เดือน"ตุลาอาถรรพ์" จ้องเขย่าซ้ำเก้าอี้นายกฯ ลุงตู่
เข้าสู่ เดือนตุลา มีหลายเหตุการณ์ทางการเมืองควรรำลึก ทว่า ขั้วไม่เอา "ลุงตู่" จุดพลุ"ตุลาอาถรรพ์" หวังหาทางเชื่อมโยงเขย่าเก้าอี้นายกฯ แม้ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล เจาะประเด็นร้อน / อสนีบาต
ตอนนี้คนการเมืองและผู้ที่สนใจความเป็นไปของไทยทั้งในและนอกประเทศ จับอาการ 3ป. "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม , "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ "รองนายรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ,"พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา "รมว.มหาดไทยว่า จะวางจังหวะการเมืองอย่างไร ด้วยสถานการณ์ที่กำลังก้าวข้ามกันยายนเข้าสู่ตุลาคม ตามที่ขั้วตรงข้ามขีดเส้นนี่คือ"ตุลาอาถรรพ์"
อย่าได้แปลกใจอาการของฝ่ายบริหาร ทั้ง 3 ป. และพลพรรคต้องปรับตารางลงพื้นที่หลายจังหวัดเพื่อตรวจราชการ,ดูความคืบหน้าการรักษาโรคโควิด-19,กระชับสัมพันธ์ผู้แทนฯ พปชร.
ยิ่งตอนนี้กระแสลมและพายุฝนกำลังกระหน่ำหลายพื้นที่(ไม่แพ้มรสุมการเมืองในค่ายพปชร.ในช่วงนี้) ตรงนี้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยพลัน เพราะหากยังเกิดรอยปริใหม่ปรากฏในห้วงนี้ กระแสนิยมของพปชร.ในฐานะแกนนำตั้งรัฐบาลชุดนี้ รับรองไปไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี-หนีไม่พ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนการเมืองจากขั้วตรงข้ามรัฐบาลผสมโรงขย้ำกระแสรอยแตกของพปชร.เรื่องยุบสภาอยู่เนืองๆ หลังกระแสข่าวนี้กระพือ-ดับลง-กระพือใหม่เป็นระยะเกี่ยวกับอายุรัฐบาลจะยุบสภาปีหน้า-ปีโน้น-ครบวาระสี่ปี
เพราะมักมีข่าวว่าพ่อบ้านพรรคพลังประชารัฐที่ชื่อ "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" ย้ำกับส.ส.พปชร.ว่า"ต้องเตรียมตัวลงพื้นที่ให้ดีเพราะปี 2565น่าจะยุบสภา และไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปขายชาวบ้าน ดีไม่ดีจะแพ้พรรคก้าวไกล"
แต่กระบอกเสียงรัฐบาลที่ชื่อ"ธนกร วังบุญคงชนะ" ให้การย้อนแย้งกับสิ่งที่"ผู้กองตุ๋ย"สื่อความว่า "ลุงตู่อยู่ครบสี่ปี" ส่วน"ลุงป้อม"ในฐานะเบอร์หนึ่งของ3 ป.ก็บอกแบบงงๆว่า"เลือกตั้งปีหน้า เอ้ย..ปีนู้น"
แบบนี้..ควรฟังและเชื่อใครดีกว่ากัน
แต่หากมองจากปฏิทินการเมืองตั้งแต่"เดือนตุลาคม"เป็นต้นไปนั้น ความเป็นไปได้จะเป็นอย่างไรกับการอ่านใจการเดินหมากการเมืองของหัวหน้ารัฐบาลชุดนี้ ต้องประเมินเคียงคู่ไปด้วย เริ่มตั้งแต่.......
การขยับของมวลชนนอกสภาและในโลกออนไลน์ที่ต่อต้าน"ลุงตู่" แน่นอน กลุ่มมวลชนใช้วิธีการกางปฏิทิน เฟ้นหาวาระสำคัญของเดือนนั้นๆปีนั้นๆ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ล้มรัฐบาลแบบเดิมๆ
อย่างเดือนตุลา จะมีกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไปถึงการรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งกลุ่มนักศึกษามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร แน่นอน ย่อมมีมีการนำเหตุการณ์เหล่านี้มาใช้เคลื่อนไหวให้โยงถึงรัฐบาลปัจจุบัน และเป็นที่แน่ชัดอยู่แล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคยฝากความทรงจำปักหมุดชุมนุมใหญ่พ่วงกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันก็ล้วนเกิดขึ้นครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคมปี 2563 จึงต้องมาในแนวรำลึกครบรอบ 1 ปี การชุมนุมใหญ่ "ตุลาอาถรรพ์"
แต่อย่าลืมว่า สภาพของการรวมตัวเคลื่อนไหวถูกลดทอนในตัวเองไปมากอันเนื่องมาจากการสร้างภาพจำให้สังคมเห็นแต่นิยมความรุนแรงซึ่งเป็นผลงานของกลุ่มคนบางกลุ่ม ไร้ซึ่งอุดมการณ์ประชาธิปไตยกระทบไปถึงการเคลื่อนไหวมวลชนในภาพรวมไปด้วย
อีกทั้ง สภาพการขับเคลื่อนของกลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภาที่อาจไม่ได้เรียนรู้ซึ้งถึงความสำคัญของเหตุการณ์ทางการเมืองในยุคอดีตอย่างแท้จริง ยิ่งทำให้ขาดความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวเกิดภาวะแผ่วลงเรื่อยๆ เพราะสังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับวิธีรุนแรงและแกนนำ-ผู้ชุมนุมทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหากันเรื่อยๆ แบบนี้ก็เข้าทาง "ลุงตู่"ที่จะคุมสถานการณ์ป่วนเมืองจากขั้วตรงข้ามได้ง่ายขึ้น
การเลื่อนการเปิดประเทศภายใน 120 วันที่(เริ่มวันที่16มิ.ย.-สิ้นสุดวันที่13ต.ค.2564)และไม่นานมานี้จะครบกำหนดวันเวลาดังกล่าวแล้ว แต่ประเมินแล้วน่าจะขยายเวลาไปอีกเพราะบางอย่างยังไม่พร้อมเท่าที่ควร รวมทั้งการคลายล็อกในบางเรื่องให้สังคมจัดกิจกรรมได้บ้าง แต่ต้องดูการฉีดวัคซีนและการระบาดของไวรัสโควิด-19เคียงคู่กันว่าจะคุมได้ตามเป้าหรือไม่
1ตุลาคม งบประมาณรายจ่ายประจำปี2565 เริ่มบังคับใช้ และการขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 70% เพื่อเตรียมการกู้เงินต่อหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะครั้งนี้เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล ในกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังในการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ซึ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาปี 2564 รัฐบาลได้ใช้จ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19มาส่วนหนึ่งแล้ว
ตรงนี้เชื่อว่าไม่ว่าใครมาเป็นแกนนำรัฐบาลต้องเลือกวิธีนี้แก้ปัญหาการเงิน/การคลังของประเทศ และรอว่า"ลุงตู่"จะกู้เงินก้อนใหม่หรือไม่และจะมีแผนช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายพัฒนาประเทศในยุคโควิด-19ระบาดทั่วโลกอย่างไร
"1ตุลาคม" คือวันเริ่มงานของข้าราชการ-ทหาร-ตำรวจที่เป็นไปตามโผที่"ลุงตู่"และทีมงานวางไว้แบบไม่แปรเปลี่ยน ตรงนี้จะเป็นกำลังหลักของรัฐบาลในการเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ
ตุลาคมเป็นต้นไปต้องติดตามว่า จะมีการปรับปรุงครม.หรือไม่หลังจาก"ร.อ.ธรรมนัส" พ้นเก้าอี้รมช.เกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว รวมทั้งดร.แหม่ม" นฤมล ภิญโญสินวัฒน์"ก็จากเก้าอี้รมช.แรงงานไปเพราะเหตุ "กบฏ4กันยา" ตอนนี้สื่อบางแขนงมีรายงานแรงขยับในพปชร.เกี่ยวกับครม.ชุดใหม่เสนอต่อสังคมเป็นระยะ แต่มองแล้ว"ลุงตู่"น่าจะยังสงบในวาระนี้จนกว่าจะเช็คบิลขบวนการล้มรัฐบาลให้เสร็จสิ้นก่อน
ตุลาคมเป็นต้นไปต้องลุ้นว่า กรณีที่ "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ " อดีตส.ว.และสมาชิกพรรคพปชร.จุดประเด็นว่ากรณีที่รัฐสภาลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้วนั้น เมื่อมาตรวจสอบพบว่า บทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ อาจมีความขัดแย้งกับบทบัญญัติเดิม บางมาตรา ตรงนี้ต้องลุ้นว่าจะออกหัว-ออกก้อย เพราะหากมีการตีความว่า ขัดหลักการที่เสนอไว้ กติกาเดิมคือรัฐธรรมนูญ2560ก็จะไร้การแก้ไข ตรงนี้จะมีผล อย่างไรกับทุกพรรค...
"ตุลาคม"เป็นต้นไป ฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่มีการลงมติ และรอถึงกลางปีหน้าจึงจะเปิดศึกซักฟอกรัฐบาลแบบลงมติได้เป็นวาระสุดท้าย
เมื่อบวกกับสิ่งที่"สุทิน คลังแสง "ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย จุดวาระใหม่ขึ้นมาในกรณีที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
โดยหากนับการดำรงตำแหน่งของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 จะครบ 8 ปี ในปี 2565 ว่า ประเทศไทยก็มักจะตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัยเยอะ จึงทำให้มีการตีได้ 2 แนวทาง คือ 1.การดำรงตำแหน่งนายกฯ จะมีผลตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้เป็นต้นไป หากตีความแบบนี้จะหมายความว่าไม่นับรวมอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนปี 2560 ดังนั้นจะครบ 8 ปีในปี 2567
และ 2.ตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือต้องนับอายุการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เป็นนายกฯ เป็นต้นมา ซึ่งก็คือจะครบ 8 ปี ในเดือนสิงหาคม 2565
รอดูว่าจะมีการตีความอย่างไรกับเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
แต่มองแล้วฝ่ายวินิจฉัยน่าจะตีความว่า มาตรานี้แห่งกฎหมายหลักของประเทศ มีผลใช้บังคับตั้งแต่ประกาศบังคับใช้ และไม่ส่งผลย้อนหลัง....ซึ่งทำให้การจุดพลุหวังเปิดประเด็นใหม่ของฝ่ายเพื่อไทย กลายเป็น"มุขแป้ก"ไปก็ได้
เอาหล่ะ ข้ามถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน คือวันเลือกตั้งอบต.ทั่วไทย กว่า5.3 พันแห่ง ที่จะเป็นจุดวัดดวงว่าพรรคใดจะครอบพื้นที่ระดับเซลล์ต้นทางการเมืองและวัดกระแสของแต่ละพรรคไปขั้นต้นด้วย และจากนั้นรอลุ้นว่าการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาและผู้ว่าฯกทม.จะเริ่มเมื่อใด
ธันวาคมปีนี้-ปีหน้า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค และใครบางคนไม่ลืมว่าครั้งก่อนหน้านั้นที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับโลกเวทีนี้" ทักษิณ ชินวัตร" อาศัยจังหวะนี้โกยแต้มไปแบบมโหฬารจนก่อเกิดกระแสไทยรักไทยฟีเวอร์(บวกกับผลงานอื่นๆของรัฐบาลไทยรักไทยชุดที่1ด้วย) จนตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จากการเลือกตั้งหลังการประชุมคราวนี้
แม้คราวนี้"ลุงตู่"จะจัดประชุมแบบเว้นระยะห่าง(วิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นหลัก) แต่ด้วยฐานะเจ้าภาพต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
แบบนี้โอกาสยุบสภาก่อนนั้น น่าจะมีน้ำหนักน้อยเพราะประเทศเจ้าภาพนั้นควรเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ควรเป็นรัฐบาลรักษาการหรือรัฐบาลชั่วคราว
รัฐบาลจะครบวาระสี่ปีช่วงมีนาคม2566 หากสถานการณ์หลักของรัฐบาลไม่กระเพื่อม โอกาสที่"ลุงตู่"จะอยู่ยาวมีสูงอยู่ เว้นแต่มีปัจจัยแปรผันขั้นรุนแรงที่จะปัดรัฐนาวาลำนี้ให้ล่มกลางทาง
ดังนั้นหากใครสวมวิญญาณ"ลุงตู่"ในการนั่งเเท่นสร.1ยามนี้น่าจะทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองให้รอบด้าน เพราะบทเรียนจากอดีตนายกฯเเต่ละชีวิตในช่วงปลายรัฐบาลนั้น ต้องคิดให้รอบคอบเพราะเเต่ละคนบทปิดฉากเเตกต่างกันยิ่งนัก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เช็คเลย 1ตุลานี้ ศบค. ลด "เคอร์ฟิว" กี่โมง ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน
- คอมเมนต์สนั่น คนโคราชเดือด สวน ชลประทาน โต้ปม "อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร" แตก
- "น้ำท่วม" หลายพื้นที่ ประสบการณ์10 ปี ช่วยไม่ได้
- ศบค. เห็นชอบ "ลดวันกักตัว" เหลือ 7 วัน เฉพาะต่างชาติที่วัคซีนครบโดส
- กทม.เฝ้าระวังน้ำเหนือสูงสุด หลังระดับน้ำใน "เขื่อนเจ้าพระยา" เพิ่มสูง