คอลัมนิสต์

ส่อง "นิโรธ" มังกรปากน้ำโพ ว่าที่ ประธานวิปรัฐบาล คนใกล้ชิดคนใหญ่ในทำเนียบฯ

ส่อง "นิโรธ" มังกรปากน้ำโพ ว่าที่ ประธานวิปรัฐบาล คนใกล้ชิดคนใหญ่ในทำเนียบฯ

03 พ.ย. 2564

พลิกปูมมังกรปากน้ำโพ "นิโรธ" ส.ส.4 สมัย จากคนดังลาดยาว ถึงสายตรงทำเนียบ กองหนุนปึ้ก หากไม่สะดุดขาใหญ่ ได้เป็นประธานวิปรัฐบาลแน่ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

เปิดสภาฯ เที่ยวนี้ ชื่อ “นิโรธ” ส.ส.นครสวรรค์ ถูกโจษขานในสื่อมากที่สุด เนื่องจากมีข่าวว่าเขาเป็นตัวเต็งที่จะได้เป็นประธานวิปรัฐบาล แทน วิรัช รัตนเศรษฐ ที่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

 

สื่อทุกสำนักอ้างเหตุผลที่ “นิโรธ” จะได้รับตำแหน่งประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ เพราะมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาวางตัวเอาไว้แล้ว

 

ศึกซักฟอกหนที่แล้ว “นิโรธ” ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯประยุทธ์ คอยยกมือประท้วง และอภิปรายตอบโต้ฝ่ายค้านอย่างดุเดือด เขาจึงโดดเด่นขึ้นมาในช่วงดังกล่าว

นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ และการเลือกตั้งทั่วปี 2562 เขาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 4 และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร

 

ช่วงที่อยู่ในสภาฯ นิโรธ สุนทรเลขา จะไปไหนมาไหนกับวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ 8 สมัย และมีข่าวว่า วีระกรก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีข่าวเป็นแคนดิเดตประธานวิปรัฐบาล

 

‘มังกรลาดยาว’

“นิโรธ สุนทรเลขา” เกิดในตลาดปากน้ำโพ แต่ไปโตทางการเมืองที่ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ เนื่องจากมีญาติทำโรงสีข้าวอยู่ที่อำเภอชายขอบ จึงใกล้ชิดกลุ่มเกษตรกร และกลายเป็นฐานเสียงให้เขา

 

ก่อนลงเล่นการเมืองท้องถิ่น นิโรธทำธุรกิจหลายอย่างใน อ.ลาดยาว หลังจากเป็น ส.อบจ.นครสวรรค์ 2 สมัย บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยสมัยนั้น จึงชวนเข้าลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2544 และเป็น ส.ส.สมัยแรก

เลือกตั้งปี 2548 “นิโรธ” ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย เป็น ส.ส.สมัยที่ 2 หลังรัฐประหาร 2549 นิโรธ ย้ายกลับไปพรรคชาติไทย ได้เป็น ส.ส.สมัยที่ 3 ในการเลือกตั้งปี 2550

 

ปี 2554 นิโรธ สวมเสื้อพรรคชาติไทยพัฒนาลงนาม แต่แพ้ “กำนันอู๊ด” ประสาท ตันประเสริฐ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ซึ่งเป็นคู่แข่งของเขามาตั้งแต่ปี 2544

 

เลือกตั้งปี 2562 นิโรธ ย้ายมาพรรคพลังประชารัฐ ลงสนามเขต 6 (อ.ลาดยาว ,อ.ลาดยาว,อ.แม่วงก์, อ.แม่เปิน และอ.ชุมตาบง) เอาชนะประสาท ตันประเสริฐ ไปได้แบบเฉียดฉิว

 

‘สายทำเนียบ’

หลังจัดตั้งรัฐบาล “นิโรธ” ,วีระกร คำประกอบ และภิญโญ นิโรจน์ 3 ส.ส.นครสวรรค์ ไปสังกัดกลุ่มสามมิตร แต่ระยะหลัง นิโรธกับวีระกร แยกตัวออกมาเป็นเอกเทศ ไม่ได้สังกัดกลุ่มใด

 

แม้ระยะหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และหิมาลัย ผิวพรรณ จะพยายามเข้าไปมีบทบาทในกลุ่ม ส.ส.นครสวรรค์ แต่ “นิโรธ” ก็ไม่ได้เข้าสังกัดซุ้มผู้กอง ตรงกันข้าม นิโรธกลับมาใกล้ชิดกับกลุ่ม เสธ.(นายทหารคนสนิทของนายกฯ) ในทำเนียบรัฐบาล

 

ดังนั้น ในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ 5 รัฐมนตรี ที่รัฐสภา ช่วงเดือน ก.ย.2564 นิโรธ สุนทรเลขา และวีระกร คําประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ จึงรับบทองครักษ์พิทักษ์นายกฯ จนเป็นที่แปลกใจของสื่อมวลชนสายสภาฯ

นิโรธ สุนทรเลขา ในภารกิจ ส.ส.ที่ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์

ว่ากันว่า ช่วงเกิดความขัดแย้งในพลังประชารัฐ มีความเคลื่อนไหวจะโหวตล้มนายกฯในสภา “นิโรธ” ได้รับการประสานจากกลุ่ม เสธ.ในทำเนียบ ช่วยรวบรวม ส.ส.พลังประชารัฐให้มากำลังใจนายกฯประยุทธ์

 

ตลอด 4 วันในวิกฤตศึกซักฟอก ก็จะเห็นนิโรธกับวีระกร เดินประกบ พล.อ.ประยุทธ์ ราวกับเป็นทีมงานของนายกฯ และมาถึงวันนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีชื่อของ “นิโรธ” เป็นเต็งหนึ่งที่จะได้เป็นประธานวิปรัฐบาล

 

คอการเมืองมองว่า หากไม่เจอขาใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐขวาง “นิโรธ” คงจะได้เป็นประธานวิปรัฐบาลคนใหม่แน่นอน