คอลัมนิสต์

ลุ้นระทึกจุดเปลี่ยนการเมือง เมื่อ "นายกฯขาลอย" เดินทางออกนอกประเทศ

ลุ้นระทึกจุดเปลี่ยนการเมือง เมื่อ "นายกฯขาลอย" เดินทางออกนอกประเทศ

31 ต.ค. 2564

อะไรก็เกิดขึ้นได้ทางการเมือง ลุ้นระทึก เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ "นายกฯ ขาลอย" ขึ้นเครื่อง เดินทางออกนอกประเทศไปประชุม COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์... เป็นเวลาถึง 3 วันที่นายกฯ ไม่ได้อยู่ในประเทศขณะที่สภาเปิดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ และ พปชร. มีปัญหา ความเสี่ยงทางการเมืองมีมากน้อยแค่ไหน

การเดินทางของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC: COP) สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ระหว่าง 1-2  พ.ย.นี้ และเดินทางกลับในวันที่ 3 พ.ย. 

 

เป็นเวลาถึง 3 วันที่"นายกฯ ขาลอย"ขึ้นเครื่องบิน ออกนอกประเทศ ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย บนเงื่อนไขที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯยังกำหนดให้พรรคพลังประชารัฐเป็นไปตามที่ตนเองต้องการไม่ได้ คือการเปลี่ยนตัว ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค

 

ประจวบเหมาะที่จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สองในวันที่ 1 พ.ย.และมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 พ.ย. โดยมีร่างกฎหมายหลายฉบับถูกบรรจุในวาระการประชุม การตีรวนในสภาจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ จะคุมเกมกันอย่างไร

 

ถึงขั้นที่พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ จะถูกคว่ำกลางสภาในขณะที่ตัวเอง "ขาลอย" อยู่นอกประเทศหรือไม่ หรือนายกฯต้องยุบสภาหรือลาออกหรือไม่  

 

ความเสี่ยงทางการเมืองมีมากน้อยแค่ไหนเมื่อ "นายกฯขาลอย" จะซ้ำรอย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เมื่อครั้งเดินทางไปประชุมที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อปี 2549 หรือไม่ 

 

ในมุมมองของ รศ.ดร. ยุทธพร อิสรชัย  อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เห็นว่า การออกนอกประเทศครั้งนี้ คงไม่เกิดการยุบสภาหรือนายกฯต้องลาออกหรือเกิดรัฐประหารเพราะว่าเงื่อนไขวันนี้ไม่เหมือนทักษิณ ชินวัตร ไปประชุมที่ยูเอ็นนิวยอร์กในปี 2549 ในส่วนของกองทัพก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล  รัฐประหารคงเกิดได้ยาก

 

 

 
 

และยังไม่มีเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร การชุมนุมบนท้องถนนก็เงียบลงและไม่มีประเด็นจุดขึ้นมาใหม่ซึ่งต่างจากสมัยที่ ทักษิณ ไปประชุมที่นิวยอร์ก ในเวลานั้นมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นฐานรองรับความชอบธรรมในการออกมารัฐประหาร

 

ในส่วนของสภาแม้จะเกิดกรณีสภาล่มที่ผ่านมาก็เกิดมาหลายครั้งก็ไม่เห็น "นายกฯ" จะแสดงสปิริตยุบสภาหรือลาออกและคิดว่าแม้จะเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาลแล้วเกิดกรณีสภาล่มหรือกฎหมายสำคัญตกไป "นายกฯ" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงไม่เลือกยุบสภาหรือลาออก แม้ว่านายกฯอยู่นอกประเทศจะยุบสภา ก็สามารถทำได้  

 

แม้ว่าในระบบรัฐสภาเมื่อไหร่ก็ตามที่กฎหมายสำคัญโดยเฉพาะกฎหมายการเงิน ถ้าไม่ผ่านก็เท่ากับว่าฝ่ายบริหารไม่ได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติ โดยสปิริตทางการเมือง "นายกฯ" ต้องลาออก แต่เชื่อว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง เชื่อว่า"นายกฯ"จะไม่ลาออกแต่จะใช้วิธียุบสภามากกว่า แต่ในแง่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า "นายกฯ" ต้องยุบสภาหรือลาออกในกรณีกฎหมายสำคัญไม่ผ่าน "นายกฯ" จะไม่ทำอะไรเลยก็ได้

 

เพียงแต่เป็นประเพณีทางการเมืองว่านายกฯต้องลาออก แต่อาจารย์ ยุทธพร เชื่อว่านายกฯจะไม่ลาออกแต่ใช้วิธียุบสภามากกว่าถ้าไปถึงจุดนั้น 

 

 

ทำไมเขาจึงเชื่อเช่นนั้น..เพราะว่าถ้า "นายกฯ" จะลาออก คงลาออกไปนานแล้วเพราะว่าที่ผ่านมา "นายกฯ" ต้องแสดงสปิริตลาออกแต่ไม่เห็นการลาออกเลย ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติเชื่อว่า "นายกฯ"จะใช้วิธียุบสภาเพื่อล้างไพ่และนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่

 

และเมื่อยุบสภาและเลือกตั้งใหม่กติกาการเลือกตั้งเหมือนเดิมเพราะรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยังไม่ประกาศใช้ ทั้งระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม เลือกตั้งใบเดียว และ ส.ว. ร่วมโหวตเลือก"นายกฯ"ได้ ถ้าใช้วิธียุบสภาโอกาสที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะได้รับการเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯจากพรรคพลังประชารัฐมีความเป็นไปได้เพราะเวลานี้ยังไม่มีบุคลากรทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐที่จะมาแทน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ ถ้าเลือกใช้วิธียุบสภาจะได้เปรียบทางการเมืองที่มากกว่า 

 

อีกทั้งถ้า พล.อ. ประยุทธ์ "นายกฯ"ใช้วิธีลาออก โอกาสที่จะได้กลับมาอีกมีไม่มาก เพราะรัฐบาลปัจจุบันมีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมากทั้งพรรคขนาดกลาง เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคขนาดเล็กเช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาและพรรคจิ๋ว พรรคจำนวนมากเหล่านี้พร้อมเคลื่อนไหวตลอดเวลา

 

ดังนั้นถ้า"นายกฯ"ลาออกโอกาสที่พรรคการเมืองเหล่านี้จะไปร่วมกับฝ่ายค้านมีความเป็นไปได้และเงื่อนไขของฝ่ายค้าน ถ้าไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็น "นายกฯ" โอกาสที่จะคุยกับพรรคเหล่านี้ก็มีมากขึ้น และสถานการณ์เวลานี้คำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับโควิด-19 เรื่องเศรษฐกิจ การชุมนุมต่าง ๆ เงื่อนไขเหล่านี้ เอื้ออำนวยให้พรรคร่วมรัฐบาลจับมือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯที่เหลืออีก 5 คนแทน ดังนั้นหากใช้วิธีลาออกจะเสียเปรียบทางการเมืองมากกว่าการใช้วิธียุบสภา 

 

ยุบสภาก่อนรัฐธรรมนญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้กับยุบสภาหลังรัฐธรรมนญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้ ผลต่างกันอย่างไร

 

อาจารย์ยุทธพร มองว่าถ้ายุบสภาหลังรัฐธรรมนญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้ กติกาเลือกตั้งเปลี่ยน เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ โอกาสของพรรคเพื่อไทยมีมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ และถ้าเกิดพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากขึ้นกว่าเดิม หรือพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ ได้คะแนนมากขึ้นกว่าเดิม ถึง ส.ว. จะร่วมโหวตฯเลือก "นายกฯ" ได้ ก็มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง

 

แต่ถ้ายุบสภาตอนนี้ก่อนที่รัฐธรรมนญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้ โอกาสของพรรคพลังประชารัฐก็ยังมีอยู่แม้ว่าในพรรคพลังประชารัฐ
จะมีปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพ แต่เมื่อใช้กติกาเดิม ก็จะมีพรรคเล็ก พรรคจิ๋วเข้ามา ก็จะทำให้โอกาส พล.อ. ประยุทธ์ จะกลับมาเป็น"นายกฯ" ได้อีกมีมากกว่า 

 

ทางเลือกของ พล.อ. ประยุทธ์ ถูกบีบให้น้อยลงเรื่อย ๆ ตามลำดับนับจากนี้ การที่จะใช้วิธียุบสภาก่อนรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้ ก็มีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่มากนักเพราะถ้ายุบสภาตอนนี้ความไม่พร้อมของพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ. ประยุทธ์  ก็จะเป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ

 

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องรอให้มีความพร้อมมากกว่านี้เช่นรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจหลังการเปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้เป็นต้นไป  รอดูว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ สถานการณ์โควิด-19 จะเป็นอย่างไร จะเป็นจุดให้ พล.อ. ประยุทธ์ ตัดสินใจมากกว่า

 

แต่ทางเลือกของ พล.อ. ประยุทธ์  จะแคบลงเรื่อยๆ นับจากนี้ไป แต่จะไม่มีการยุบสภาจนกว่าหลังปีใหม่เป็นต้นไป ซึ่งหลังปีใหม่ไปแล้ว การยุบสภาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 

 

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า  ไม่มีความเสี่ยงทางการเมืองในการที่ "นายกฯ"เดินทางออกนอกประเทศในครั้งนี้  แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีปัญหาความเป็นเอกภาพ และบอกว่าตอนนี้จบแล้ว แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นอีก ก็คงมีการจัดการกันอีกรอบในพรรค

 

การเดินทางออกนอกประเทศในครั้งนี้ยังเป็นเกมของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการทดสอบว่าปัญหาในพรรคพลังประชารัฐจบจริงหรือไม่ ถ้ามีการตีรวนในสภาเกิดขึ้นมาอีกจากคนของพรรคพลังประชารัฐ ก็คงมีการปรับโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน

 

แต่ไม่มีทางที่จะไปถึงขั้นยุบสภาหรือนายกฯลาออกแน่นอน เพราะยังมีภารกิจของรัฐบาลอีกหลายก้าวที่พรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลต้องมีความพร้อมมากกว่านี้ในการที่จะเลือกตั้งและคิดว่านายกฯคงไม่ชิงยุบสภาก่อนรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้ คือต้องการใช้การเลือกตั้งระบบ 2 ใบ เพราะพรรคพลังประชารัฐต้องการเพิ่มเสียงตัวเองและต้องการจำกัดหรือควบคุมอำนาจต่อรอง

 

เพราะการมีพรรคการเมืองจำนวนมาก ได้รับบทเรียนว่ายากลำบากมากในการเป็นรัฐบาลผสม เพราะถ้าพรรคพลังประชารัฐได้เสียงจากการเลือกตั้งระบบ 2 ใบมากขึ้น ก็จะจัดการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในพรรคได้ง่ายขึ้น เช่นการจัดสรรโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับคนในพรรคได้มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจะไม่ไปเล่นในกติกาเดิมคือการเลือกตั้งใบเดียวแน่อน