ย้อนปม "คดีเหมืองทองอัครา" ขายสมบัติชาติจริงหรือ
แคมเปญที่เรียกร้องให้ประชาชนร่วมลงชื่อและแถลงข่าวของพรรคเพื่อไทยกรณี "คดีเหมืองทองอัครา" ชี้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการที่อนุญาโตตุลาการตัดสินให้รัฐบาลไทยแพ้หรือคู่กรณีกับรัฐบาลไทยประนีประนอมกันได้ ประเทศชาติก็มีแต่สูญเสีย... เป็นอย่างนั้นจริงหรือ
จากแคมเปญของพรรคเพื่อไทย เชิญชวนประชาชนคนไทยทั้งประเทศร่วมกับพรรคเพื่อไทย ลงชื่อปกป้องทรัพย์สินชาติ คัดค้านการนำสมบัติชาติไปแลกชดใช้ความผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใช้อำนาจ ม.44 สั่งปิด "เหมืองทองอัครา" ที่ LINE OA เพื่อไทย:https://lin.ee/lOrhxhcและบอกว่าอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีคำชี้ขาดในวันที่ 31 ตุลาคมนี้
และพรรคเพื่อไทย อ้างว่า ผลการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหากไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาด อาจทำให้คนไทยต้องเป็นผู้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย เพราะต้องนำเงินจากภาษีของประชาชนไปจ่าย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ซึ่งก็ไม่ใช่ พลเอกประยุทธ์ ผู้ใช้อำนาจออกคำสั่ง ม.44 ที่จะต้องเป็นผู้ชดใช้หรือหากประนีประนอมข้อพิพาทกันได้ระหว่าง รัฐบาลกับทางบริษัทแม่"เหมืองทองอัครา" ซึ่งเป็นคู่กรณี อาจมีการนำทรัพยากรและสมบัติชาติไปให้สัมปทานแลกชดใช้ความผิดพลาด เท่ากับว่าประเทศไทยและประชาชนคนไทย กลายเป็นผู้ต้องเสียหายและสูญเสียมหาศาล
"บริษัท คิงส์เกตฯ ซึ่งเป็นบริษัทแม่และคู่กรณีกับรัฐบาลไทยแถลงว่า 1.ข้อเสนอของคิงส์เกตจะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยทุกข้อโดยไม่มีข้อจำกัด ได้รับการอนุญาตทำเหมืองได้ใหม่ทั้งหมด 2. ยังได้รับทำเหมืองในพื้นที่ใหม่เพิ่มเติมนอกจากเหมืองทองที่มีอยู่ 3,900 ไร่ 3. คิงส์เกตมีความมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จากรัฐบาลไทย มีนักลงทุนจากไทยไปร่วม และการดำเนินการครั้งใหม่จะได้รับค่าช่วยเหลือค่าภาคหลวงและภาษีต่างๆ รวมถึงกระบวนการอนุมัติจะดำเนินการโดยเร็ว แต่ข้ามขั้นตอนไม่เป็นไปตามกฎหมายไทย
หากรัฐบาลไทยยินยอมเช่นนั้น และคำแถลงของคิงส์เกตไปปรากฏในคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการจริงคาดว่าไทยจะเสียหายอย่างมหาศาล เป็นการประนีประนอมที่เอาทรัพย์สมบัติชาติไปแลกกับความผิดพลาดของ คสช.หรือหากอนุญาโตตุลาการตัดสินให้ไทยแพ้ ไทยก็ต้องชดใช้ เพราะเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยลงนามไว้ ที่เรียกว่า "นิวยอร์กคอนเวนชัน"
เป็นบางช่วงบางตอนการแถลงข่าวของนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
เราจึงควรมาไล่เรียงข้อเท็จจริงในเรื่อง"เหมืองทองอัครา" กันเพื่อนำไปสู่คำตอบ
- ปี 2543 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด จำกัด จากออสเตรเลีย บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ชนะประมูล ได้สิทธิสัมปทานการขุดเหมืองแร่ทองคำชาตรีใต้พื้นที่ 1,259 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี สิ้นสุดวันที่ 18 มิถุนายน 2563 และเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ พื้นที่ 2,466 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี วันที่ 21 กรกฎาคม 2551 – 20 กรกฎาคม 2571
-เหมืองแร่ทองคำอัครา รีซอร์สเซสหรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า เหมืองทองชาตรี ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่การทำสัมปทานในการขุดหาแร่ทองคำครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ ดำเนินกิจการด้วยเงินลงทุนเกือบ 5 พันล้านบาท มีการจ้างงานคนงานกว่า 1 พันคน
- ปี 2544 เปิดดำเนินการขุดหาแร่ทองคำ
-ปี 2544-2559 เหมืองแร่ทองคำที่ดำเนินกิจการอยู่นั้น มีกลุ่มคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ออกมาประท้วงร้องทุกข์ ร้องเรียนกล่าวหาว่า "เหมืองแร่ทองคำอัคราฯ" แห่งนี้ก่อมลภาวะ ก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม มีการชุมนุมประท้วง ฟ้องร้องขึ้นโรง ขึ้นศาล หลายสิบคดีเป็นข่าวดังระดับโลก สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
-สำหรับค่าเสียหายจากการที่ "เหมืองแร่ทองคำอัครา" ถูกปิด ที่รัฐต้องจ่ายหากแพ้คดี คาดว่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
-ปัญหาร้องเรียนจากชาวบ้านเพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องจากมลพิษจากเหมืองที่ให้เกิดปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสารพิษปนเปื้อนที่มากับดิน น้ำ อากาศรวมถึงยังมีสภาวะเครียดที่เกิดขึ้นจากเสียงของอุตสาหกรรมอีกด้วยและเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาล คสช. ในขณะนั้นด้วย
-ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายสนับสนุนเหมืองแร่ฯ โดยในวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ประชาชนจากบริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี พนักงานและครอบครัว ประมาณ 5 พันคน ออกมาเคลื่อนไหวรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร
-13 ธ.ค. 2559 มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 72 /2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา โดยในคำสั่งระบุว่า มีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําเนื่องจากได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทําเหมืองแร่ทองคําหลายแห่ง
จึงมีความจําเป็นต้องกําหนดมาตรการในการป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนรวมทั้งกําหนดมาตรการในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา จึงมีคำสั่งระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 คำสั่งดังกล่าวลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งก็มีเสียงวิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
-หลังจากที่เหมืองทองคำได้ถูกสั่งให้ระงับการประกอบกิจการตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 72/2559 ทางบริษัทคิงส์เกตได้เจรจาเพื่อยื่นข้อเสนอรัฐบาลไทยให้ชดใช้เป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่การเจรจาไม่เป็นผล
-เมื่อเจรจาไม่สำเร็จ บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย Statement of Claim ได้ถูกยื่นต่ออนุญาโตตุลาการด้วยการขอตั้ง คณะอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย
-รัฐบาลไทยและคิงส์เกตฯเริ่มเข้ากระบวนการไต่สวนอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 3 -12 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประเทศสิงคโปร์
- การพิจารณายังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
-แม้ว่าจะมีการฟ้องแล้วแต่การเจรจาสามารถทำควบคู่ได้ โดยทางรัฐบาลไทยต้องการใช้แนวทางการเจรจาโดยยึดหลักรัฐไม่เสียหาย เอกชนต้องอยู่ได้ และถ้าหากได้ข้อสรุปก่อนที่อนุญาโตตุลาการจะมีคำวินิจฉัยออกมา อาจทำให้บริษัท คิงส์เกตฯ ถอนคำฟ้องก็เป็นไปได้
- นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล เปิดประเด็น ว่า มีการตั้งงบประมาณสู้คดีบริษัท คิงส์เกตฯ ปี 2564 จำนวน111 ล้านบาท รวม 3ปีใช้ไปจำนวน 389 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดว่าเมื่อปี 2562 ใช้งบประมาณไป 60 ล้านบาท ปี 2563 ใช้ไป 218 ล้านบาท และปี 2564 ตั้งงบประมาณอีก 111 ล้านบาท รวม 3 ปี 389 ล้านบาท และไม่รู้ว่าจะต้องเสียอีกเท่าไร เพราะไม่รู้ว่าคดีจะจบเมื่อไหร่
และนายวิโรจน์ ยังบอกว่ามีการตั้งงบประมาณลักษณะนี้ตั้งแต่ปี 2562 และ 2563 แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเพื่อการไกล่เกลี่ยคดี เหมือนเป็นการซุกงบ ฯเอาไว้หรือไม่ส่วนในปีงบประมาณ 2564 ระบุชัดเจนในส่วนงบประมาณประจำปีของกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งทางพรรคก้าวไกลจะแปรญัตติเพื่อขอตัดงบประมาณในส่วนนี้ ไม่สามารถยอมให้ใช้งบประมาณในส่วนนี้ได้ และจะตั้งงบไปแบบนี้เรื่อย ๆ คงยอมไม่ได้
-ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและอดีตหัวหน้า คสช. รับผิดชอบชดใช้เงินจากการสั่งปิด "เหมืองแร่ทองคำอัครา" โดยบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สามารถนำเงินของรัฐมาจ่ายได้ และ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศชัดเจนว่าจะรับผิดชอบ "คดีปิดเหมืองทองอัครา"ด้วยตัวเอง ค่าสู้คดีรัฐในคดีนี้รวม 3 ปี 389 ล้านบาท ค่าเสียหายที่จะต้องจ่ายตามมา หากแพ้คดีอีกเกือบ 40,000 ล้าน ให้ พล.อ. ประยุทธ์ ควักเงินตัวเองจ่ายด้วย
ล่าสุด 21 ต.ค. 64 นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรณีข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับ บริษัท คิงส์เกตคอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ฐานะผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตรและเพชรบูรณ์ยังคงอยู่ระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และยังไม่มีการออกคำตัดสินชี้ขาดใด ๆ ทั้งสิ้น คู่พิพาททั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่ดำเนินการคู่ขนานไปกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
ทั้งนี้รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสากล ในการดำเนินการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอย่างรอบคอบ รัดกุมและเป็นเอกภาพ สำหรับแนวทางการเจรจายึดถือประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นหลักภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นธรรมต่อประชาชน ชุมชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการ
เป็นข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งซึ่งไม่ตรงกันกับข้อมูลทางพรรคเพื่อไทย
มหากาพย์ "เหมืองแร่ทองคำอัครา"ยังต้องจับตากันต่อไปว่าจะลงเอยอย่างไรสุดท้ายประเทศไทยต้องเสียค่าโง่จำนวนมหาศาล หรือต้องยกสมบัติชาติ แผ่นดินนี้ให้กับบริษัทเอกชนต่างชาติหรือไม่