ป.ป.ช. ไต่สวน ”อนุพงษ์-สุริยะ-ทักษิณ” เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
อาจมองว่า ป.ป.ช. ตั้งเรื่องสอบทั้ง "พล.อ.อนุพงษ์-ทักษิณ- สุริยะ" เป็นเรื่องปกติธรรมดา ตามวงรอบของการร้องเรียนก็ใช่ แต่สำหรับคอการเมืองแล้ว มองว่าเรื่องนี้ ไม่ธรรมดา
หลังมรสุมการเมืองที่ถาโถมเข้าใส่ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯผ่านพ้นไปและการที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้เอาคืนด้วยการปลด 2 รัฐมนตรีข้างกาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกจากตำแหน่งทำท่าว่าสงครามยังไม่จบ เพราะล่าสุด ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานไต่สวนนักการเมืองระดับบิ๊กอีกหลายคน
จะว่า การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.เป็นไปตามวงรอบและคำร้องที่มีการร้องขึ้นมาก็ใช่เพราะ ป.ป.ช.มีหน้าที่ในการผดุงความยุติธรรมป้องกันไม่ให้นักการเมืองหน้าไหนมาทำการทุจริตประพฤติมิชอบอยู่แล้ว
แต่การการสัประยุทธ์ของคนในแวดวงการเมือง นับจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจจบลงด้วยข้อสงสัยและความหวาดระแวงต่าง ๆ นานา
ในส่วนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่รอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน แต่กลับถูกตรวจสอบจากศาลปกครองกลางด้วยการสั่งให้ ป.ป.ช.เปิดเผยผลสอบสวนกรณีนาฬิกาหรู
ทั้งนี้สืบเนื่องจากผู้สื่อข่าวสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ยื่นฟ้อง ป.ป.ช.ต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
โดยศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาให้ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ให้กับสำนักข่าวแห่งนี้
ซึ่งก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. ชี้แจงต่อศาลปกครองกลางว่า หากมีการเปิดผลการสอบสวนทั้งหมดจะไปประทบบุคคลอื่นอาจไม่สามารถเปิดเผยได้
เรื่องนี้ป.ป.ช. ยังสามารถอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางไปยังศาลปกครองสูงสุดได้
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ขึ้นมาไต่สวน"พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" รมว.มหาดไทยและพวกรวม6 คนที่ไปอนุมัติให้บริษัทลูกในเครือเครื่องดื่มชื่อดัง ใช้พื้นที่เพิ่มเติมในการขยายโรงงานที่อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
ซึ่งชุมชุมร้องคัดค้านการใช้พื้นที่ดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นป่าชุมชนตามกฎหมายที่ให้ชาวบ้านได้ใช้สิทธิร่วมกัน
ประกอบกับการอนุมัติดังกล่าวที่มีรายงานว่าได้ทำรายงานสำรวจประชาพิจารณ์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่กลับมีข้อเท็จจริงที่แย้งกันว่ายังไม่ได้ทำ ซึ่งหากเป็นไปตามนี้อาจเข้าข่ายทำรายงานเท็จ
และเรื่องนี้ไม่ธรรมดาเพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่มีมติให้ตั้งองค์คณะไต่สวน ไม่ใช่แค่ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา และกรณีนี้ตั้ง สุภา ปิยะจิตติ มือปราบตงฉินของ ป.ป.ช.เป็นประธานตรวจสอบเลย
มีข่าวก่อนหน้านี้ "พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" ที่อิงกับพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี มีปากเสียงกับ "พล.อ.ประวิตร" กรณีแต่งตั้งปลัดมหาดไทย
และกรณีมีข่าว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ต้องการเก้าอี้ รมว. มหาดไทย
เป็นปัญหาในครม.ที่ "พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ พล.อ.ประวิตร" พี่น้อง3 ป.จะต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร จะแก้ปัญหากันอย่างไร
ขณะเดียวกัน "พล.อ.ประวิตร" ก็ต้องการกระชับอำนาจในพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการประกาศไม่ลาออก ประสานเสียงกับ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่ง "พล.อ.ประวิตร" ประกาศว่าในพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีก๊วน ขอให้สลายก๊วน
อาจแปลได้ว่า "พล.อ.ประวิตร" ยึดอำนาจพปชร.มาไว้ที่ตนเองและยังมี ร.อ.ธรรมนัส เป็นมือขวาในตำแหน่งเลขาธิการพรรค
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจมีหลายกลุ่มที่แตกแยก อาทิ สามมิตร ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กลุ่มนายสันติ พร้อมพัฒน์ พล.อ.ประวิตร ก็เลยยึดเก้าอี้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคของนายสมศักดิ์ แกนนำสามมิตร มาให้กับ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นที่เรียบร้อย
ต่อมา ป.ป.ช.มีมติไต่สวน "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯกรณีจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทยที่เป็นต้นเหตุของการทำให้การบินไทยขาดทุนแทบล้มละลาย พ่วงสอบ "นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" แกนนำสามมิตรที่เป็น รมว.คมนาคม ในขณะนั้นด้วย
อาจจะมองว่า ป.ป.ช. ตั้งเรื่องสอบทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ นายทักษิณ และนายสุริยะ ตามวงรอบของการร้องเรียน เป็นเรื่องปกติก็ใช่ แต่สำหรับ คอการเมือง แล้วมองว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาแน่นอน