้กลายเป็นอดีตรัฐมนตรี ภายหลังสื่อมวลชนที่รัฐสภาถามว่า เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะทำงานกับนายกรัฐมนตรีไม่ได้แล้วหรือไม่ 

 

"ผมเดินไปในทิศทางเดียวไม่ได้" นับเป็นประโยคชัดเจนชนิดขีดเส้นใต้ตัวหนา ไม่ต้องบอกว่า "ธรรมนัส" พาดพิงไปถึงใครและจากนี้ ท่าทีระหว่างร.อ.ธรรมนัสกับพล.อ.ประยุทธ์ และกับ พรรคประชารัฐ(พปชร.) จะเป็นไปในทิศทางใด 

 

เพราะคำตอบเดียวคือ "มันไปด้วยกันไม่ได้แล้ว"

 

อย่างที่ทราบกันมาโดยตลอด ก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาการฝีหนองภายในพรรคเริ่มบวมเป่ง จนลามมาถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจปรากฎกระแสข่าว "คลื่นใต้น้ำ" ก่อตัวใหญ่ขึ้นมาเป็นระยะๆ  และภายในคลื่นมี ผู้คิดก่อการ หมายซัดเก้าอี้นายกฯให้ล้มครืนในจังหวะการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจนั่นเอง  

 

ภายหลัง "ร.อ.ธรรมนัส" เปิดหน้าไพ่อย่างเต็มตัว  ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แถลงลาออกจากรมช.เกษตรและสหกรณ์ จะมีการปรับครม.หรือไม่ว่า  ยืนยันว่า เมื่อรมต.ลาออกแล้วจะปรับ ครม.หรือไม่ต้องรอดูก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของพรรค แต่ปฏิเสธจะตอบว่าจะมีรัฐมนตรีคนอื่นลาออกตามหรือไม่

 

แปลความไม่ต้องซับซ้อน เมื่อปฏิบัติการ "เขี่ยทิ้ง" ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นหมายรวมถึงการใช้โอกาสนี้ ปราบพยศ  นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อีกหนึ่งรายที่อยู่ในกลุ่มผู้ก่อการใหญ่ให้พ้นตำแหน่ง รมช.แรงงาน 

 

"บิ๊กตู่"  ต้องการส่งสัญญาณให้กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ที่ไม่ต่างกับความพยายามคิดการ เป็น "กบฎพรรค" ต้องได้รับผลตอบแทนอย่างสาสม พร้อมกับ เปิดโอกาสให้กลุ่มก๊วนระนาบสองในพรรคขึ้นแท่นสู่ตำแหน่ง รมต.กับเขาบ้าง