คอลัมนิสต์

พลิกปูมปมคดียุค"วงศ์สกุล  กิตติพรหมวงศ์" นั่งอัยการสูงสุดก่อนอำลา

พลิกปูมปมคดียุค"วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์" นั่งอัยการสูงสุดก่อนอำลา

17 ก.ย. 2564

"วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์" อัยการสูงสุด ยื่นหนังสือลาออกไม่ขอรับราชการต่อและหากมองย้อนไปในยุคที่เขาเป็นอัยการสูงสุด มีคดีสำคัญหลายคดีเข้ามาสู่สำนักงานอัยการสูงสุดและถูกวิจารณ์

 

สร้างความแปลกใจไม่ใช่น้อย ที่ "วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์"  อัยการสูงสุด ซึ่งจะครบอายุเกษียณราชการ 65 ปี ในสิ้นเดือนกันยายน 2564 นี้และจะต้องไปเป็นอัยการอาวุโสตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการต่อ นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)

 

 

โดยแจ้งความประสงค์ว่าจะไม่ขอรับราชการเป็นอัยการอาวุโสต่อไป โดยประสงค์จะเป็นข้าราชการบำนาญ ทั้งนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไปโดยจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.)วันที่ 21 กันยายน 2564 นี้ด้วย 

 

 

ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อ 8 กันยายน 2564 "นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์"อสส. ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 0109/2564 เรื่องให้พนักงานอัยการปฏิบัติราชการในหน้าที่อัยการอาวุโส จำนวน 106 ตำแหน่ง

 

 

ซึ่งมีชื่อ"นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์" ปฏิบัติราชการในหน้าที่อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด รวมอยู่ด้วยโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่1ตุลาคม 2564 เป็นต้นไปถือว่าเป็นการเปลี่ยนใจแบบกะทันหัน

 

 

สำหรับ"นายวงศ์สกุล" ในช่วงที่เขาเป็น อัยการสูงสุด มีคดีสำคัญหลายคดีเข้ามาสู่สำนักงานอัยการสูงสุดและถูกจับตามองจากสาธารณชนท่ามกลางเสียงวิจารณ์ 

 

 

-คดีวิคตอเรียซีเครท  คดีนี้ "นายวงศ์สกุล" เคยบอกว่าในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ระยะเวลา 2 ปี ไม่มีการพิจารณาสั่งคดีนี้ น่าจะเป็นอัยการสูงสุดคนอื่น

 

คดีวิคตอเรียซีเครท มีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ นางนิภา ภรรยา  และ นายธนพล บุตรชาย ตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งทั้ง 3 สามคนถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องและเป็นเจ้าของสถานบริการอาบอบนวด "วิคตอเรียซีเครท" และคดีนี้เกิดขึ้นก่อน"นายวงศ์สกุล" เป็นอัยการสูงสุดและอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหาค้ามนุษย์

 

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

 

 

 

 

 

 

                           

 

                           

 

 

ต่อมานายกำพล นางนิภา และนายธนพล    ซึ่งหลบหนีคดีได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาที่สำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเมื่อถึงตอนนี้ อัยการสูงสุดเปลี่ยนมาเป็น"นายวงศ์สกุล" แล้ว  

 

 

และตามกระบวนการเมื่อผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาเรื่องจะไปที่ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ เป็นผู้พิจารณาและต่อมามีคำสั่งไม่ฟ้อง เฉพาะนายธนพล เพียงคนเดียว  ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ ที่จะสั่งไม่ฟ้องและเมื่ออธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ สั่งไม่ฟ้องแล้ว ไม่ต้องเสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุด 

 

 

แต่ต่อมา นายกำพล นางนิภา ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาใหม่ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ ไม่ได้สั่งคดีด้วยตัวเอง แต่เสนอขึ้นไปที่รองอัยการสูงสุด และรองอัยการสูงสุดในยุค"นายวงศ์สกุล"เป็นอัยการสูงสุด ก็มีความเห็นไม่ฟ้อง นางนิภา เพียงคนเดียว โดยการสั่งคดียุติที่รองอัยการสูงสุด ไม่ต้องเสนออัยการสูงสุด เช่นกัน 

 

ดังนั้นโดยสรุปการสั่งคดีไม่ฟ้องทั้งนายธนพลและนางนิภา ทั้ง 2 ครั้งเกิดขึ้นในช่วงที่อัยการสูงสุด ชื่อ"นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์" เพียงแต่กฎหมายให้อำนาจอธิบดีอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ และรองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องได้ โดยไม่ต้องเสนอมาที่อัยการสูงสุด

 


 

 

 

การกลับคำสั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาคดีสำคัญในยุคที่นายวงศ์สกุล เป็นอัยการสูงสุดนี้เอง ทำให้นายรณสิทธิ์ พฤกษยาชีวะ ประธานมูลนิธิรณสิทธิ์เพื่อช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ เด็กและสตรี  ได้ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ

 

 

ขอให้ตรวจสอบอัยการสูงสุด "วงศ์สกุล" ว่า ในฐานะอัยการสูงสุด ได้มีการปล่อยปละละเลยหรือมีส่วนร่วมในการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ทั้งนางนิภาและนายธนพล ทั้งที่ 2 คนอยู่ระหว่างการหลบหนีคดีด้วยหรือไม่ มีการกระทำความผิดหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือมีการเรียกรับผลประโยชน์หรือไม่

 

 

ขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบและเอาผิดกับบุคคลทุกระดับชั้น ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งไม่ฟ้องหรือมีการเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด 

 

 

-คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา  ขับรถโดยประมาทชนดาบตำรวจถึงแก่ความตาย ที่นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด  สั่งไม่ฟ้องคดี จากเดิมที่อัยการเคยสั่งฟ้องคดี

 

 

-คดีที่ ปปง.ร้องทุกข์กล่าวโทษ นายพานทองแท้ หรือ "โอ๊ค" ชินวัตร บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาฟอกเงิน ซึ่งเป็นคดีต่อเนื่องแตกลูกจากคดีทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร

 

 

โดยคดีนี้พนักงานสอบสวนดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้อง ต่อมาอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ก็มีความเห็นแบบเดียวกัน และยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแบบมีความเห็นแย้ง

 

 

คือ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนให้ลงโทษจำคุก 4 ปีกับจำเลย (นายโอ๊ค) โดยไม่รอลงอาญา แต่ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะอีกคนให้ยกฟ้อง 

 

 

เมื่อศาลยกฟ้องแบบมีความเห็นแย้งเช่นนี้ โดยปกติอัยการต้องยื่นอุทธรณ์เพราะอัยการก็มีความเห็นสั่งฟ้องคดีมาตั้งแต่แรก แต่อัยการกลับมีความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษา ทำให้ดีเอสไอทำความเห็นแย้งกลับมา เพื่อให้อัยการยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ 

 

แต่สุดท้าย นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด (ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่สั่งไม่ฟ้องในคดีนายบอส อยู่วิทยา ขับรถประมาทชนคนตาย) ในฐานะรักษาการอัยการสูงสุดแทน"นายวงศ์สกุล"ลงนามในคำสั่ง "ไม่อุทธรณ์" ทำให้คดีที่กล่าวหานายพานทองแท้ ถึงที่สุด

 

 

-คดีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ที่ดีเอสไอส่งสำนวนมาพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องว่าร่วมกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น ฟอกเงิน

 

 

-คดีอุ้มฆ่าบิลลี่หรือนายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่มี นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คนตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งดีเอสไอทำสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องส่งให้อัยการ 
 

 

แต่ต่อมาสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในข้อหาหลักทั้งหมด คงคำสั่งฟ้องเพียงข้อหาเดียว คือ ม.157 ไม่ส่งตัว บิลลี่ ให้ตำรวจดำเนินคดีลักของป่า