เปิดโครงสร้างการปกครอง "คณะสงฆ์ไทย" ปลด-แต่งตั้ง "เจ้าอาวาส" อำนาจใคร
เปิดโครงสร้างการปกครอง "คณะสงฆ์ไทย" ปลด-แต่งตั้ง "เจ้าอาวาส" อำนาจอยู่ที่ใคร ปมร้อนการเมืองใน "ศาสนจักร" ที่กลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง จากประเด็นดราม่า "วัดสร้อยทอง"
จากสถานการณ์ปัจจุบัน การเมืองใน "ศาสนจักร" เริ่มกลับมาร้อนแรงขึ้น จากประเด็นดราม่าแต่งตั้งเจ้าอาวาส "วัดสร้อยทอง" ซึ่งอำนาจการแต่งตั้ง "เจ้าอาวาส" หรือ การปลดออกจากตำแหน่ง "เจ้าอาวาส" หรือ "เจ้าคณะจังหวัด" มักตั้งคำถามกันว่า เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับวัด กับความประพฤติของ "เจ้าอาวาส" หรือ "พระสงฆ์" ที่ผิดกฎหมายผิดพระธรรมวินัย ใครเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำไมมหาเถรสมาคม ไม่ลงมาจัดการเรื่องนี้ ซึ่งหากพิจารณาถึงสภาพปัจจุบัน ถ้านำเรื่องเกี่ยวกับวัดทุกเรื่องเข้าสู่มหาเถรสมาคม อาจจะผิดขั้นตอนการปกครองคณะสงฆ์ และไม่เป็นไปตามระเบียบการปกครอง "คณะสงฆ์" ที่กำหนดไว้แล้วในกฎมหาเถรสมาคม "คมชัดลึกออนไลน" รวบรวมรายละเอียด โครงสร้างของคณะสงฆ์ไทย
การจัดโครงสร้างการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ การตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ เกิดจากความต้องการของรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ ให้สอดคล้องกับนโยบายการปกครองประเทศของจอมพลสฤษดิ์ ที่นิยมการรวบอำนาจการตัดสินใจเด็ดขาดไว้กับผู้นำที่เข้มแข็ง จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดให้มีการถ่วงดุลอำนาจกันนั้น นำมาซึ่งความล่าช้า และความขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ดังนั้น จึงเห็นว่า การแยกอำนาจบัญชาการคณะสงฆ์ออกเป็น ๓ ทาง คือ สังฆสภาคณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นระบบที่มีผลบั่นทอนประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการคณะสงฆ์ให้ต้องประสบอุปสรรคและล่าช้า
ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้น ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อคณะกรรมการทำงานสำเร็จ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ
"โดยที่การจัดดำเนินกิจการคณะสงฆ์ มิใช่เป็นกิจการอันแบ่งแยกอำนาจดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการถ่วงดุลอำนาจเช่นที่ เป็นอยู่ตามกฎหมายในปัจจุบัน และโดยระบบเช่นว่านั้นเป็นผลบั่นทอนประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการจึงสมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ ให้สมเด็จพระสังฆราช องค์สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคมตาม
อำนาจกฎหมายและพระธรรมวินัย ทั้งนี้เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา"
พระภิกษุมีศีล ๒๒๗ ข้อเป็นเครื่องกำกับวัตรปฏิบัติ พระภิกษุทุกรูปอยู่ภายใต้การปกครองของ มหาเถรสมาคม ซึ่งได้วางกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ไว้เป็นลำดับขั้นการปกครอง และการปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนทุกชั้น มีเจ้าคณะมหานิกาย และเจ้าคณะธรรมยุตปกครองบังคับบัญชาวัด และพระภิกษุสามเณรในนิกายนั้น เช่น คณะธรรมยุตมีเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตปกครอง ส่วนคณะมหานิกาย แบ่งการปกครองออกเป็น ๔ หน คือ เจ้าคณะใหญ่หนหลวง เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าคณะใหญ่หนใต้
ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งได้กระจายอำนาจการปกครองออกเป็นส่วน ๆ ดังนี้
ส่วนที่ ๑ ภาค มีเจ้าคณะภาคดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ในเขตภาคของตนให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
ส่วนที่ ๒ จังหวัด มีเจ้าคณะจังหวัดปกครอง (เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศ)
ส่วนที่ ๓ อำเภอ มีเจ้าคณะอำเภอปกครอง (เจ้าคณะเขตในกรุงเทพมหานครและเจ้าคณะอำเภอทั่วประเทศ)
ส่วนที่ ๔ ตำบล มีเจ้าคณะตำบลปกครอง (เจ้าคณะแขวงในกรุงเทพมหานครและเจ้าคณะตำบลทั่วประเทศ)
อำนาจหน้าที่สำคัญของเจ้าคณะตำบล นอกจากการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงามแล้ว ยังมีหน้าที่ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่ง หรือ คำวินิจฉัยชั้นเจ้าอาวาส แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าอาวาสให้เป็นไปโดยชอบ ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าอาวาส และพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรือผู้อยู่ในปกครองของตน ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการ ในเขตการปกครองของตน
เรียงลำดับการปกครองคณะสงฆ์ จากล่างขึ้นบน เป็นดังนี้
- ตำบล ปกครองดูแลวัด (เจ้าคณะตำบลดูแลหลาย ๆ วัด)
- อำเภอ ปกครองดูแล ตำบล (เจ้าคณะอำเภอดูแลหลาย ๆ ตำบล)
- จังหวัด ปกครองดูแล อำเภอ (เจ้าคณะจังหวัดดูแลหลาย ๆ อำเภอ)
- ภาค ปกครองดูแลจังหวัด (เจ้าคณะภาค ดูแลหลาย ๆ จังหวัด)
- หน ปกครองดูแลภาค (เจ้าคณะใหญ่ ดูแล ภาคหลาย ๆ ภาค)
- มหาเถรสมาคม ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม รายละเอียด ขอบเขต อำนาจ หน้าที่ ลงลึกไปตามโครงสร้างของคณะสงฆ์ไทย "คมชัดลึกออนไลน์" จะนำมาไล่เรียงในลำดับต่อไป เพื่อให้เข้าใจถ่องแท้ในแง่มุมของวงการสงฆ์ ใน "ศาสนจักร" มากยิ่งขึ้น
ที่มา : สำนักพุทธศาสนา