คอลัมนิสต์

"วัดค่าพลัง" 3พรรคการเมือง โอกาสและความเป็นไปได้บนสมรภูมิการเมืองเดือด

"วัดค่าพลัง" 3พรรคการเมือง โอกาสและความเป็นไปได้บนสมรภูมิการเมืองเดือด

06 ต.ค. 2564

"วัดค่าพลัง" จุดเด่นจุดด้อย 3พรรคการเมือง ชนิดปอนด์ต่อปอนด์ เพื่อไทย ภายใต้แรงหนุนโทนี่ วู้ดซั่ม ขณะที่พลังประชารัฐ ภายใต้ บิ๊กป้อมออกมาประกาศหนุน "ลุงตู่" เป็นนายกฯ ขณะที่ ก้าวไกล เลือดไหลไม่หยุด แถมติดกับดักตัวเองจากนโยบายปฏิรูปสถาบัน /เจาะประเด็นร้อน อสนีบาต

ส่องดูจุดเด่นจุดด้อย 3พรรคการเมืองใหญ่ ภายใต้สถานการณ์แต่ละพรรคการเมืองมีการเคลื่อนไหวรายวันแบบไม่อาจคลาดสายตา 

 

แน่ชัดขั้นต้นแล้วว่า นาทีนี้"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังอยู่ในแคนดิเดต สร.1 โควต้าพรรคพลังประชารัฐต่อไป  "พร้อมเดินหน้าทำงาน-ยังไม่ปรับครม.-ไร้สัญญาณยุบสภา-จูบปากกับพรรคประชาธิปัตย์" โดยคืนสี่หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯไปอยู่ในกำกับดูแลของ "จุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์ " รองนายกรัฐมนตรีและพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคปชป.ตามเดิม

 

สื่อสายทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า "ลุงตู่" เคลียร์ใจกับ" ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐจบก่อนที่จะออกคำสั่งสร.1คืนงานสี่หน่วยงานจากที่เคยมอบให้"ลุงป้อม" รับไปดูแลเมื่อไม่กี่วันก่อนไปให้พรรคสีฟ้าดูแลตามเดิม ตรงนี้รอยร้าวรัฐนาวาน่าจะอุดไปได้ระดับหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศความมั่นใจพลิกฟื้นประเทศ

 

แต่...สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจตามกระแสข่าวที่บังเกิดในการประชุมครม.นัดล่าสุดคือ  วาทะของสร.1ซึ่งระบุว่า"“ยินดีและขอบคุณที่ พปชร.ให้ความไว้วางใจ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งในครั้งหน้า”  และ "นายกฯ ย้ำว่ายังไม่มีการปรับ ครม. โดยรัฐบาลยังทำงานร่วมกันตามปกติ ขอบคุณ ครม.ที่ได้ร่วมงานกันมากว่า 2 ปี 3 เดือน และยืนยันไปแล้วว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลยังทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 น้ำท่วม และปัญหาความยากจน"  

 

ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องลอยๆเพราะมาจากปากของนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล

 

แสดงว่าเกมรบบนเรือเหล็กบรรเทาลงไปขั้นหนึ่ง-ลดแรงปะทะการแยกขั้วตั้งพรรคใหม่ของ3ป.บางคนที่ต่างชู"ลุงตู่" เป็นสร.1   ฉะนั้นเวลาที่เหลืออีก 21 เดือน(นับถึงวันที่22มี.ค.2566  ครบอายุการทำงานสี่ปีของรัฐบาลชุดนี้) " ลุงตู่" มีเวลาทำงานและเหลือเฟือที่จะตัดสินใจทางการเมืองได้ว่า"จะกดปุ่มยุบสภา"วันไหน?

 

แม้ตอนนี้จะมีข้อกังขาเรื่อง"อายุการทำงานของลุงตู่บนเก้าอี้สร.1"ตามที่กติกาหลักของบ้านเมืองวางไว้ว่า"อยู่ได้ไม่เกินแปดปีติดต่อกันนั้น การนับวันแรกจะยึดวันที่เท่าใดและสิ้นสุดเมื่อใด?แต่ตรงนี้คงไม่ใช่ปัญหาหลักของ"ลุงตู่"เท่าใดนัก

 

เพราะอย่าลืมว่าธันวาคมปีนี้-ธันวาคมปีหน้า "ไทยแลนด์"จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ดังนั้น"ลุงตู่"น่าจะคำนวณห้วงเวลาไว้ในใจแล้วว่า "ภารกิจนี้ต้องลุล่วงเพื่อชื่อเสียงของประเทศ"ภายใต้การกำกับดูแลของลุงตู่ และเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมแล้วนั้นช่วงนั้น สังคมน่าจะทราบวี่แววว่าการกดปุ่มยุบสภาจะเกิดขึ้นเมื่อใด....

 

เมื่อสภาพการณ์การเมืองไทยบนปฏิทินเบื้องต้นเป็นแบบนี้ ก็มองข้ามช็อตไปเลยว่า ขั้วรัฐบาล-ฝ่ายค้านมีอะไรต้องทำบ้าง....กับเวลาที่มีอยู่ 

 

รัฐบาลมีการบ้านอ่วมจากภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ตอนนี้และวันข้างหน้า  บวกกับการรับมือโควิด-19ที่ค่อนข้างเบาใจลงระดับหนึ่งนั้น แต่ยังวางใจมากนักไม่ได้  แต่หากมองอย่างเป็นธรรมสองปีเศษที่ผ่านมา

"รัฐบาลสอบผ่านแบบเจ็บตัวหนัก" เพราะกลายเป็นว่านโยบายรัฐบาลที่ประกาศไว้นั้น ขับเคลื่อนได้ไม่มากนัก แต่ภัยรายวันที่โถมเข้ามาจนเกิดความเสียหายและกว่าจะแก้ไขได้ก็เล่นเอาน่วม-เสียรังวัดไปพอสมควร

 

 

 

ฝ่ายค้านมีสองเวทีหลักที่จะจัดหนัก-จัดเต็มครม.ชุดนี้ โดยทราบกันคร่าวๆแล้วว่า เดือนพ.ย.ปีนี้ ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติและกลางปีหน้าคือเวทีถล่มรัฐบาลในศึกซักฟอกหนสุดท้ายของสภาผู้แทนฯชุดที่25 ที่น่าจะทิ้งระเบิดใส่เรือเหล็กให้รั่วและล่มโดยพลัน

 

ตรงนี้คือการวัดความพร้อมของแต่ละพรรคว่าเวลา 21เดือนที่มี(อ้างอิงตามตารางเวลาปกติของอายุรัฐบาลสี่ปีแต่อาจจะเกิดเหตุพลิกผันทางการเมืองได้) นั้น  พรรคต่างๆจะขยับอย่างไรกับการดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมือง  -การขายผลงานพรรคห้วงที่ผ่านมา-การลงพื้นที่ให้ชาวบ้านร้านตลาดจำชื่อพรรคและหน้าตาของว่าที่ผู้สมัครส.ส.ในครั้งหน้า-การอัดกลับคู่แข่งให้น่วมเพื่อแจ้งสังคมให้รับรู้จุดอ่อนว่าครั้งหน้าอย่าเลือก...

 

หากหันมาเหลียวมองจุดแข็ง-จุดอ่อนของพรรคใหญ่ที่น่าจะมีอิทธิพลทางใดทางหนึ่งในศึกเลือกตั้งครั้งหน้ากันแบบรอบด้านนั้น

 

ถึงบรรทัดนี้ ขอให้น้ำหนักไปที่ 3 พรรค ตัวแปรหลักการเมืองไทย คือ"พรรคพลังประชารัฐ  พรรคเพื่อไทย   พรรคก้าวไกล"ว่าจากนี้ไป   บทบาทและโอกาสบนสนามการเมืองจะส่งผลอย่างไรกับประชาธิปไตยวันข้างหน้า

\"วัดค่าพลัง\" 3พรรคการเมือง โอกาสและความเป็นไปได้บนสมรภูมิการเมืองเดือด

เริ่มต้นที่"พรรคเพื่อไทย" แกนนำฝ่ายค้าน จุดแข็งของพรรคเพื่อไทยนั้นคือชนะเลือกตั้งมาห้าสมัยรวด(พรรคไทยรักไทยสองครั้งในการเลือกตั้ง6 มกราคม 2544 และ 6 กุมภาพันธ์ 2548   ต่อมาทรท.โดนยุบและกลายสภาพเป็นพรรคพลังประชาชน   พปช.คว้าชัยในการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม  2550  

 

แต่จากนั้นพปช.เจอพิษเดียวกับทรทจนแปรสภาพเป็นพรรคเพื่อไทย   โดยพท.ชนะการเลือกตั้งสองครั้ง คือ 3 กรกฎาคม 2554 และ 22 มีนาคม 2562)   แปลว่าพรรคที่"โทนี่ วู้ดซัม"หนุนนั้นสามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้สี่ครั้ง     เว้นแต่ศึกหย่อนบัตรครั้งสุดท้ายที่แม้จะได้ส.ส.อันดับ1 แต่เสียงสนับสนุนในการตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคพลังประชารัฐนั้นพ่ายไป เพราะพปชร.รวบรวม 19 พรรคชู"ลุงตู่"เป็นสร.1 ด้วยคะแนนของสมาชิกรัฐสภา(ส.ส.และส.ว.ลงมติ)  500 เสียง ต่อ 244 เสียง งดออกเสียง 3

............................................

หมายเหตุ  19 พรรคการเมือง และ วุฒิสภา ประกอบด้วย
•ส.ว. 249 เสียง โดย นายพรเพชร ในฐานะ รองประธานรัฐสภา งดออกเสียง


•พลังประชารัฐ 116 เสียง
•ประชาธิปัตย์ 51 เสียง
•ภูมิใจไทย 50 เสียง
•ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง
•รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง
•ชาติพัฒนา 3 เสียง
•พลังท้องถิ่นไทย 3 เสียง
•รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง
•พลังชาติไทย 1 เสียง
•และ "พรรคจิ๋ว" อื่น ๆ อีก 10 เสียง


พรรค ที่ยกมือสนับสนุน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แทน)  รวม 244 เสียง ได้แก่

 

•เพื่อไทย 136 เสียง
•อนาคตใหม่ 79 เสียง
•เสรีรวมไทย 10 เสียง
•ประชาชาติ 7 เสียง
•เศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง
•เพื่อชาติ 5 เสียง
•พลังปวงชนไทย 1 เสียง

 

และยิ่งเลิกยุทธการ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย"(ไม่มีพรรคสาขาคือ ไทยรักษาชาติอย่างเป็นทางการ แต่มีพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รวมทั้งพรรคเส้นทางใหม่ของจาตุรนต์ ฉายแสงเป็นว่าที่พันธมิตร)แล้วนั้น "โทนี วู้ดซั่ม"คงมองแล้วว่างวดหน้าอย่างไรเสียหวยก็ออกที่เพื่อไทย  โดยเฉพาะภาคเหนือ-อีสาน ที่เป็นขุมคะแนนหลักให้พท.  ขณะที่ภาคกลาง-กทม.นั้น สัดส่วนนี้พท.น่าจะตีพื้นที่ที่เสียไปกลับมาได้บ้าง ส่วนปักษ์ใต้นั้นพท.น่าจะไม่หวังอะไรนอกจากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์

 

แต่ต้องไม่ลืมว่า สองพรรคที่คุณหญิงหน่อยและอ๋อย แปดริ้วแยกตัวมาจากพท.นั้นอาจจะแชร์คะแนนพท.ไปในระดับหนึ่ง  แต่อย่างไรเสีย หากจับอาการของ"โทนี วู้ดซั่ม" รวมทั้งการเดินเกมภายใต้แนวคิดของคนเดือนตุลาสายชินคอร์ปเพื่อเสริมจุดแข็งและกลบจุดอ่อนนั้น พลพรรคนิยม "แม้ว  สันกำแพง" ก็ยังมั่นใจว่าพท.น่าจะยืนหนึ่งในสนาม เว้นแต่จะสะดุดยอดหญ้าเท่านั้นที่จะทำให้โอกาส"ดับเบิ้ลแฮททริค"(ชนะเลือกตั้งหกครั้งติดต่อกัน)ไม่เกิดขึ้น 

 

หากใกล้วันเลือกตั้งแล้วนั้น วันข้างหน้าจะมาฉายภาพว่าโอกาสที่พท.จะชนะเลือกตั้งสมัยที่หกเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด....

\"วัดค่าพลัง\" 3พรรคการเมือง โอกาสและความเป็นไปได้บนสมรภูมิการเมืองเดือด

 

"พรรคก้าวไกล" ภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ตอนนี้เดินสายต่างจังหวัดเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส.ในบางพื้นที่  โดย"หัวหน้าพรรคก้าวไกล"มั่นใจว่า งวดหน้าพรรคทายาทของพรรคอนาคตใหม่ได้เกิน100ส.ส. และโอกาสของพรรคสีส้มรุ่นสองก็ใช่ว่าจะไม่มีลุ้น... เพราะคราวนี้เวลาในการคัดผู้สมัครส.ส.มีมากกว่าเมื่อครั้งพรรคอนาคตใหม่ส่งคนลงสนาม

 

ทราบมาว่าก้าวไกลถอดโมเดลการทำงาน+ลงพื้นที่พบมวลชนของพิธานั้น คล้ายช่วงที่"ทักษิณ ชินวัตร "เปิดตัวพรรคไทยรักไทยแทบทุกอย่าง  โดยพื้นที่เป้าหมายที่พรรคนี้หวังได้ผู้แทนฯระบบเขตคือ "เขตที่มีคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง-เขตที่มีสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่-เขตอำเภอขนาดใหญ่ และเริ่มเจาะแต้มชนชั้นรากหญ้าเข้ามาในภารกิจใหม่" โดยหวังแชร์คะแนนจากคนกลุ่มนี้ในสังคมเพิ่ม 

 

ดังนั้น"พรรคก้าวไกล"จะเป็นหนึ่งตัวแปรที่ดึงคนชิงชังพรรคร่วมรัฐบาลและแบ่งแต้มจากเพื่อไทยในฐานเสียงเดียวกัน  

 

แต่อย่าลืมกระแสเชิงลบที่พรรคนี้หนุนม็อบสามนิ้วที่กระทำการล่วงเกินหลายอย่างนั้นอาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ "พิธา"ไม่ถึงฝั่งฝันได้หากมีการหยิบมาจารนัยให้สังคมรับรู้ช่วงโค้งสุดท้ายการหาเสียง  อีกทั้งภายในพรรคก้าวไกล ก็ไม่ใช่นิ่งเสียทีเดียว ยังคงมีกระแสเลือดไหลออกอย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุด กรณีของ วินท์  สุธีรชัย ประกาศลาออกจากส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อไปร่วมกับกลุ่มแนวคิดใหม่จัดตั้งพรรคการเมือง เพราะไม่อาจทนอยู่กับ ก้าวไกลที่ติดกับดักนโยบายปฏิรูปสถาบัน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับกลุ่มงูเห่าภายในพรรค ที่พร้อมจะไป ก็อาจทำให้ "ก้าวไกล จะไปได้ไม่ไกล" หากไปปรับปรุงทิศทางพรรค 

\"วัดค่าพลัง\" 3พรรคการเมือง โอกาสและความเป็นไปได้บนสมรภูมิการเมืองเดือด

ส่วนพรรค "พปชร."ในฐานะแกนนำตั้งรัฐบาล ตอนนี้"กระแสป่วน-แตกร้าวในพรรคยังอึมครึม" เพราะศึกในพรรคของแต่ละมุ้งยังไม่ยุติแบบเป็นทางการ    แม้"ลุงตู่" ยืนยันชัดว่ายินดีที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯในนามพปชร.แต่พ่อบ้านพรรคที่ชื่อ"ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า"ยังคงมีท่าที"ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ"กับ"ลุงตู่" เพราะตั้งแต่โดนปลดจากรมช.เกษตรฯนั้น ผู้กองตุ๋ยมิเอ่ยถึงหัวหน้ารัฐบาล-รัฐบาลเรือเหล็กอีกเลย  เพราะ" ร.อ.ธรรมนัส"เน้นย้ำการสร้างพรรคให้เข้มแข็ง และตอนนี้"ร.อ.ธรรมนัส" กำลังเล่นบทพระเอกลับลุยน้ำท่วมช่วยชาวบ้าน บนวาทะ"อย่าบอกว่าผมคือใคร" โดยโลกออนไลน์คอมเมนท์กันสนั่นเมืองว่า"ไม่เนียน ไปเรียนมาใหม่"

 

ใครบางคนที่สันทัดการขยับหมากการเมืองมองว่า "คล้ายว่า "ร.อ.ธรรมนัส "กำลังสร้างราคาใหม่ทางการเมืองให้ตัวเองและมุ้งส.ส.ที่ใกล้ชิดเท่านั้น โดยหักกับคนการเมืองในพื้นที่ที่ผู้กองตุ๋ยไปเยือน ( ไม่แจ้งให้ส.ส.-ว่าที่ผู้สมัครส.ส.ในเขตนั้นทราบ เว้นแต่จะอยู่ในสังกัดของผู้กองตุ๋ย)แม้การประสานรอยร้าว

 

"จุดด้อยของพปชร."ในตอนนี้คือนโยบายพรรคและผลงานที่เกิดขึ้น แทบไม่บังเกิด แม้จะอาศัยภาพของ"ลุงตู่" ใน"หลักสุจริต-ตั้งใจทำงาน"ก็ตาม แต่ความจริงนั้นพปชร.เกือบไม่มีอะไรไปขายชาวบ้านให้พอได้ชื่นใจว่า สังคมจดจำพปชร.ในผลงานเชิงบวกของพรรคด้านใดเป็นที่ประจักษ์บ้าง เพราะการช่วยเหลือสังคมในภาวะโควิด-19นั้นเป็นการเยียวยาเฉพาะหน้า จะอ้างเป็นผลงานตัวเองแบบเพียวๆก็ลำบากใจ แต่หาก"ลุงตู่" หารือกับ"ลุงป้อม" ให้ลงตัวและนำยุทธศาสตร์พรรคตามที่  "พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา" ประธานยุทธศาสตร์พรรคที่อ้างว่าใกล้เสร็จแล้วมาใช้ได้จริง.... ก็อาจลดปัญหาและพอเดินหาแต้มได้บ้าง เพราะพปชร.อย่าลืมว่ามีวันนี้ได้เพราะกระแส"เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่"

 

การบ้านข้อนี้"ลุงป้อม-บิ๊กน้อย-ผู้กองตุ๋ย"และแกนนำหลากมุ้งใน พปชร.ต้องสรุปความให้เร็วและเร่งปฏิบัติ

 

ไม่เช่นนั้นหย่อนบัตรงวดหน้าเตรียม"ม้วนเสื่อกลับบ้าน เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานกันยาวๆไป"