เรื่องเล่า "6ตุลา" ชวนหลบภัยขวาจัด เขียนวรรณกรรมบาดแผล
เสี้ยวประวัติศาสตร์ "6ตุลา" ฝ่ายขวาไล่ล่าชวน หลีกภัย หลบลมร้อนเขียนวรรณกรรมบาดแผลจากป่าใต้ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
ประวัติศาสตร์ “6ตุลา” มีหลายด้านหลายมุม ไม่ได้มีแค่ฉากรุ่งสางกลางสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ หากแต่ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่นอกรั้วมหาวิทยาลัย
หลายคนอาจลืมไปว่า เหตุการณ์ “6ตุลา” เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และความขัดแย้งของรัฐบาลผสม 4 พรรคคือ ประชาธิปัตย์,ชาติไทย ,ธรรมสังคมและสังคมชาตินิยม ก็เป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่ก่อให้เกิดความรุนแรง
“6ตุลา” ผ่านมา 45 ปี จึงมีนักวิชาการปีกซ้าย เรียกร้องหาความรับผิดชอบของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สมัยโน้น
ผลการเลือกตั้ง 4 เม.ย.2519 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะด้วยเสียงมากที่สุด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งรัฐบาลผสม 4 พรรค ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ บริหารประเทศมาจนถึงเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงสิ้นสภาพอย่างเป็นทางการ ด้วยการรัฐประหารของฝ่ายทหาร
‘ลมร้อนในนาคร’
ผลพวงแห่งการล้อมปราบ “6ตุลา” และรัฐประหาร ทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนฯ จำต้องหลบลมร้อนไปอยู่เมืองตรัง
หลังเลือกตั้งปี 2519 ชวน หลีกภัย ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตรัง สมัยที่ 3 และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทย ระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย นับวันจะเผชิญหน้าและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ภายในรัฐบาลเสนีย์ ก็มีความเห็นต่างในนโยบายด้านความมั่นคง เพราะพรรคชาติไทย ที่ยึดคำขวัญ “ขวาพิฆาตซ้าย” กดดันให้นายกฯเสนีย์ ดำเนินการทางกฎหมายกับขบวนการนักศึกษา
ภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็แตกเป็น 2 ขั้วความคิด กลุ่ม ส.ส.กรุงเทพฯ อย่างธรรมนูญเทียนเงิน และสมัคร สุนทรเวช ให้ท้ายกลุ่มพลังมวลชนฝ่ายขวา ขณะที่ สุรินทร์ มาศดิตถ์ และดำรง ลัทธพิพัฒน์ ถูกมองว่าถือหางนักศึกษา
ก่อนถึงเดือน ต.ค.2519 กระแสขวาพิฆาตซ้ายรุนแรงมาก กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ปลุกระดมโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ว่าสนับสนุนฝ่ายซ้าย โดยนักการเมือง 3 คน ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ได้แก่ สุรินทร์ มาศดิตถ์, ดำรง ลัทธพิพัฒน์ และชวน หลีกภัย
หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มพลังมวลชนฝ่ายขวา ได้จุดกระแสไล่ล่านักการเมืองที่ถูกประทับตราเป็นคอมมิวนิสต์ ชวน หลีกภัย คือเหยื่อคนหนึ่งที่ต้องหลบหนีไปต่างจังหวัด
‘เย็นลมป่า’
ผลสะเทือนจากการล้อมปราบ “6ตุลา” สังคมไทยในเวลานั้นแตกแยกรุนแรงล้ำลึก กระทั่งชวน หลีกภัย ต้องหลบไปอยู่ในชนบทของจังหวัดตรัง และทำให้เกิดหนังสือชื่อ “เย็นลมป่า”
ชวนหลบร้อนมายังบ้านเกิด ครั้งนั้นเขามีโอกาสรับรู้เรื่องของผู้คนที่รู้จัก คุ้นเคย และไม่เคยพบพานมาก่อน ทั้งหมดล้วนประสบชะตากรรมเดียวกัน
เวลานั้น สงครามประชาชนได้เกิดขึ้นแล้วในชนบทของภาคใต้ รวมถึงเมืองตรังด้วย ชวนได้ถ่ายทอดเรื่องราวของชาวบ้านในป่ายางที่พยายามดำเนินชีวิตอย่างไม่เลือกข้าง ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐกับ พวกป่า (ชาวบ้านมักเรียกสหายแห่งกองทัพปลดแอกฯว่า พวกป่า)
ตอนแรก ชวน หลีกภัย เขียนเรื่องเล่าจากป่ายางเป็นตอน ๆ ส่งไปตีพิมพ์ในนิตยสารพาที ตามคำชักชวนของ ขรรค์ชัย บุนปาน บรรณาธิการ ก่อนจะนำรวมเล่มในช่วงปี 2522
ตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ชวนเขียนไว้ในหน้า 81 “วันปีใหม่ได้จบลงเพียง 1 มกราคม 2521 อนาคตไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงวันพรุ่งนี้ ใครจะบอกได้ว่า เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 มิใช่หลุมศพอันลึกใหญ่ที่เขาช่วยกันขุดฝังตัวเอง อนาคตเท่านั้นที่จะบอกเรา”
งานเขียนเรื่องเย็นลมป่า คือวรรณกรรมที่สะท้อนภาพความขัดแย้งในชนบทภาคใต้ยุคสงครามเย็น และได้เห็นร่องรอยความคิดของ ชวน หลีกภัย ช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519