คอลัมนิสต์

จับสัญญาณสภา เตือนภัย"นายกฯ" สาหัสกว่าทุกครั้ง

จับสัญญาณสภา เตือนภัย"นายกฯ" สาหัสกว่าทุกครั้ง

09 พ.ย. 2564

เปิดสภามาไม่กี่วันเกิดเหตุสภาล่มฉากทัศน์ถัดจากนี้เข้าสู่การลงมติร่างกม.สำคัญ เป็นบททดสอบแรกของประธานวิปรัฐคนใหม่ ที่บอกว่า นายกฯอุ่นใจได้ แต่กลับสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ล่าสุด บ่งบอกถึงความไม่อุ่นใจซะแล้ว ติดตามได้ที่เจาะประเด็นร้อน โดย อสนีบาต

แม้ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ " นิโรธ สุนทรเลขา " เคยเปิดใจหลังการเข้ารับตำแหน่งว่า จะทำให้"นายกฯอุ่นใจได้"  ไม่ต้องห่วงปัญหาภายในสภาฯ  แต่กับการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี  กับแฝงด้วยความห่วงกังวลใจ

 

"วิปฝ่ายรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง เรื่องไหนสำคัญ เรื่องไหนจำเป็นต้องออก อันไหนที่เป็นกฎหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อมหรือการศึกษา รวมทั้งการปฏิรูปต่าง ๆ เหล่านี้ มันต้องออก ไม่ใช่จะบอกว่าไม่ออกเพื่อให้รัฐบาลล้ม ผมว่าใจร้ายเกินไป ใจร้ายกับประเทศเกินไปผมว่านะ”   

 

นั่นเป็นคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 8 พ.ย.64  ที่ทำเนียบรัฐบาล 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับบทสัมภาษณ์แสดงถึงความกังวลใจ

 

เป็นการตอบคำถามสื่อมวลชนภายหลังที่มีการแต่งตั้ง "นิโรธ สุนทรเลขา ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล แทน นายวิรัช  รัตนเศรษฐ์  อดีตประธานวิปรัฐบาล ที่ถูกศาลสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ จากการต้องคดีทุจริตสนามฟุตซอล  

 

 

ก่อนหน้านี้ นายนิโรธ ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ เคยเปิดใจกับคมชัดลึกว่า การที่นายกฯแต่งตั้งให้เป็นประธานวิปรัฐบาล จะทำให้"นายกฯอุ่นใจ"  ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังต่อสถานการณ์การทำงานในที่ประชุมสภาฯที่เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลมักเกิดอะการสะดุดนำไปสู่สภาล่มครั้งแล้วครั้งเล่า  

 

แม้เหตุการณ์ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การทำงานของสภา แต่ทว่า สำหรับการประชุมสภาครั้งที่ 2 สมัยสามัญรอบนี้กลับน่ากังวลกว่าครั้งใดๆ 

 

นิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล

 

อันเป็นเหตุมาจากวางระเบิดทางการเมืองทิ้งไว้ในสภา จากวีรกรรมของ "ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า" และคณะที่จ้องเขย่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในคราวอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ นายกฯ ต้องปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ ดร.บิ๊กอาย  นฤมล  ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากรมช.แรงงาน 

 

สร้างรอยร้าวให้เกิดขึ้นกับคนที่สั่งปลดและคนที่ถูกปลดลามบานปลายไปถึงกลุ่มก๊วนภายในพรรคพลังประชารัฐที่แม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพปชร.  ในฐานะพี่ใหญ่ในวงศ์ 3 ป. ต้องเรียกกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ มาปรับความเข้าใจ พร้อมกับออกมายืนยันต่อหน้าสาธารณชน ไม่มีปัญหาความขัดแย้งใด ทุกอย่างได้รับการแก้ไขยุติแล้วก็ตาม 

 

หรือแม้แต่ การให้สัมภาษณ์ล่าสุดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ด้วยการตอบคำถามนักข่าวถึงกรณีมีข่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์  ได้พูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยตรงแล้วใช่หรือไม่ ซึ่ง นายกฯ กล่าวยืนยันว่า “ ยังไม่ได้คุย คุยไปครั้งนึงมั้งตอนแรก ๆ ผมเคยคุยกับเขาครั้งหนึ่ง ก็ดี ก็คุยกัน”


เมื่อถามอีกว่าจะทำให้พรรคพปชร. เป็นปึกแผ่นมากขึ้นใช่หรือไม่ โดยเฉพาะกับนายกฯ จะเป็นเนื้อเดียวกันใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ถ้าไม่มีใครคอยยุแยงตะแคงรั่วก็จะดีอยู่มั้ง"

ทำให้สื่อมวลชนนำไปเสนอข่าวในเวลาต่อมาใน ทำนอง นายกฯคุยกับ ธรรมนัสแล้วบ้าง  เคลียร์ใจกันเรียบร้อยแล้วบ้าง 

 

ทว่า หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงถ้อยความการให้สัมภาษณ์ทั้งหมด นอกจากนายกฯต้องการสื่อสารว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งกับฟาก ร.อ.ธรรมนัส ยังจับอาการได้ถึงการรับรู้สถานการณ์ในสภาไม่น่าไว้วางใจ  

 

"วิปฝ่ายรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง เรื่องไหนสำคัญ เรื่องไหนจำเป็นต้องออก อันไหนที่เป็นกฎหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อมหรือการศึกษา รวมทั้งการปฏิรูปต่าง ๆ เหล่านี้ มันต้องออก ไม่ใช่จะบอกว่าไม่ออกเพื่อให้รัฐบาลล้ม ผมว่าใจร้ายเกินไป ใจร้ายกับประเทศเกินไปผมว่านะ”   

 

เพราะแม้จะมีการแต่งตั้งประธานวิปรัฐบาลคนใหม่  ที่ชื่อ นิโรธ สุนทรเลขา บุคคลผู้เปิดใจว่า "นายกฯอุ่นใจได้" แล้วก็ตาม หรือเพราะแม้ว่าจะอ้างว่า ได้พูดคุยเคลียร์ใจกับรอ.ธรรมนัสแล้วก็ตาม 

 

แต่กับข้อความที่กล่าวไปถึงวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ควรผ่านร่างกฎหมายสำคัญ ไม่ควรเล่นเกมเพื่อจ้องล้มรัฐบาล ถึงกับบอกว่าถ้าทำกันแบบนี้ถือว่าใจร้ายเกินไป ใจร้ายต่อประเทศ 

 

ยิ่งทำให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ มองสถานการณ์ข้างหน้าด้วยความห่วงกังวลที่มากกว่า กรณีได้ประธานวิปที่การันตีกับนายกฯว่า ขอให้อุ่นใจได้ หรือ กรณีการสงบศึกกับธรรมนัสแล้วก็ตาม

 

อย่าลืมว่าเพียงแค่เปิดสภาสมัยสามัญครั้งที่สองเพียงไม่กี่วัน ที่ประชุมสภาก็สร้างปรากฎการณ์สภาล่ม ในช่วงการพิจารณาร่างกม.คุ้มครองพยาน จนนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา ต้องรีบตัดบทเลื่อนวาระนี้ไปพิจารณาครั้งต่อไป 

 

ย่อมทำให้เห็นถึงสัญญาณความไม่พร้อมของเสียงส.ส.ฟากรัฐบาล ที่ไม่อาจควบคุมการทำงานในสภาไปต่อได้  แล้วนับประสาอะไรกับ การพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญที่กำลังจ่อคิวเข้ามาอีกหลายวาระนับจากนี้ 

 

สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน

 

สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน  เคยกล่าวถึงกรณีที่นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ว่า นายนิโรธเคยอยู่พรรคเดียวกันมาก่อน เชื่อว่าจะประสานงานกันได้ แต่ยอมรับว่ามีความกังวล หากยึดติดว่าตัวกูของกู จะทำให้ทำงานยาก อย่างไรก็ดีฝ่ายค้านใจกว้าง พร้อมยอมรับ

 

"ผมขอฝากถึงประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ว่า ให้ยึดแนวทางเดิมในการประสานงานร่วมกัน และสร้างแนวทางใหม่มาสร้างสรรค์การทำงานโดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายสำคัญต่างๆ  นอกจากนี้ต้องทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ศรัทธาของประชาชน ไม่ให้อำนาจอื่น บ่อนทำลาย หรือด้อยค่าสภาฯ"  

 

เป็นท่าทีของประธานวิปฝ่ายค้านที่มีต่อประธานวิปรัฐบาล ทั้งการออกมาเปิดเผยถึงเคยทำงานร่วมกันในพรรคเดียวกันมาก่อน เป็นการย้ำว่า การทำงานร่วมกันของนักการเมืองเหล่านี้ ไม่ต้องการให้อำนาจอื่น เข้ามาบ่อนทำลาย หรือด้อยค่าสภาฯ 

 

สุทินกำลังกล่าวถึงอำนาจใด ส่งสัญญาณไปถึงใคร !!! 

 

ยิ่งการเปิดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 9 พ.ย.นี้ ถือเป็นบททดสอบแรกอย่างเป็นทางการของประธานวิปรัฐบาลคนใหม่เสียด้วยซ้ำ เมื่อสภามีวาระพิจารณาเพื่อลงมติ  ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. และ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 

 

แน่นอนฝ่ายค้านมีความเห็นแตกต่างไปจากฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว และมีบางพรรคเตรียมที่จะลงมติไม่เห็นด้วย แต่ในทางการเมือง โอกาสของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมเป็นไปได้สูงอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการประชุมร่วมกับวุฒิสภาด้วย จึงไม่น่ามีปัญหาเท่าไหร่ 

 

แต่ก็ยังถือเป็นบททดสอบการทำงานแรกของประธานวิปรัฐบาลในการควบคุมจำนวนเสียงของส.ส.ฟากรัฐบาลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  ซึ่งจะมีบททดสอบที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆเข้ามา 

 

อีกประการ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยังไม่ได้โปรดเกล้าฯลงมาซึ่งมีกำหนดเวลาไว้ประมาณ 90 วัน ก็อยู่ในราวเดือนมกราคม 2565 ขณะที่การประชุมสภาครั้งที่สองสมัยสามัญมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 พ.ย.64 -  28 ก.พ.65 

 

ฉะนั้นห้วงเวลานับจากนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ต่อ"ปฏิบัติการ"ภายในสภา  จึงไม่แปลกที่นายกรัฐมนตรี ต้องออกมากล่าวถึงการทำงานร่วมกันของวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน

 

"การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร"

 

ความพยายามร่วมด้วยช่วยกันกระทำการบางอย่าง ย่อมเกิดขึ้นได้ ตามทฤษฏีสมคบคิด

 

เพื่อให้มีผลสั่นคลอนไปถึงเก้าอี้นายกฯในช่วงเวลานับจากนี้