"เจาะประเด็นร้อน" ชวนอ่าน อัตลักษณ์ของผู้คนในชายแดนใต้
"เจาะประเด็นร้อน" ชวนอ่าน อัตลักษณ์ของผู้คนในชายแดนใต้ โดยท่านอาจารย์โคทม อารียา ศึกษาผ่านการดำเนินชีวิตของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความหลากหลาย
ความขัดแย้งในชายแดนใต้ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี 2547 แต่ก็ได้เริ่มลดระดับความรุนแรงเรื่อยมา โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตโควิด -19 และหลังจากที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นประกาศว่า ในช่วงที่โควิด – 19 ระบาด จะหยุดกิจกรรมต่าง ๆ เว้นแต่ว่าจะถูกฝ่ายความมั่นคงกระทำก่อน หมายถึงการหยุดยิงโดยฝ่ายบีอาร์เอ็นฝ่ายเดียวอย่างมีเงื่อนไข แต่ดูเหมือนว่าทางการจะไม่ให้ความสำคัญแก่การประกาศดังกล่าว
เหตุการณ์รุนแรงระยะนี้มักเกี่ยวกับการปิดล้อมตรวจค้นที่ลงเอยด้วยการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยที่ยิงต่อสู้ จนเกิดเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจหลายเหตุการณ์ เช่น เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ที่อำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่ได้ปิดล้อมพื้นที่เป้าหมาย ผู้ต้องสงสัยถูกวิสามัญฆาตกรรม 2 ราย ยอมมอบตัว 1 ราย ก่อนการยิงปะทะกัน ผู้ต้องสงสัยได้ทำคลิปและแพร่ภาพทางโซเชียลมีเดียเพื่อสั่งลา
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีการปะทะกันเป็นเวลา 7 วัน หลังจากที่การเจรจายืดเยื้อไม่เป็นผล การปะทะครั้งสุดท้ายทำให้ผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 2 ราย ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีพี่น้องตระกูลหลำโส๊ะ 3 คน พี่ใหญ่ชื่อ นายบูคอรี หลำโส๊ะ ยังไม่ถูกจับกุม และน้องฝาแฝด คือ นายรอซาลีและนายซอบรี พวกเขาทั้งสามคนเป็นทีมปฏิบัติการทีมสำคัญที่เรียกขานกันว่า "ทีมปัตตานี"
ในช่วงที่ผ่านมา ทีมนี้ก่อเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง น้องสุดท้องคือนายซอบรีถูกวิสามัญฆาตกรรมเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ที่อำเภอหนองจิก ส่วนแฝดพี่คือนายรอซาลีถูกวิสามัญฯเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564
บทความของผมนี้ขออนุญาตใช้หนังสือชื่อ “มลายูที่รู้สึก” เขียนโดยศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ มาอ้างอิงในปกหลังของหนังสือเล่มนี้ มีการยกข้อความจากบทนำที่เขียนโดยนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ มาพิมพ์ไว้ ความว่า ประวัติศาสตร์ที่ตอบโต้การบิดเบือนของรัฐไทยนั้น วนเวียนอยู่กับความคิดและการกระทำของชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น หาได้ขยายลงมาถึงประชาชน “นายู” ทั่วไปไม่ การต่อสู้ “ถ้าจบลงที่ชัยชนะเด็ดขาดของรัฐไทย ประชาชนชาว “นายู” ก็ยังเหมือนเดิม ถ้าจบลงด้วยชัยชนะของผู้ต่อต้านรัฐไทย ปาตานีดารุลสลาม ไม่ว่าจะเป็นรัฐเอกราชใหม่ หรือเขตปกครองพิเศษ หรือเขตปกครองตนเอง ประชาชน “นายู” ก็ดูจะยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนชนชั้นนำใหม่เท่านั้น”
นิธิมีมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ที่ทอดไกลไปสู่อนาคต อนาคตคืออดีตที่ไม่เปลี่ยนแปลงเร็วอย่างที่คิด แม้อนาคตทางการเมืองอาจเปลี่ยนได้เร็วกว่าก็ตาม แต่ศรยุทธผู้เขียนหนังสือ “มลายูที่รู้สึก” มีมุมมองในเชิงมานุษยวิทยา เขาได้ฝังตัวเพื่อทำวิทยานิพนธ์อยู่ในกำปงของชาวนายู (ย่อจากมลายู) เพื่อศึกษาเชิงสังเกตชีวิตความเป็นอยู่ของคนในกำปง สังเกตว่าความรุนแรงมีผลกระทบต่อชีวิตอย่างไรในภาพเล็ก ๆ ของหมู่บ้าน ข้อค้นพบ (ที่ผมสรุปเอง) ก็คือ ความรุนแรงทำให้อัตลักษณ์เชิงเดี่ยว (single identity) ของความเป็น “นายู” และความเป็น “สิแย” (สยาม) เด่นชัดเหนืออัตลักษณ์อื่น ๆ อัตลักษณ์เชิงเดี่ยวอาจทำให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง แม้ว่าความสัมพันธ์บนพื้นฐานของอัตลักษณ์อื่น ๆ ของมนุษย์อาจจะยังเหมือนเดิม คือไม่รุนแรง
จากการใช้ชีวิตในกำปง ศรยุทธมีเรื่องราวมาเล่าไว้ในหนังสือของเขาหลายเรื่อง ผมขอนำมาเล่าสู่กันฟังสัก 3 เรื่อง
เรื่องแรกมีชื่อว่า “มันยากที่จะเป็นนายู” เรื่องที่เล่าเกิดขึ้นในปี 2548 เมื่อบรรยากาศความหวาดระแวงได้ปกคลุมชีวิตประจำวัน ศรยุทธเล่าว่า “ผมกำลังว่ายน้ำในบริเวณชายหาดหน้ากำปง ... ผมเห็นแต่สีแดงระเรื่อในฝั่งตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ที่กำลังตกดิน ... ผมจึงรีบว่ายน้ำขึ้นฝั่ง ... บริเวณชายหาดมีคนรอผมอยู่แล้วสองคน หนึ่งในนั้นพูดแข่งกับเสียงลมที่เริ่มกรรโชก ทำนองให้ผมรีบกลับบ้านทันที เพราะมรสุมกำลังจะเข้า ... ขณะที่ผมวิ่งฝ่าพายุฝนเข้าบ้านพัก มรสุมลูกนั้นได้พัดเข้ามาในบริเวณอ่าว ... ส่งผลให้คลื่นกลืนเรือลำหนึ่งม้วนหายไปต่อหน้าต่อตาชาวประมงทุกคนที่กลับคืนฝั่งทัน ทุกคนยืนยันว่าเห็นเจ้าของเรือลำนั้นกับลูกชายกำลังลอยคออยู่กลางทะเล ... จึงช่วยกันโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากตำรวจน้ำ ซึ่งมีเรือลำใหญ่สามารถต้านลูกคลื่นได้ แต่คู่สายปลายทางพยายามบ่ายเบี่ยงและปฏิเสธการมาช่วยเหลือ ... ทุกคนเห็นชายเจ้าของเรือหมดแรงและถูกคลื่นกลืนหายไปต่อหน้าต่อตา ส่วนลูกชายที่อยู่ในวัยหนุ่มสามารถว่ายกลับขึ้นฝั่งได้อย่างหวุดหวิด ...” ในร้านน้ำชา ชายคนหนึ่งพูดขึ้นด้วยสีหน้ายากจะบรรยายว่า “คนนายูไม่มีสิทธิ์นะสิ ยิ่งคนนายูจน ๆ ยิ่งไม่มีสิทธิ์ ... หากมีเรือใหญ่มาช่วย อย่างน้อยก็น่าจะรอดชีวิต แล้วตอนนี้ ลูกกับเมียของเขาจะอยู่กันยังไง”
เรื่องเล่าต่อไปมีชื่อว่า “ตัดขาดจากความทรงจำ” ศรยุทธเล่าว่า “ผมมีโอกาสได้รู้จักกับก๊ะ (พี่สาว) ระห์ เนื่องจากเธอเป็นสะใภ้ “ออแฆสิแย” (คนสยาม) ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามหลังจากแต่งงานกับลูกชายคนโตของครอบครัวที่ผมขอแบ่งเช่าห้อง ... เธอมักเอ่ยให้ผมฟังถึงความรู้สึกดีใจที่ได้เจอ “ออแฆสิแย” เพราะเมื่อก่อนก๊ะระห์คือ “ออแฆสิแย” แต่ตอนนี้เธอคือ “ออแฆนายู” กระนั้น ญาติพี่น้องฝั่งไทยพุทธของเธอก็ยังไปมาหาสู่กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อใกล้เทศกาลสงกรานต์ ... ทว่า สงกรานต์ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่ไม่มีการเชื้อเชิญจากญาติพี่น้องไทยพุทธ ก๊ะระห์ยังคงปลอบใจตัวเองมาตลอด 3 ปีว่า “เขาคงเป็นห่วงก๊ะมั้ง กลัวว่าเดินทางไป ๆ มา ๆ จะเกิดอันตราย” ... ทว่า สงกรานต์มีเรื่องเล่าว่าวัยรุ่นมุสลิมบางคน แอบไปเล่นน้ำสงกรานต์ที่บ้านชุมชนไทยพุทธ บางคนแอบไปดื่มเหล้ากับญาติมิตรต่างศาสนา และร่วมพูดคุยอย่างสนุกสนานจนต้องค้างแรมอยู่หลายคืนกว่าจะกลับเข้ามาในชุมชนอีกครั้ง วัยรุ่นกลุ่มนี้มักถูกโต๊ะอิหม่ามและโต๊ะครูตำหนิว่าเป็นพวกเกเร ไม่สนใจหลักคำสอนทางศาสนา ขณะที่บรรดาเถ้าแก่หลายคนในชุมชนเตือนผมว่า “แบ (พี่ชาย) อย่าเข้าไปคลุกคลีกับมันเชียวนะ เดี๋ยวของจะหาย เผลอ ๆ มันจะยิงแบตอนไหนก็ไม่รู้” แต่ผมกลับรู้สึกว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้น่าสนใจทีเดียว วัยรุ่นผู้เป็นหัวโจกบอกผมว่า “ญาติห่าง ๆ ที่เป็นไทยพุทธของผมบอกว่า เมื่อก่อนคนนายูตีกลองในขบวนชักพระเก่ง ทำขนมหวานก็อร่อย ปู่ของผมเป็นนายูก็ร้องตะลุงเก่ง แถมยังเข้าทรงได้ด้วย ... ผมคิดว่าจะเรียนศาสนาก็ต่อเมื่อจิตใจของผมพร้อม ... แบก็เอาแต่วิจัย ... รู้มั้ย สาเหตุที่คนมันตายก็เพราะมันชอบแบ่งเป็นพวกนายูกับพวกสิแย อย่างที่แบสนใจนั่นแหละ
ผมมักใช้เวลาบางส่วนไปกับการทำความเข้าใจมุมมองและวิธีคิดของเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ ... รวมไปถึงการเข้าร่วมกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะการเล่นฟุตบอลในช่วงเย็นของทุก ๆ วัน ...
กระทั่งวันหนึ่ง ผมกลับจากไปสัมภาษณ์ผู้อาวุโสคนหนึ่งในเวลาที่สายเกินกว่าจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดกีฬาได้ทัน ผมจึงตัดสินใจไปสนามบอลทันทีทั้งที่นุ่งโสร่ง ... ทว่า ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักก่อนที่ผมจะเลี้ยวรถเข้าไปในสนาม ผมจึงอาศัยศาลาริมทางแห่งหนึ่งเป็นที่หลบฝนชั่วคราว คนที่หลบฝนอยู่ก่อนแสดงอาการหวาดกลัวและหลบไปอยู่อีกมุมหนึ่งของศาลาอย่างเห็นได้ชัด ... ขณะนั้น หมาของคนในกลุ่มได้เดินเข้ามาและพยายามเลียขาผมซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะหลบ จึงยิ่งสร้างความงุนงงให้แก่คนไทยพุทธกลุ่มนี้เป็นอย่างยิ่ง
“เป็นคนไทยใช่ไหม” ชายคนหนึ่งซึ่งแขวนจตุคามรามเทพอยู่เต็มคอ ท่าทางและการแต่งตัวคล้ายตำรวจเป็นคนถามขึ้น เมื่อได้รับคำตอบว่า “ใช่” จากผม
คำถามจำนวนมากได้ประดังเข้ามา อาทิ ทำไมถึงนุ่งโสร่ง มาที่นี่ทำไม นอนที่ไหน มากับใคร ชายผู้แต่งตัวคล้ายตำรวจเริ่มตบปืนที่แนบเอวเบา ๆ บางคนถามออกมาว่า ทำไมมาอยู่กับมุสลิม ที่นี่ไม่มีใครเขาไว้ใจโจรหรอก กลับบ้านไป ไม่ต้องกลับมา บางคนมอบให้ผมเป็น “ไอ้ไทยทรยศ” และมีอยู่คนหนึ่งทำท่าจะสั่งหมาตัวเดิมให้เข้ามากัดผม ... ชายคนหนึ่งพยายามไล่ให้ผมออกไปโดยไร้เยื่อใย ขณะที่กำลังตัดสินใจก้าวขาออกไปจากศาลา ผมพลันคิดขึ้นได้ว่า ชะตาของผมในวันนี้เกิดขึ้นมาจากการขีดเส้นแบ่งทางชาติพันธุ์ สัญลักษณ์อย่างโสร่งกลายเป็นตราประทับ “ความเป็นมุสลิม” เพียงหนึ่งเดียวซึ่งดึงความไม่ไว้วางใจออกมาอย่างตัดขาดจากสายสัมพันธ์ในอดีต เมื่อก่อนคนไทยพุทธก็นิยมนุ่งโสร่งและไปมาหาสู่กับมุสลิมอยู่เสมอ
เรื่องสุดท้ายที่จะขอเล่ามีชื่อว่า “(ภูมิปัญญา)ท้องถิ่นกับการจัดการความขัดแย้ง” องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งเข้ามากระตุ้นให้สมาชิกในชุมชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มสหกรณ์และกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อจัดการเงินที่ต้องกู้ยืมจากรัฐบาลอีกทอด จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มซึ่งมีทัศนะต่างกันในการบริหารจัดการเงิน เมื่อเงินก้อนแรกอนุมัติสำหรับจัดซื้อที่ดินและปลูกสร้างที่อยู่อาศัย แกนนำของคนกลุ่มแรกเสนอว่าควรให้สหกรณ์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหม่ ดีกว่าจัดเป็นแปลง ๆ ที่เอกชนถือกรรมสิทธิ์ เขายังเสนอให้เน้น “วิถีเรียบง่าย” เช่น บ้านต้องเป็นบ้านไม้ทรงท้องถิ่น ไม่มีรั้ว และต้องมีพื้นที่ใช้สอยสาธารณะ เป็นต้น
แกนนำของกลุ่มที่สองคนหนึ่งเสนอ “วิถีครอบครัว” ให้แต่ละครอบครัวถือกรรมสิทธิ์ที่จะส่งต่อถึงลูกหลานได้ กติกาในการสร้างบ้านต้องยืดหยุ่นได้ การแบ่งเนื้อที่ของที่ดินให้เป็นไปตามความสามารถในการผ่อนชำระเงินที่กู้ผ่านสหกรณ์ หลังการโต้เถียงกันเดือนกว่า ก็ได้ข้อยุติซึ่งประสมทั้งสองแนวทางเข้าด้วยกัน คือ แบ่งที่ดิน 1 ใน 3 เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ห้ามสร้างรั้ว เจ้าของบ้านจะปลูกบ้านทรงใดก็ได้ การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคอยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มที่สองจะช่วยจัดหาวัสดุก่อสร้าง โครงการได้ดำเนินไปท่ามกลางข่าวลือว่าอีกฝ่ายหนึ่งโกงบัญชีและยักยอกเงิน ฯลฯ
แต่อันที่จริง สมาชิกของทั้งสองฝ่ายมีเงินไม่เพียงพอสำหรับผ่อนชำระคืนรัฐบาลในแต่ละเดือน ซ้ำร้าย โครงการไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณก้อนถัดไป เพราะประเมินว่าการเงินไม่ผ่านเกณฑ์ โดยเฉพาะเกณฑ์การชำระหนี้รายเดือน ทำให้สมาชิกหลายคนต้องกู้เงินจากบรรดาเถ้าแก่ในกำปงเพื่อนำมาชำระหนี้
บ้านผมได้กลายเป็นสถานที่ที่คนทั้งสองกลุ่มต่างแวะเวียนมาระบายความรู้สึกให้ผมฟังแทบทุกวัน ผมเริ่มรู้สึกอึดอัดเพราะคนทั้งสองกลุ่มล้วนเคยช่วยเหลือผมในยามเก็บข้อมูลเท่า ๆ กัน ทั้งยังไม่เคยแบ่งเป็นสองกลุ่มในลักษณะนี้มาก่อน ผมจึงนัดทั้งสองฝ่ายเพื่อชี้แจงให้ทราบว่า ผมไม่ต้องการเป็นที่ระบายทุกข์อีกต่อไป พอถึงวันนัด มีตัวแทนของสองกลุ่มประมาณ 6 คนมาพบผม เป็นชายล้วน ท่าทางจริงจัง ชวนให้จินตนาการถึงการวิวาทกันด้วยกำลัง ผมอธิบายว่า “ผมไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครถูก ใครผิด ผมเป็นคนนอก ทุกคนให้ความช่วยเหลือผมมาตลอด ทำไมแบไม่ให้สภาซูรอ (มักประกอบด้วย โต๊ะครู โต๊ะอิหม่ามและผู้อาวุโสที่เป็นที่เคารพนับถือในกำปง) หรือโต๊ะอิหม่ามเป็นคนตัดสินล่ะ” ท่ามกลางการยืนกราน “ของดออกเสียง” ของผม สถานการณ์เริ่มไม่สู้ดี ชายทั้ง 6 คนทุ่มเถียงกันเองถึงขั้นออกอาการท้าตีท้าต่อย ชายคนหนึ่งขว้างรองเท้าไปถูกหัวของอีกฝ่ายหนึ่ง แม่บ้านในบริเวณข้างเคียงตะโกนเรียกให้คนเข้ามาช่วยผมแยกคนทั้งสองกลุ่มออกจากกัน พ่อค้าปลาซึ่งเพิ่งเข็นรถเข้ามาลานบ้านสบถออกมาดัง ๆ ถึงความไม่มีหลักศาสนาอยู่ในหัวใจ ผมได้ยินแว่ว ๆ ถึงการใช้สันติวิธี การประนีประนอม และการมอบความรักแก่กัน
ตลกร้ายคือ 2 ใน 6 คนนี้ คนหนึ่งเป็นครูสอนศาสนาในกำปง ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นสมาชิกในสภาซูรอ
ผมเขียนบทความนี้ด้วยความเชื่อว่าคนคนหนึ่งมีหลายอัตลักษณ์ เป็นสมาชิกในหลายกลุ่ม มีบทบาทหน้าที่ต่างกันในต่างกรรมต่างวาระ แต่พอมีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทถึงขั้นรุนแรง จะถืออัตลักษณ์เชิงเดี่ยวที่ทำให้เห็นว่าคนที่ถืออัตลักษณ์ขัดแย้งในเหตุการณ์เป็นศัตรู เรื่องเล่าเรื่องแรกชวนให้สันนิษฐานว่าตำรวจน้ำคนที่อยู่เวรยาม เห็นว่าไม่ควรต้องลำบากลำบนไปช่วยคนที่ถืออัตลักษณ์นายู
ในเรื่องเล่าเรื่องที่สอง ชาวไทยพุทธกลุ่มหนึ่งเห็นควรขับศรยุทธ์ออกจากศาลาท่ามกลางสายฝน เพราะทรยศอัตลักษณ์สิแยโดยการสวมโสร่ง
ส่วนเรื่องที่เพิ่งเล่านี้ ชาวนายูด้วยกัน พอฝ่ายหนึ่งถืออัตลักษณ์ “วิถีเรียบง่าย” ส่วนอีกฝ่ายถืออัตลักษณ์ “วิถีครอบครัว” ที่ต่างก็สมมุติขึ้นท่ามกลางความยากจนและการขาดแคลน พวกเขาก็พร้อมที่จะประทุษร้ายกัน และโยนตำนานเรื่อง “ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการความขัดแย้ง” ทิ้งไป
หนังสือ “มลายูที่รู้สึก” ยังมีเรื่องเล่าและบทความที่น่าสนใจ ควรแก่การหามาอ่านอีกหลายเรื่องหลายบท และจะเป็นการช่วยสนับสนุนปาตานีฟอรัม ให้พิมพ์หนังสือดี ๆ มาให้อ่านกันอีกหลาย ๆ เล่ม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "น้ำท่วม" ลพบุรี อ.ลำสนธิ จมบาดาล ระดมกู้ภัยอพยพชาวบ้าน
- "ภัยสังคม" ยุคโควิด ทำชีวิตคนไทยย่ำแย่ ทั้ง "ยากจน ว่างงาน ภัยออนไลน์"
- เช็คเลย "ลงทะเบียนเกษตรกร" ที่ได้รับผลกระทบจากการปิด ตลาดสุรนารี
- เช็คจังหวะก้าว"คุณหญิงสุดารัตน์" ตัวแปรทางการเมือง
- "สินเชื่อบัวหลวงสุขใจ" ให้ยืม 50,000 ผ่อนเดือนละ 1,400 บาท เงื่อนไขสมัครคลิก