3วันอันตราย เหินฟ้าไปนอกท่ามกลางการชิงจังหวะ"นายกฯขาลอย"
31 ต.ค. – 3 พ.ย. "ลุงตู่" ไม่ได้อยู่เมืองไทยถึง 3 วัน อาจเรียกได้ว่าเป็น “3 วันอันตราย” เพราะไม่มีใครรู้ว่าในห้วงเวลาที่ลุงตู่ไม่อยู่นี้ โดยมี “ลุงป้อม” ทำหน้าที่บริหารจัดการบ้านเมืองแทน จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่คาดคิดขึ้นได้หรือไม่ ติดตามได้เจาะประเด็นร้อน
ท่ามกลางไฟสุมทรวงที่อาจปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถึงแม้ว่าตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุการณ์นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะถกกับ 6 รัฐมนตรีของพรรคยังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล แล้วยังเคลื่อนพลไปถกกันต่อที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ โดยมี "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. ร่วมวงด้วย บนใจความสำคัญหลักๆ คือต้องการปลด "ผู้กองตุ๋ย" ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นเก้าอี้เลขาธิการพรรค พปชร. ด้วยการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ แต่แล้วสิ่งที่คิดฝันและหวังไว้ก็สะดุด เมื่อบิ๊กป้อม กระโดดเข้ามาดับไฟร้อนให้มอดลงได้ในชั่วข้ามคืน ปิดฉากร้อนการเมืองภายในพรรค พปชร.
เจาะประเด็นร้อน “เมฆ เมฆา” จับทิศทางความเคลื่อนไหวของพรรค พปชร. ณ เวลานี้ แม้อาจจะยังไม่มีแรงกระเพื่อมรอบใหม่ แต่ก็ยังไม่อาจไว้วางใจได้เพราะในช่วงระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 3 พ.ย.นี้ "ลุงตู่" ไม่ได้อยู่เมืองไทยถึง 3 วัน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “3 วันอันตราย” ก็ได้เพราะไม่มีใครรู้ว่าในห้วงเวลาที่ลุงตู่ไม่อยู่นี้ โดยมี “ลุงป้อม” ทำหน้าที่บริหารจัดการบ้านเมืองแทนลุงตู่นั้น จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่คาดคิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะเป็นที่รู้กันว่าลุงตู่นั้นเป็น "นายกฯ ขาลอย” ไร้พรรคสังกัด จะหลับตานอนก็ยังนอนหลับไม่สนิทเลยสักคืน
ในห้วงที่ไฟร้อนภายในพรรคเพิ่งดับลง แต่แล้วนายกฯ และคณะกลับต้องบินไปประชุมที่ต่างประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ และเป็นการบินออกนอกประเทศครั้งแรกของลุงตู่ในรอบเกือบ 2 ปี นับแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 โดยค่ำวันที่ 31 พ.ย.นี้ เวลา 18.20 น. นายกฯ และคณะ จะเดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยาน Glasgow Prestwick เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
การบินออกนอกประเทศครั้งนี้ก็เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 ระหว่างวันที่ 1-2 พ.ย. 2564 ซึ่งการประชุม COP26 มีขึ้นในระหว่างวันที่ 31 ต.ค. - 12 พ.ย. 2564 โดยนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรได้เชิญประมุขและผู้นำรัฐบาลจากทั่วโลกมากกว่า 120 ประเทศ ตลอดจนผู้แทนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวมกว่า 25,000 คน เข้าร่วมการประชุมด้วย
ก่อนหน้านี้ โฆษกประจำสำนักนายกฯ นายธนกร วังบุญคงชนะ แจ้งไว้ว่าในการประชุมระดับผู้นำ COP26 ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์ของไทยต่อความท้าทายสำคัญของโลก เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่นายกฯ จะได้นำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย (Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงปารีส และย้ำให้ประชาคมโลกทราบถึงเป้าหมายของไทย และการดำเนินการที่แข็งขันของไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ของลุงตู่และคณะ นับเป็นเครดิตของประเทศและเพิ่มความน่าเชื่อถือของไทยและผู้นำไทยต่อประชาคมโลกในความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งนายวราวุธ ศิลปะอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข่าวไว้ก่อนแล้วว่า การประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญของการประชุมเพื่อหารือรายละเอียดความร่วมมือและกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก ภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส ครอบคลุมประเด็นด้านเทคนิค และประเด็นด้านการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของกรอบอนุสัญญาฯ โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องหารือในการประชุมครั้งนี้ อาทิ การกำหนดกลไกความร่วมมือสำหรับการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ การกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินงานตามเป้าหมายที่ประเทศกำหนด การกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องให้การสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกำหนดรูปแบบการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก และการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด เป็นต้น
สิ่งที่ชวนลุ้นและน่าจับตามอง นอกเหนือจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้คือ เมื่อลุงตู่บินออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ก็หวังว่าลุงตู่และคณะจะบินกลับเข้าประเทศได้อย่างปลอดภัยเพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว อดีตนายกฯ นายทักษิณ ชินวัตร และคณะ ก็เคยบินออกนอกประเทศเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในช่วงวันที่ 10-21 ก.ย. 2549
แล้วในที่สุดนายทักษิณ ก็ไม่ได้กลับบ้าน นับแต่นั้นมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี บนเส้นทางการเมืองนอกประเทศและนอกสภา ที่นายทักษิณ ยังคงเป็นผู้กุมชะตาพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด หลังถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น โดยอ้างว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทักษิณ ทำให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย จนนำมาสู่การประกาศแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ต.ค. 2549
หวังว่า “ลุงตู่” ในภาพ “นายกฯ ขาลอย” วันนี้.. คงไม่เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับ“โทนี วู้ดซัม” เป็นแน่..!!