คอลัมนิสต์

ส่องโพลรอเคาะชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯกทม." ทำไมชัชชาติยังพุ่ง-คนอื่นร่วง?

ส่องโพลรอเคาะชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯกทม." ทำไมชัชชาติยังพุ่ง-คนอื่นร่วง?

10 ต.ค. 2564

แม้การเลือกตั้ง"ผู้ว่าฯกทม." จะยังไม่มีการกำหนดชัดเจน แต่ภาพความเคลื่อนไหวของผู้ขอท้าชิงเก้าอี้พ่อเมืองเสาชิงช้า ก็ปรากฎให้เห็นตัวเป็นๆกันบ้างแล้ว ขณะที่ นิด้าโพลล์ออกมาสำรวจเช็คกระแสความนิยมใครมีโอกาสมากกว่ากัน /เจาะประเด็นร้อน เมฆาในวายุ

สนามเลือกตั้ง"ผู้ว่าฯกทม."-ส.ก.นั้น น่าจะเกิดขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่ (ทิ้งระยะเวลาราวสามเดือนหลังเลือกตั้งอบต.เสร็จสิ้น อ้างอิงห้วงเวลาจากการเลือกตั้งนายกอบจ.และการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีครั้งล่าสุด)

 

"ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม."ที่ทยอยเปิดตัวไปแล้วรวมทั้งที่ยังไม่ประกาศตัวแต่มีการคาดการณ์ว่า"น่าจะลงสมัคร "นั้น  ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “อยากได้ใคร เป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 6” (สำรวจระหว่างวันที่ 27-30 กันยายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้   1,318 หน่วยตัวอย่าง  ครั้งที่ 6  (กำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 97))

 

พบว่า    บุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯกทม. คือ   อันดับ 1 ร้อยละ 29.74 คือ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันดับ 2 ร้อยละ 27.92 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ  อันดับ 3 ร้อยละ 13.66 คือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อันดับ 4 ร้อยละ 9.33 คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อันดับ 5 ร้อยละ 4.10 คือ น.ส.รสนา โตสิตระกูล

 

อันดับ 6 ร้อยละ 3.26 คือ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อันดับ 7 ร้อยละ 2.73 คือผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล อันดับ 8 ร้อยละ 2.20 คือ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อันดับ 9 ร้อยละ 1.97 คือ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 10 ร้อยละ 1.29 คือนายสกลธี ภัททิยกุล

 

อันดับ 11 ร้อยละ 1.14 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) และจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 1.52 ระบุว่า อื่นๆ ( ผู้สมัครจากพรรคกล้า ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี และเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ)

"นิด้าโพล"ครั้งล่าสุดนี้ พอจะอ่านได้รางๆแล้วว่า  อันดับ1และอันดับ2 ซึ่งชาวเมืองหลวงตอบคำถามนั้น ทิ้งห่างอันดับ 3 และอันดับ 4 แบบค่อนข้างมาก เว้นเสียแต่ว่า ในช่วงเวลาใกล้ๆนั้น ชาวกทม.ที่อยู่ในภาวะยังไม่ตัดสินใจจะเทใจลงคะแนนให้อันดับ1หรืออันดับ3-อันดับ4และอันดับรองๆลงมา 

 

แปลว่าอันดับ2 (ยังไม่ตัดสินใจ)คือตัวแปรและตัวเต็งที่"ยังไม่มีตัวตน" แต่เบียดอันดับ1แบบคู่คี่สูสีและทิ้งอันดับ 3 ลงไปอย่างสบายอุรา

 

"ดังนั้นอันดับ 2 จากนิด้าโพลนั้นเป็นตัวแปรที่หลายคนต้องชิงมาไว้ให้ได้..."

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  อดีตรมว.คมนาคม เตรียมลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.

 

หันมามองว่าที่ผู้สมัครที่มีตัวตนกันบ้าง เริ่มที่อันดับ1คือ ชัชชาติ อดีตรมว.คมนาคมสมัยรัฐบาลนารีขี่ม้าขาว  ยังนำโด่งตั้งเเต่ผลโพลครั้งแรกๆ แม้จุดอ่อนที่ปรากฏคือ "ไม่มีผู้สมัครส.ก.ในมือ +อาศัยอดีตเพื่อนร่วมชาคาคือ ผู้สมัครส.ก.จากพรรคเพื่อไทยเดินแต้มเคียงกันนั้น" เอาจริงๆแล้ว"มันก็กระอักกระอ่วนใจไม่น้อยสำหรับคนที่ไปลงคะแนน"

 

เพราะบางคนชื่นชอบชัชชาติ แต่ไม่นิยมพรรคเพื่อไทย ,บางคนเป็นแฟนพันธุ์แท้ของพท. และยากทำใจได้ที่จะลงคะแนนให้คนอื่นที่ไม่ใช่คนของพรรคอย่างเป็นทางการไปนั่งเก้าอี้เบอร์1เสาชิงช้า แม้ว่าชัชชาติจะเคยเป็นแคนดิเดตนายกฯของพท.ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็ตาม

 

 

แว่วมาว่า"ชัชชาติ"รู้ดีว่าหากลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามพท.แม้จะได้แต้มเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะแพ้ในช่วงโค้งสุดท้าย เพราะคะแนนการเลือกตั้งสี่ครั้งล่าสุด คนจากค่ายชินคอร์ปหนุนหลังทั้งที่ลงแข่งขันแบบเป็นทางการและนอมินีก็ร่วงให้กับตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ไปสี่คราวติดต่อกัน

 

บทเรียนนี้อดีตรมว.คมนาคมคงมองทะลุ และพยายามหาวิธีเหนี่ยวรั้งใจกองเชียร์ส่วนตัว-กองเชียร์กลาง(อันดับ2จากนิด้าโพล)และกองเชียร์เฉพาะกิจให้เทแต้มแบบไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อย 

 

พล.ต.อ.จักรทิพย์  ชัยจินดา  อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอลงชิงชัยเก้าอี้ผู้ว่ากทม.

 

ส่วนอันดับ3 "บิ๊กแป๊ะ" -อันดับ4 "บิ๊กวิน"นั้น ทราบกันทั่วเมืองแล้วว่า อดีตนายตำรวจสองชีวิตนี้ แอบอิงกับพรรคพลังประชารัฐ โดย อดีตผบ.ตร.อยู่สายพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค

 

 

ส่วนพ่อเมืองหลวงคนปัจจุบันลือกันว่าเป็นสายตรงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากสองอันดับนี้ไม่มีใครยอมให้ใครและลงประชันกันเองรับรอง"เพื่อนคาบไปหม่ำแบบสบายใจเฉิบ"

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง  ผู้ว่ากทม. คนปัจจุบัน และคาดว่าจะลงชิงชัยเก้าอี้พ่อเมืองนี้อีกครั้ง

 

อีกอย่างหนึ่งกระแสพปชร.ในกทม.ไม่ได้ดีนัก แม้จะมี 12 ส.ส.จาก 30 เขต ก็ตาม แต่หากค่าย 3ป. ยังเคาะชื่อไม่ได้ว่าจะหนุนใครสู้-ห้ามใครลงแข่งกับเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ -และไม่เร่งปูพรมโกยแต้ม คาดการณ์ล่วงหน้าได้เลยว่าเจ้าของฉายา"รมต.แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี"คว้าชัยแบบนิ่มๆในการขับเคี่ยวกับอันดับ3 - อันดับ 4 

 

ส่วนตั้งแต่อันดับ 5 ลงมานั้น แม้บางคนมีชื่อเสียงและคอนเซ็ปต์การทำงานที่คนเมืองหลวงร้อง"ว้าว!"ได้เลย..แต่การที่ทอดเวลาไว้เนิ่นนาน(อาจเป็นเพราะไม่มั่นใจว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด แต่หากอ่านเกมแบบนี้ก็นับว่าแพ้ชัชชาติไปหลายคะแนน) ทำให้เวลาในการหาเสียงลดลง แม้บางคนอาจมองว่าวันนี้หาเสียงผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ผลกว่าบวกกับภาวะโควิด-19ที่ยังไม่บรรเทาเท่าที่ควร แต่อย่าลืมว่าชาวบ้านชาวเมืองนั้นอยากสัมผัส-ฟังแนวคิดในการแก้ปัญหาจากตัวจริง-เสียงจริงที่อาสามาแก้ปัญหาให้

 

ที่น่าสนใจคือทำไมคนเมืองกรุง ไม่ให้ราคาตัวแทนพรรคเพื่อไทย(รู้ทั้งเมืองว่าพท.ไม่ส่ง)-ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์-ตัวแทนพรรคก้าวไกลหรือคณะก้าวหน้าที่มีการให้ข่าวว่าพร้อมเปิดตัวผู้สมัคร แต่ราคาตามหน้าโพลที่เปิดอัตราเต็ง-ร่วงเช่นนี้ น่ากังวลว่า เวลาไม่กี่เดือนจะไล่ตามอันดับต้นๆของโพลได้อย่างไร

 

อย่าคิดแม้แต่จะแซงทางโค้งเลย เพราะวันนี้ข่าวสารย่ออยู่ในมือและสายตาคนไทยกันตลอด 24 ชั่วโมง ครั้นจะมั่นใจเหมือนช่วงที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงประชันเก้าอี้สร.1ในเวลาหาเสียง 49 วัน ก็เป็นไปได้ยาก เว้นแต่จะมี"บิ๊กเนม"ขนาดไม่น้อยหน้าน้องปูมาร่วมเปิดตัวกับพรรค-กลุ่มการเมืองดังกล่าว (หากใครมีบุคคลในข้างต้นจริง คงเปิดตัวไปนานแล้ว )

 

วันนี้บรรเลงกันเท่านี้ก่อน วันหน้าจะหาข้อมูลและเบื้องหลังการชิงเก้าอี้พ่อเมืองเสาชิงช้ามาขยายความให้สังคมรับไปพิจารณากับเกมการหาแต้มในเวทีนี้