คอลัมนิสต์

ไขคำตอบ "คนอีสาน" เลือกทักษิณ-ชวลิต แชมป์ตัวจริง

ไขคำตอบ "คนอีสาน" เลือกทักษิณ-ชวลิต แชมป์ตัวจริง

07 พ.ย. 2564

ตลาดการเมือง "คนอีสาน" เป็นที่หมายปองของทุกพรรค ย้อนอดีตพ่อใหญ่จิ๋ว-ทักษิณ คว้าแชมป์อีสาน แกะรอยพรรคไหนโหนกระแสเหยียดลูกข้าวเหนียว คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

กระแสเหยียด “คนอีสาน” ไม่ใช่เพิ่งเกิดวันนี้ นับแต่มีคลื่นคนอีสานหลั่งไหลเข้ามาขายแรงในเมืองหลวงเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว อาการดูถูกคนอีสานก็ปรากฏในสังคมไทย

 

ในมิติทางการเมือง “คนอีสาน” มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น จนถึงยุคประชาธิปไตยแบบไทย เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนประชากรคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ

 

บนถนนสายเลือกตั้ง “คนอีสาน” ปั้นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 คนคือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และทักษิณ ชินวัตร

 

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ย้ายทะเบียนบ้านจากนนทบุรี ไปอยู่นครพนม เพื่อประกาศความเป็นลูกอีสาน และขอเป็นนายกฯคนอีสาน คนแรกของประเทศไทย

 

ทักษิณ ชินวัตร เป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด ด้วยชุดนโยบายประชานิยมโดนใจคนอีสานมากที่สุด จึงได้รับชัยชนะท่วมท้น เปรียบเสมือนนายกฯคนอีสาน และยังอยู่ในใจคนรากหญ้าจนทุกวันนี้

การเลือกตั้งปี 2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวน ส.ส.หายไปมากที่สุด เดิมมี ส.ส.126 คน ลดเหลือ 116 คน เพราะกติกาแยกเป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน

 

สำหรับเลือกตั้งครั้งใหม่ ตามกติกา ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมี ส.ส.มากกว่า 126 คน ฉะนั้น พรรคไหนกุมเสียง ส.ส.อีสานได้มากที่สุด ก็มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลสูง

 

ดังนั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จึงแถลงว่า “การจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต้องชนะใจคนอีสาน หากไม่สามารถชนะใจคนอีสานก็เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้”

 

ไม่น่าแปลกใจที่พรรคก้าวไกล เอาจริงเอาจังกับกระแสเหยียดคนอีสาน ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ซึ่งหลายคนก็งงๆ กับการปั้นกระแสดังกล่าว

 

‘พ่อใหญ่จิ๋ว’

สมัยที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็น ผบ.ทบ. ได้สร้างความจดจำให้ “คนอีสาน” ด้วยนโยบายอีสานเขียว มี แอ๊ด คาราบาว แต่งเพลงโปรโมตให้ดังระบือลือลั่น อีสานเขียวเลยเป็นยี่ห้อประจำตัวบิ๊กจิ๋ว

ปี 2535 พล.อ.ชวลิต พรรคความหวังใหม่ ระยะแรก ลงสมัคร ส.ส.นนทบุรี แต่ภายหลังได้ย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ที่ จ.นครพนม เพื่อสร้างจุดขายใหม่ “นายกฯคนอีสาน” โดยเพียรพยายามอยู่ 2 สมัยจึงประสบความสำเร็จ

 

ผลการเลือกตั้ง 17 พ.ย.2539 ปรากฏว่า พรรคความหวังใหม่ ได้ ส.ส. 125 คน เฉือนพรรค ประชาธิปัตย์ ได้ 123 คน ทำให้ความหวังใหม่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

 

ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคความหวังใหม่รู้ดีว่าเสียเปรียบพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีฐานเสียงอยู่ในกรุงเทพฯ ,ภาคกลาง และภาคใต้ ฉะนั้น จุดเปลี่ยนที่จะเอาชนะ ปชป.ได้ ก็คือการยึดเก้าอี้ ส.ส.อีสานให้ได้มากที่สุด

 

กระบวนการปั่นกระแสพ่อใหญ่จิ๋ว นายกฯคนอีสาน ดำเนินการโดยองค์กรครูอีสาน และกลุ่มเกษตรกรอีสาน ควบคู่กับระดมนักเลือกตั้งกลุ่มวังน้ำเย็น ของเสนาะ เทียนทอง มาร่วมด้วยช่วยกัน ในที่สุด ความหวังใหม่ก็เป็นแชมป์อีสาน สมใจพ่อใหญ่จิ๋ว

 

‘มนต์รักประชานิยม’

20 ปีที่แล้ว ไม่มีใครเชื่อว่า “คนอีสาน” จะเทใจพรรคไทยรักไทย จนได้เป็นแชมป์อีสาน และผู้สมัคร ส.ส.โนเนม จำนวนมากได้เป็น ส.ส.สมัยแรก หรือที่เรียกกันว่า ส.ส.นกแล

 

ผลการเลือกตั้ง 6 ม.ค.2544 พรรคไทยรักไทย ได้ ส.ส.เขต 200 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 48 คน ซึ่ง ส.ส.กว่าร้อยชีวิต ก็มาจากภาคอีสาน

 

ชัยชนะของทักษิณ ชินวัตร นั้นมาด้วยชุดนโยบายประชานิยม อาทิ 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน ,พักชำระหนี้ ฯลฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายโดนใจคนรากหญ้า

 

อีก 4 ปีถัดมา พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ได้ ส.ส.เขต 310 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 67 คน เฉพาะภาคอีสาน ไทยรักไทยกวาดมาเกือบหมด เหลือให้พรรค ปชป. 2 ที่นั่ง และพรรคมหาชน 1 ที่นั่ง

 

นี่คือการแสดงพลังการเมืองของ “คนอีสาน” ที่ทำให้พลังจารีตสั่นไหว และปี 2548 จึงเกิดขบวนการต้านระบอบทักษิณ

 

อย่างไรก็ตาม ชื่อทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ยังครองใจคนอีสานอยู่ใน พ.ศ.นี้ โดยมีพรรคก้าวไกล ที่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งในตลาดการเมืองภาคอีสาน

 

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต จึงเป็นการเบียดแย่งความนิยมจาก “คนอีสาน” โดยสองพรรคหลักคือ เพื่อไทยกับก้าวไกล ขณะที่พรรคอื่นเป็นแค่ตัวสอดแทรก