"วันสันติภาพโลก" ร่วมสร้างสุขภาวะที่ดีส่งต่อให้เด็ก
ในขณะที่เราต่างโหยหา"สันติภาพ"แต่โลกความเป็นจริงยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งบั่นทอนสุขภาวะ ในโอกาสที่วันนี้เป็น "วันสันติภาพโลก" เรามาร่วมเคาะระฆัง ส่งต่อโลกที่สันติสงบงามให้คนรุ่นต่อไปเถิด /เจาะประเด็นร้อน ขอนำบทความอาจารย์ พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ นำเสนอ
วันที่ 21 กันยายนของทุกปี กำหนดให้เป็น"วันสันติภาพโลก" ...อสนีบาต...จึงขอนำบทความเรื่อง" สุขภาวะสันติภาพ สันติภาพของโลกที่เราจะส่งต่อให้เด็ก" เขียนโดย "ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์" สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มานำเสนอ.......
หากเป้าหมายของการมีชีวิตที่ดีของมนุษย์ คือ การมีสุขภาพกาย ใจ จิตวิญญาณ และความสัมพันธ์กับผู้คนและสรรพสิ่งรอบตัวดี มีอิสระภาพ เสรีภาพที่จะเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ปรารถนาอย่างเกื้อกูลและเคารพต่อสรรพสิ่งนั้นคือคำอธิบายของคำว่า ‘สุขภาวะสันติภาพ’ ที่ส่งผลให้เกิดสันติสุขในเรือนใจได้ในที่สุด มนุษย์ที่ใดในโลกก็คงปรารถนาไม่ต่างกัน ดังนั้น เราอาจเรียกสภาวะนั้นได้ว่า “สุขภาวะสันติภาพโลก”
ทว่าสุขภาวะสันติภาพของโลกในศตวรรษที่ 21 ดูเปราะบางและสุ่มเสี่ยงจะแตกสลายได้ทุกเมื่อ
ท่ามกลางวิกฤตที่ท้าทาย ซับซ้อน และทวีความรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ที่พรากชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่า 4.6 ล้านคน ติดเชื้อไปมากกว่า 200 ล้านคน (WH0, 20 Sep 2021) นับเป็นสงครามรูปแบบใหม่ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญและไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สงครามและสันติภาพ(ที่ไม่แท้จริง)
- สันติภาพภายใน
- สันติภาพโบยบินสู่ถิ่นที่ประสบอุทกภัย
- สันติภาพอาบเลือดน้ำตาโลก
- คุก 10 ปี "9 ผู้บริหาร ม.สันติภาพโลก WPU"
ขณะที่มนุษย์ทั้งโลกกำลังสาละวนกับสงครามเชื้อโรคที่แพร่ระบาดขนานใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปริมาณทรัพยากรที่ถูกใช้และขยะมหาศาลจากเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยใช้แล้วและขยะสารพิษอื่น ๆ อันเกิดจากการป้องกันการติดเชื้อ การรักษาพยาบาล การจัดการกับร่างของผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิต จะส่งผลต่อสมดุลย์ของสภาพแวดล้อมที่อยู่รายรอบมนุษยชาติมากเพียงใด
ทั้งยังไม่มีการรวบรวมประมวลผลว่าในช่วงมหันตภัยจากโควิด-19 นั้น ผลกระทบต่อสุขภาพจิตของมนุษย์สูงขึ้นแค่ไหน ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่จะผลักให้เกิดความอดอยากยากจนและในจำนวนนั้นจะมีเด็ก ๆ ที่ต้องเป็นกำพร้า ไร้ที่พึ่ง และหลุดออกนอกระบบการศึกษาอีกเท่าใด
แน่นอนว่าความท้าทายต่อสุขภาวะสันติภาพโลกไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจเท่านั้น การเมืองและความมั่นคงเป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะการเมืองในพม่าที่กำลังลุกเป็นไฟหลังการรัฐประหารของนายพลมินอ่องลายที่กลายเป็นชนวนลุกฮือต่อต้านของผู้คนจำนวนมาก ด้วยพวกเขาตระหนักถึงพิษภัยของรัฐประหารที่นำมาสู่ความล้าหลังของประเทศ และคุณภาพชีวิตของพลเมืองทุกด้านตกต่ำเพราะระบบเผด็จการนำมาสู่การคอรัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก การกดขี่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าอย่างกว้างขวาง
หากแต่การต้านรัฐประหารด้วยสารพัดยุทธวิธีปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงของชาวพม่ากลับถูกตอบโต้จากรัฐบาลเผด็จการทหารด้วยความรุนแรงและนำมาสู่ความตายของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ควรจะเป็นผู้สืบทอดอนาคตของโลกใบนี้
เช่นเดียวกับที่เกิดการเคลื่อนไหวในไทยของขบวนการนักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตและการกำหนดอนาคตที่ดีกว่า ทว่าก็ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงไม่แพ้กัน
และไม่ทันจะคลี่คลาย ปรากฏการณ์ในอัฟกานิสถานหลังการถอนตัวของชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกาก็เผยให้เห็นภาพอีกมุมที่ท้าทายสุขภาวะสันติภาพโลก เมื่อสิทธิ เสรีภาพ ในการกำหนดวิถีชีวิตของสตรีและเด็กกำลังถูกคุกคามด้วยข้อกำหนดของคณะผู้ยึดครองอำนาจที่กำลังก้าวล่วงเข้าควบคุมกำกับการตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตของสตรีและเด็กผู้หญิงตั้งแต่การแต่งกาย การเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่ตนปรารถนา การหนีตายของนักข่าวหญิง การพยายามส่งเสียงตั้งคำถามของเยาวชนหญิงว่าพวกเธอผิดอะไรถึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่ควรเป็นพื้นฐานสำหรับเด็ก ๆ ทุกคน รวมถึงการประท้วงของสตรีภายใต้เครื่องแต่งกายหลากสีสันเพื่อต่อต้านการควบคุมบงการให้พวกเธอต้องสวมแต่เสื้อผ้าสีดำตามที่รัฐบาลปัจจุบันกำหนด
ย้อนพิจารณาจุดมุ่งหมายของวันสันติภาพโลกที่ตามหลังวันเยาวชนโลกเพียงหนึ่งวัน นั้นคือ 20 กันยายนวันเยาวชนโลก ส่วน 21 กันยายน วันสันติภาพโลก
สองวันนี้บอกเราให้คิดถึงการดูแลรักษาและส่งต่อโลกที่สันติสงบงามให้เยาวชนคนรุ่นที่จะอยู่ยาวนานต่อไปในอนาคต เพราะจุดมุ่งหมายของวันสันติภาพโลกคือ เพื่อหยุดสงครามความรุนแรงทุกชนิด และชวนให้มนุษยชาติได้ทบทวนเป้าหมายการมีชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้
เมื่อทบทวนความหมายของวันสันติภาพโลก (International Day of Peace หรือ World Peace Day) พบว่าจัดขึ้นเพื่ออุทิศแก่สันติภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างน้อยที่สุดคือ “สันติภาพเชิงลบ” คือ “การปราศจากสงคราม” ทั้งยังถือเป็นโอกาสพิเศษสำหรับการกำหนด “หยุดยิงชั่วคราว” ในพื้นที่ที่ยังสู้รบกันอยู่
ขณะที่จุดมุ่งหมายของวันสันติภาพโลกนั้นมุ่ง
1) ให้ความเคารพต่อชีวิตทั้งมวล เคารพชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่แบ่งชนนั้น หรือลำเอียง
2) ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน
3) แบ่งปันกับผู้อื่นอย่างมีน้ำใจ เพื่อขจัดการแบ่งแยก ความไม่ยุติธรรม และการกดขี่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
4) รับฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
5) สงวนรักษาผืนโลก ฝึกดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบ และเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติบนผืนโลก
6) สร้างความสมานฉันท์ เคารพต่อหลักประชาธิปไตยและให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรี
ซึ่งทั้ง 6 ประการข้างต้นนั้นก็สะท้อนจากด้านกลับที่กดทับไปยังเด็ก สตรี และผู้อ่อนแอในสังคมซึ่งมักไม่ได้เป็นผู้ก่อสงครามความรุนแรง
สัญลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกถึงการเริ่มวันสันติภาพโลก ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติจะมีการเคาะ “ระฆังสันติภาพ” ระฆังนั้นถูกหล่อขึ้นจากเหรียญที่รับบริจาคมาจากเด็กทั่วโลก เป็น “เครื่องเตือนใจมนุษย์ถึงมูลค่าแห่งสงคราม” และเด็กจำนวนมากต้องแบกรับอย่างไม่มีทางเลือก
วันสันติภาพโลกในปี 2564 นี้ จึงควรที่เราจะหยุด พินิจพิจารณาและทบทวนกันอย่างจริงจัง ท่ามกลางวิกฤตท้าทายและสุขภาวะของโลกที่เสียหายจากทั้งหายนะภัยจากโรคระบาด สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ การกดขี่เอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทุกชนิด เพราะผลพวงที่เกิดขึ้นนั้นจะตกกระทบต่อผู้คนบนโลกรวมทั้งเราทุกคนที่แลกเปลี่ยนลมหายใจเข้า – ออก กันอยู่ทุกวันด้วยและในจำนวนคนที่แบ่งปันลมหายใจร่วมกันกับเราคือเด็กและเยาวชน
ผู้เขียนอยาก “เคาะระฆัง” เชิญชวนเราท่านตั้งสติ ตอบคำถามว่าเราจะส่งต่อโลกที่มีสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยเรื้อรังด้วยโรคความรุนแรงรุมเร้ารักษาไม่หายให้กับคนรุ่นต่อไป หรือเราอยากจะส่งผ่านโลกที่มีสุขภาพดีเพียงพอที่จะให้ลูกหลานที่เรารักได้มีชีวิตที่ดี มีความสุขและภาคภูมิใจที่จะเล่าขานเป็นตำนานว่ามีบรรพบุรุษที่ห่วงใยใส่ใจส่งผ่านโลกที่มีสุขภาพดีเพียงพอให้พวกเขาได้รักษ์ ดูแล และส่งต่อสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไปอย่างที่เขาเคยได้รับจากรุ่นเรา