15 ปี 19 กันยา "ทักษิณ" เล่าเรื่องคนซื่อบื้อ
ปลุกผี 19 กันยา "ทักษิณ" เล่าความพ่ายแพ้ของคนซื่อบื้อ แตะชนชั้นนำเอาใจม็อบสามนิ้ว จุดกระแสคาร์ม็อบชนรถถัง คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
ใกล้ถึงวันครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 “ทักษิณ ชินวัตร” ได้ใช้พื้นที่คลับเฮาส์ของกลุ่มแคร์ เล่าความหลังให้คนรุ่นใหมฟัง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พี่ใหญ่ประวิตร “ประยุทธ์” ดันรุ่นน้อง ต่อแถวยึด ทบ.
- พล.อ.วิชญ์ มือขวา “ประวิตร” จากสนามม้าสู่การเมือง
- เยือนถิ่นนันทิดา “บิ๊กตู่” ใกล้ชิด ส.ส. โชว์คุมพรรคเอง
- แผนดับสูญ “ก้าวไกล” ส.ว.สาย 3 ป. โหวตผ่านบัตร 2 ใบ
- แพ้แล้วแพ้อีก “ธนาธร” ลุยต่อ เดิมพันชิงนายก อบต.
“ทักษิณ” เล่าเบื้องหลังรัฐประหาร 19 กันยา ไม่รู้กี่ครั้งกี่หน นับแต่เขาไปลี้ภัยอยู่ต่างแดน บางครั้งให้สัมภาษณ์สื่อไทยและสื่อเทศ บางคราวก็เล่าผ่านเวทีชุมนุมใหญ่ของ นปช.
ปีนี้ กลุ่มแคร์ ได้ให้ “ทักษิณ” เล่าเรื่อง 19 กันยา เวอร์ชั่นประวัติศาสตร์จากปากพี่โทนี่ ประสานกับคาร์ม็อบ ของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
เนื่องจากทีมงานกลุ่มแคร์ มองว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่เกิดในห้วงการรัฐประหาร 2549 พอจำความได้ก็เห็นแต่ความแตกแยกเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จึงให้อยากเด็กๆ ได้ฟังเรื่องเล่าจากปาก “ทักษิณ” บ้าง
อีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่ รับรู้เรื่องรัฐประหาร 19 กันยา ที่ก้าวข้ามคณะนายทหาร และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญไปแล้ว พวกเขามอง “โทนี่” หรือทักษิณ เป็นตัวละคร ที่ถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ถ้อยวลี “สู้ไป กราบไป” เหมือนฝันร้ายที่คอยหลอกหลอน “ทักษิณ” ดังนั้น กลุ่มแคร์ที่หวังจะรีแบรนด์โทนี่ ให้เป็นความหวังของเยาวชน Gen X Gen Z ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
‘คนซื่อบื้อ’
คืนวันอังคารที่ 14 ก.ย.2564 “ทักษิณ” ได้เล่าเรื่องลึกๆ ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร พยายามจะแตะ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” แต่ก็ไม่กล้าพูดทั้งหมด
“ทักษิณ” ทำได้แค่เล่าความเป็นพระเอกของตัวเองว่า “ตอนนั้นพอโดนปฏิวัติแล้ว ก็เลยบินกลับไม่ได้ เพราะเครื่องบินการบินไทยถูกล็อคไว้โดย คปค. ถ้าผมบินกลับมาสนุกแน่ สรุปผมไปลงลอนดอน หลังจากนั้นผมเคยถาม พล.อ.สนธิเล่นๆ ว่าถ้าผมอยู่ ท่านกล้าปฏิวัติมั้ย เขาบอกไม่กล้า เพราะเขารู้ว่าผมเป็นคนกล้าคอมมานด์ ผมเป็นคนไม่กลัวตาย แต่ผมเป็นนักเลงพอ จบเป็นจบ”
เดือน ก.ย.2549 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น มีภารกิจเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ด้วยความไม่ประมาท เขาได้เขียนประกาศภาวะฉุกเฉิน ลงนามไว้เรียบร้อย โดยมอบให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ถือไว้คนละฉบับ
“คนของผม 2 คน ไปตามหารัฐมนตรีกลาโหม(พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา) วันนั้นรัฐมนตรีกลาโหมของผมถูกพาไปซ่อนที่ไหนก็ไม่รู้ 2 คนนี้ก็ไม่กล้าตัดสินใจ ก็เลยช้าไป ไปประกาศได้ครึ่งเดียว มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ถูกจี้ เขาก็ปิดทีวีช่อง 9 เลยไม่ได้อ่าน ทำให้เราประกาศภาวะฉุกเฉินไม่ทัน”
เนื้อหาคำประกาศภาวะฉุกเฉินคือ สั่งย้าย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้ปฏิบัติตามประกาศภาวะฉุกเฉิน
พล.อ.เรืองโรจน์ พร้อม “หมอมิ้ง” และ “รองชิดชัย” พยายามจะตั้งกองบัญชาการต่อต้านคณะปฏิวัติที่กองบัญชาการกองทัพไทย ถ.แจ้งวัฒนะ แต่ถูกกำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เข้าจับกุม
ต่อมา พล.อ.เรืองโรจน์ เข้ารายงานตัวต่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่กองทัพบก ซึ่งภายหลัง พล.อ.เรืองโรจน์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษา คปค.
ทักษิณยอมรับว่าเป็นคนซื่อบื้อ ที่แต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ เป็น ผบ.สส.
‘ลับลวงพราง’
ผ่านมา 15 ปี “ทักษิณ” ทำได้แค่บอกกับคนรุ่นใหม่ว่า ตัวเองซื่อบื้อ ไม่ทันเกมอำนาจของชนชั้นนำ ทั้งที่มีอำนาจเต็มมือ แต่ก็ปล่อยให้ฝ่ายจารีตก่อการยึดอำนาจได้สำเร็จ
จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของทักษิณคือ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ เตรียมทหารรุ่นที่ 5 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ. และอดีต ผบ.สส.
ก่อนฤดูโยกย้ายปลายปี 2548 พล.อ.ชัยสิทธิ์ เกษียณอายุ ผลักดันเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.เรืองโรจน์ เข้าดำรงตำแหน่ง ผบ.สส. ขณะที่คู่แข่งได้แก่ พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ รอง ผบ.สส.ขณะนั้น แต่สุดท้าย พล.อ.เรืองโรจน์ ได้เป็น ผบ.สส.
ช่วงรัฐประหาร 2534 พล.อ.เรืองโรจน์ เป็นนายทหารเสนาธิการประจำตัวของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สส.สมัยนั้น เรียกว่าเป็นนายคนสนิท “บิ๊กจ๊อด”
อีกด้านหนึ่ง คืนวันนั้น (19 ก.ย.2549) ทายาท “บิ๊กจ๊อด”อย่าง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ยังเป็นนายทหารระดับคุมกำลัง ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) “บิ๊กแดง” ได้ปล่อยวลีเด็ดไปถึงนายทหารฝ่ายทักษิณว่า “ผมอยู่กับพี่บัง” (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน) ทำให้ขบวนการต้านรัฐประหารต้องจบเกม
เรื่องเล่าของคนแพ้ ยังคงจะได้เล่ากันอีกหลายครั้ง ตราบใดที่ “ทักษิณ” ยังไม่ได้กลับบ้าน และพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล