"ไพบูลย์ นิติตะวัน" เลิกพรรคการเมือง แต่ได้ประโยชน์ทางการเมือง
ลุ้นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคประชาชนปฏิรูป รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่อง "ไพบูลย์ นิติตะวัน" ควบรวมพรรคการเมือง
หลังจากประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิรูป ครั้งที่ 10/2562 เมื่อวันที่4สิงหาคม 2562 ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ได้มีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูปตามข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป พ.ศ. 2561 ข้อ122 เป็นเหตุให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ของกกต.ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2562 เป็นต้นมา แต่มีผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าได้ดำเนินการตามกฏหมายพรรคการเมืองครบถ้วนแล้วหรือไม่
เจษฏ์ โทณะวนิกอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญมองว่า หากตีความตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ แม้กฏหมายพรรคการเมืองมาตรา 91 จะระบุว่าการเลิกพรรคมีผลเสมือนการยุบพรรค แต่ในวรรคสุดท้ายของมาตราการเดียวกัน ระบุไว้ชัดว่า เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกที่เป็นส.ส. ย่อมหมายความว่า เป็นการคุ้มครองเมื่อส.ส.ไม่ได้ทำให้เกิดการยุบพรรค กฏหมายจึงเปิดช่องให้สามารถหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ได้ภายใน 60 วัน แต่กรณีของ ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นคนละบริบทกัน
อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังยกตัวอย่าง ในกฏหมายพรรคการเมือง มีศัพท์บัญญัติที่ทำให้สถานะความเป็นพรรคการเมืองสิ้นสุดลง ประกอบด้วย การเลิกพรรคการเมือง การยุบพรรค ซึ่งมีผลทำให้พรรคการเมืองการเมืองสิ้นสภาพเหมือนกัน
แต่มีที่มาแตกต่างกัน
การเลิกพรรคการเมืองเพราะมีเหตุที่ทำให้พรรคการเมือง ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปได้ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา91
ส่วนการยุบพรรคการเมือง มีเหตุมาจากการการกระทำที่ผิดกฏหมาย เช่นการล้มล้างการปกครอง กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเหตุอื่นตามที่กฏหมายกำหนดตามความในมาตรา92
ทั้งสองกรณีคือเหตุแห่งการสิ้นสภาพพรรคการเมือง แต่การยุบพรรคทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลาสิบปี ขณะที่การเลิกพรรค มีผลเสมือนการยุบพรรค เป็นไปตามตัวบทกฏหมาย แต่จะใช่เจตนารมย์ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เจตนารมย์รัฐธรรมนูญปี2560 ที่สำคัญ คือการป้องกันการผูกขาดจากการควบรวมกันของพรรคการเมือง ไพบูลย์ นิติตะวัน เลิกพรรคประชาชนปฏิรูปตามเงื่อนไข ส่วนใครจะมองว่าเป็นเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองอย่างไร ก็อย่างที่ไพบูลย์พูดเอาไว้ว่า กฏหมายเปิดช่องให้ทำได้