คอลัมนิสต์

1 พ.ย.ปฏิทินการเมืองร้อน "เปิดสภา"ชี้วัดแรงหนุน-ต้าน เขย่ารัฐบาล"ลุงตู่"

1 พ.ย.ปฏิทินการเมืองร้อน "เปิดสภา"ชี้วัดแรงหนุน-ต้าน เขย่ารัฐบาล"ลุงตู่"

31 ต.ค. 2564

"1พ.ย."ไม่ใช่แค่ปฐมฤกษ์"เปิดประเทศ"เท่านั้น หากแต่เป็นกำหนดการ"เปิดสภา"สมัยสามัญครั้งที่สอง มีหลายวาะร้อนที่กำลังสร้างแรงเสียดทานรัฐบาล"ลุงตู่"อีกครั้งว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ติดตามได้ที่ เจาะประเด็นร้อน

เหลือเวลาเพียงอีก 2 เดือนก็จะเข้าสู่ปี 2565 ขณะที่สถานการณ์การเมืองไทยนั้น มีหลายเรื่องหลายประเด็นที่ชวนให้น่าจับตามองและเป็นประเด็นร้อน เรียกว่าเป็นไทม์ไลน์การเมืองที่คอการเมืองเฝ้ารอดูความเคลื่อนไหวนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.  เจาะประเด็นร้อน ชวนเกาะติดสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงหลักๆ

 

หนุน-ต้านใช้เวทีสภากดดันรัฐบาล"ลุงตู่"

 

ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เตรียมขึ้นบัลลังก์อีกครั้งในการประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่สอง

 

ประเด็นแรก  ฝ่ายหนุน-ฝ่ายต้านรัฐบาล"ลุงตู่" จ้องใช้เวทีเปิดสภาสมัยสามัญครั้งที่สองรอบนี้ ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่ 1 พ.ย.64  -28 กพ.65  กดดันการทำงานรัฐบาล "ลุงตู่" อย่างหนัก  ผ่านการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ จำเป็นต้องอาศัยมือส.ส.ฝ่ายรัฐบาลโหวตให้ผ่าน ท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่แบ่งเป็นสองขั้วฟาก"หนุนลุงตู่" กับฟากอุ้ม"ลุงป้อม" โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ยังกุมสภาพเลขาธิการพปชร. แม้วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลออกมายืนยันความพร้อมของพปชร.รับวันเปิดสภาไม่มีออกอาการเกเรใส่กันแน่ อีกอย่างปัญหาภายในพปชร.จบลงด้วยดีแล้ว แต่ยังมิอาจไว้วางใจได้ ภายใต้สัจธรรมการเมือง "การเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร"   หากยังต้องใช้เวทีสภาเพื่อการต่อรองหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่าง

 

เรียกได้ว่า ทุกวาระการประชุมตั้งแต่การพิจารณาพระราชกำหนดสองสามฉบับที่จ่อบรรจุระเบียบวาระ และร่างพ.ร.บ.อาทิ ร่างพ.ร.บ.สภาการศึกษาแห่งชาติที่ถูกเลื่อนมาจากการประชุมสภาสมัยสามัญครั้งแรกมาลงมติรอบนี้ เป็นต้น  

 

ไม่ว่าเป็น พรก. หรือร่างกฎหมายโดยเฉพาะกม.เกี่ยวกับทางการเงิน หากไม่ผ่านสภา โดยธรรมเนียม นายกฯก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา 

 

 

 

นอกจากนี้การเปิดประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่สอง ยังเป็นโอกาสให้ฝ่ายค้านขอเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ย่อมเป็นจังหวะที่พรรคฝ่ายค้านจะหยิบยกประเด็นการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดหลังเปิดประเทศและประเด็นรัฐบาลบริหารงานผิดพลาดบกพร่องมาอภิปราย ถือเป็นโอกาสในการดิสเครดิตรัฐบาลในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 กันเลยทีเดียว  

 

1 พ.ย.ปฏิทินการเมืองร้อน \"เปิดสภา\"ชี้วัดแรงหนุน-ต้าน เขย่ารัฐบาล\"ลุงตู่\"

 

ลุ้นอุบัติเหตุการเมืองระหว่างแก้กม.ลูก 2 ฉบับ

 

ประเด็นสอง ที่ต้องจับจ้องคือ ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ที่รัฐบาลเพิ่งเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้าฯ ลงมาภายใน 90 วัน สิ่งสำคัญของร่าง รธน.ฉบับนี้ที่มีการแก้ไขคือการกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยการใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ คือแบบ “เลือกพรรคการเมืองที่ชอบกับเลือก ส.ส.ที่ใช่” โดยส.ส.มาจากแบบเขตเลือกตั้ง 400 เขต (400 คน) และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งจะส่งผลให้บรรยากาศการเลือกตั้งมีความคึกคักอย่างมาก ประหนึ่งได้ย้อนกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และบรรยากาศการเลือกตั้งปี 2544 และปี 2548

 

ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีโอกาสได้เปรียบทางการเมืองสูงจากการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องขับเคี่ยวและแข่งขันกันอย่างมากเพื่อให้ได้ส.ส.ในพื้นที่ให้มากที่สุด เพราะนั่นคือสัญญาณชัดของการได้เป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคการเมืองเล็ก ๆ นั้นจะเสียเปรียบทางการเมืองและได้รับผลกระทบมากพอสมควร แต่จากกรณี “ไพบูลย์โมเดล” ก็ยังพอมีพื้นที่ให้ ส.ส.ของพรรคการเมืองนั้น ๆ สามารถเลือกที่จะยุบและย้ายพรรคเพื่อไปสังกัดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้ 

 

 

 

แต่ก่อนไปถึงตรงนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องนำไปสู่การยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง

 

กฎหมายทั้งสองฉบับนี้จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงใหม่เพื่อให้ล้อไปกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่เช่นกัน ซึ่งล่าสุดทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เสร็จสิ้นแล้วมีทั้งหมด 30 มาตรา รอเพียงร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 แก้ไขเพิ่มเติมโปรดเกล้าฯ ลงมา ไทม์ไลน์ของกฎหมายลูกในการเลือกตั้งส.ส. และพรรคการเมือง ก็จะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาและแก้ไขให้เสร็จสิ้น ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่จะมีขึ้น 

 

ประเด็นนี้ ถูกนำไปวิเคราะห์ถึงเงื่อนเวลายุบสภา เพราะหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองก่อนที่ร่างกม.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับยังไม่แล้วเสร็จ ก็ต้องกลับไปใช้กติกาเดิม การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หวังจะเปลี่ยนกติกาให้เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบก็ต้องเกมโอเวอร์ ไม่ต่างอะไรกับที่มีส.ส.ลงพื้นที่หาเสียงกับประชาชนกันแล้วด้วยการอธิบายกติกาใหม่ว่าจะมีการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ เลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ใช่  ก็จะหมดความหมายไปโดยพลัน  

 

“ผมเล่าไปแล้วว่าหากเกิดอะไรขึ้นในตอนนี้ เราต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียว และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องเป็นบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ไม่ต้องไปเสียดายค่าพิมพ์บัตรเลือกตั้งหรอกปัญหาคือถ้าเกิดการยุบสภาขึ้นในเวลานี้ เราก็ต้องบอกประชาชนทั้งประเทศว่า เลือกตั้งส.ส.เขต 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ซึ่งคนฝังใจว่าอย่างนั้น แต่พอถึงเวลาเลือกตั้งเข้าจริง พี่น้องเลือกส.ส.เขต 400 คนบัญชีรายชื่อ 100 คน เราต้องเลือก ต้องกาบัตรใบเดียว ยุ่งกันไปหมดทั้งประเทศ”   วิษณุ เครืองาม  รองนายกฯ กล่าวเมื่อวันที่ 8 ต.ค.64 ถึงเดทล็อคที่จะเกิดขึ้นทันที หากมีการยุบสภา 

 

จับตาเลือกตั้งท้องถิ่นสู่การเมืองระดับชาติ 

 

1 พ.ย.ปฏิทินการเมืองร้อน \"เปิดสภา\"ชี้วัดแรงหนุน-ต้าน เขย่ารัฐบาล\"ลุงตู่\"

ประเด็นที่ 3  การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ จำนวน 5,300 แห่ง ที่กำหนดวันกาบัตรเลือกตั้งขึ้นไว้ในวันที่ 28 พ.ย. 2564 และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 11-15 ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศ 76 จังหวัด รวมจำนวน 136,250 คน แบ่งออกเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. จำนวน 12,309 คน และผู้สมัครสมาชิก อบต. จำนวน 123,941 คน 

 

นับเป็นการเลือกตั้งในรอบ 7 ปีเลยทีเดียว ซึ่งสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นในส่วนของ อบต.ทั่วประเทศนี้ ถือเป็นอีกฐานเสียงและหัวคะแนนสำคัญของพรรคการเมืองใหญ่ในการเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งต่อไป และหลังการเลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศจบลง การเลือกตั้งท้องถิ่นในส่วนของผู้ว่าฯ กทม. และเมืองพัทยาจะเกิดขึ้นถัดไป นับเป็นศึกเลือกตั้งท้องถิ่นที่น่าจับตามองมากทีเดียว 

 

ประเด็นที่ 4 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อ 24 มีนาคม 2562 และถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ครบวาระ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งใหม่กำหนดไว้วันที่ 24 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป  แต่สถานการณ์การเมืองไทย ณ ขณะนี้ สัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเริ่มมีเค้าลางบ้างแล้ว หลังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เริ่มแตกและขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  แม้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคจะออกมาเคลียร์รอยร้าวลึกระหว่าง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ และ “ผู้กองตุ๋ย” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. แล้วก็ตาม แต่โอกาสที่ภูเขาไฟในพรรคจะปะทุและระเบิดยังคงมีอยู่สูงเพราะถ้าแม่บ้านพรรคกับรัฐมนตรีของพรรค และส.ส.ซีกฝั่งลุงตู่ และ"ลุงตู่" เอง ยังปีนเกลียวกันอยู่ โอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งแบบท่วมท้นก็เป็นไปได้ยาก 

 

จุดร้าวลึกของพรรค พปชร.นี่เอง ที่เป็นจุดอ่อนให้พรรคเพื่อไทยสามารถที่จะใช้จุดแข็งในการเร่งสร้างความน่าเชื่อถือและคะแนนเสียงให้เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อเตรียมการเลือกตั้งในสมัยหน้า ยิ่งกว่านั้น พรรคเพื่อไทยเพิ่งเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนสุดท้องของนายทักษิณ ชินวัตร คนแดนไกลที่อยากกลับบ้านมาโดยตลอด 

 

การที่ “ทักษิณ” เลือกใช้ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นไพ่ใบสำคัญอีกใบในศึกเลือกตั้งครั้งหน้านี้ สอดรับกับการตั้งเป้าให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ และยังช่วยทำให้พรรคเพื่อไทย กลายเป็นพรรคการเมืองที่ทุกพรรคต้องจับตามองอย่างยิ่ง เรียกว่า "อุ๊งอิ๊ง" ที่รั้งตำแหน่งปรึกษาพรรคเพื่อไทยในวันนี้ เป็นจุดดึงดูดและปลุกเร้าให้สนามการเมืองและสนามการเลือกตั้งทั่วประเทศคึกคักขึ้นมาทันที 

 

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่อีกพรรคที่ได้ประโยชน์จากการใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ ส่วนพรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล และพรรคการเมืองพรรคเล็กอีกหลายพรรค คงต้องทำการบ้านกันอย่างหนักเพื่อให้ชนะเลือกตั้งในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายกับสูตรบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

 

ทั้งหมดนี้ คือ สถานการณ์การเมืองที่กำลังระอุเดือดขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป