เปิดใจ "สามารถ ราชพลสิทธิ์" ชำแหละปมร้อนโครงการรถไฟฟ้า
"สามารถ ราชพลสิทธิ์" มือตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้า และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เปิดใจ"คมชัดลึก" ถึงความเกี่ยวโยงจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสู่รถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำไม่ชอบมาพากล /เจาะประเด็นร้อน อสนีบาต
ในบรรดาผู้ติดตามการดำเนินโครงการระบบขนส่งขั้นพื้นฐานในประเทศไทย โดยขุดคุ้ยพบปมพิรุธโครงการนั้นๆถึงใส้ในชนิด"กัดไม่ปล่อย" ต้องนึกถึงชื่อ "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยล่าสุด "ดร.สามารถ" เกาะติด การดำเนินโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมีความเกี่ยวโยงไปถึงโครงการ"รถไฟฟ้า"อีกหลายสีก่อนหน้านี้
กว่าถึงวันนี้ "ดร.สามารถ" ศึกษาร่ำเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาโท วิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) โดยทุนยูเสด (USAID) และระดับปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา สาขาการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์เกือบ 30 ปี จากการทำงานในแวดวงวิศวกรรมจราจรและขนส่ง ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงช่วงเวลาปีเศษ ในตำแหน่ง "รองผู้ว่ากทม." ที่รับผิดชอบดูแลการแก้ไขปัญหาจราจร และผลักดันเส้นทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส ให้ข้ามไปถึงฝั่งธนบุรี กลายเป็นผลงานเขียนเล่มแรกในชีวิตชื่อ "เปิดปมรถไฟฟ้า ที่คนกรุงเทพฯ ต้องรู้" ประกอบไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับรถไฟฟ้าในหลากหลายประเด็น
ฉะนั้น จึงอย่าได้แปลกใจว่า เหตุใด "ดร.สามารถ" ถึงได้มีความเชี่ยวชาญโครงการรถไฟฟ้าสารพัดสีในประเทศไทยอย่างทะลุปรุโปร่ง มีการนำปมปัญหา ความผิดปกติ ออกมาตีแผ่ให้สาธารณะชนรับทราบเป็นระยะๆ
โดยเฉพาะกรณีล่าสุดของ"โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม" ดร.สามารถ เปิดเผยผ่าน "คมชัดลึกออนไลน์" ว่า ประเด็นรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตกจากบางขุนนนท์ถึงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งทางรฟม.เปิดให้ประมูลตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่หลังจากขายเอกสารประกวดราคาการได้เปลี่ยนการประมูลจากเกณฑ์ราคา มาเป็นการใช้เกณฑ์ราคาร่วมกับเกณฑ์เทคนิค จนทำให้มีการฟ้องร้องโดยขณะนี้เรื่องอยู่ที่ศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง
"ต้องดูว่าศาลอาญาจะพิจารณาออกมาอย่างไร ถ้าคดีมีมูลขึ้นมา รฟม.อาจจะต้องคิดหนักว่าจะเดินหน้าโครงการนี้อย่างไร จากที่เคยจะเปิดวิ่งไปมีนบุรี ในปี 2567 และจะเปิดตลอดเส้นทางทั้งตะวันตกและตะวันออกปี 2569 อาจล่าช้าไปกว่าที่ตั้งไว้ 1 ปี" ดร.สามารถ ชี้ปมปัญหาที่กำลังจะตามมา
"มือชำแหละรถไฟฟ้า" แนะนำต่อปมปัญหานี้ว่า "ผมคิดว่าถ้า รฟม.ใช้เกณฑ์ราคาจะเร็วขึ้นและไม่ต้องขออนุมัติ ครม. และไม่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้อง แต่ถ้าใช้เกณฑ์ราคาและเกณฑ์เทคนิคจะต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพราะฉะนั้นการใช้เกณฑ์ราคาที่ รฟม.เคยยกเลิกไปน่าจะดีที่สุด"
"ดร.สามารถ" ยังได้กล่าวอีกว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พรบ.ร่วมทุน 2562 บางคนรอการพิจารณาของศาลอาญาทุจริตก่อน ไม่กล้าเดินหน้าเวลานี้ เกรงว่าจะมีปัญหาเพราะบีทีเอสฟ้องคดีอาญาคณะกรรมการคัดเลือก 6 คนและผู้ว่าการ รฟม. เทียบเคียงแอร์พอร์ตลิงค์ ที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกผู้บริหารถึง 9 ปี
"แนวโน้มแล้ว รฟม.พยายามใช้เกณฑ์ใหม่ คือเกณฑ์ราคาบวกเกณฑ์เทคนิค ผมคิดว่าการใช้เกณฑ์ราคาดีที่สุด ไม่ใช่ว่าเกณฑ์ราคาไม่สนใจเทคนิคเลย แต่ผู้ร่วมเสนอราคาต้องสอบผ่านเทคนิคมาก่อน ด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 85 % แล้วมาดูว่าใครเสนอราคาสูงสุดให้ รฟม. ก็ชนะไป" ดร.สามารถ กล่าวย้ำไปถึง รฟม.
"ดร.สามารถ" บอกว่า วัตถุประสงค์ต้องการให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้เปิดบริการโดยเร็ว เนื่องจากเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชนมาก เป็นการขนส่งระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งจะมีผู้โดยสารหลายแสนคนต่อวัน ลดเวลาการเดินทาง ลดมลพิษ รฟม.ควรเร่งรัดให้เร็วที่สุด
"ความเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ส่วนไข่แดงภายในที่บีทีเอสสัมปทานมีเงินลงทุนจำนวนมาก กทม.ไม่มีเงินใช้หนี้หลายหมื่นล้านบาท และจ้างบีทีเอสในส่วนต่อขยาย ถึงเวลานี้ประมาณ 37,000 ล้านบาท บวกเงินที่ต้องจ่ายทุกวัน ดอกเบี้ยด้านโยธา รวมแล้วประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โดยมี 2 ทางเลือก คือ หนึ่ง รอให้ถึงปี 2572 แล้วเปิดประมูลใหม่ แต่รัฐต้องมีเงินในกระเป๋า 1.3 แสนล้านบาท และสองคือ กทม.ขยายสัญญาจ้างบีทีเอสไปถึงปี 2585 ซึ่งก็ต้องมีเงิน 1.3 แสนล้านบาทเช่นกัน จำเป็นต้องขยายเวลาให้บีทีเอสออกไป 30 ปี ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็เห็นด้วย
กระทั่งส.ค.2563 รฟม.เปิดประมูลผู้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายตะวันตกมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การประมูล บีทีเอสฟ้องต่อศาลปกครองและศาลคดีอาญาฯ พอเข้าครม.เดือน พ.ย.2563 กระทรวงคมนาคมเกิดไม่เห็นด้วยขึ้นมา อ้างว่าค่าโดยสารยังแพงอยู่ จะเป็นเพราะมีการเปลี่ยนทีโออาร์กลางอากาศหรือไม่ เพราะบีทีเอสไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแก้เกณฑ์ประมูลแล้วไปฟ้องศาล ปัจจัยนี้ทำให้ขยายเวลารถไฟฟ้าสายสีเขียวล่าช้าต่อไปนี่คือสิ่งที่เชื่อมโยงกัน" ดร.สามารถ กล่าว
ทั้งนี้ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม (บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - แยกร่มเกล้า)เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดิน และยกระดับ มีแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางภายในเขตเมืองตามแนวตะวันออก - ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากบริเวณจุดตัดทางรถไฟสายสายธนบุรี (ทางรถไฟสายใต้เดิม) แล้วลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ย่านเมืองเก่า ย่านใจกลางเมืองก่อนออกไปยังชุมชนประชาสงเคราะห์และออกสู่ย่านชานเมืองถนนรามคำแหง มาสิ้นสุดเส้นทางที่ชานเมืองด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดถนนรามคำแหงกับถนนสุวินทวงศ์