คอลัมนิสต์

ย้อนตำนาน "พระอารามหลวง" ใช้หลักเกณฑ์ใด ในการจัดแบ่งตามลำดับชั้น

ย้อนตำนาน "พระอารามหลวง" ใช้หลักเกณฑ์ใด ในการจัดแบ่งตามลำดับชั้น

09 พ.ย. 2564

เปิดเกร็ดความรู้ ย้อนตำนาน "พระอารามหลวง" ถูกแบ่งระดับอย่างไร แล้วใช้หลักเกณฑ์ใด ในการจัดแบ่งตามลำดับชั้น อันเป็นอำนาจการปกครองใน "ศาสนจักร"

หากพูดถึง "วัด" ในประเทศไทย เชื่อว่า น่าจะมีหลายคนเกิดความสงสัยว่า ชื่อของ "วัดไทย" มีความแตกต่างกันออกไปในคำลงท้าย ซึ่งคำลงท้ายที่แตกต่างกัน คือสิ่งที่บ่งบอกความแตกต่าง ระดับชั้น ของวัดนั้น ๆ รวมทั้ง "วัดราษฏร์" กับ "พระอารามหลวง" หรือ "วัดหลวง" ก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน "คมชัดลึกออนไลน์" จะพาไปทำความรู้จักกับ "พระอารามหลวง" ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร และมีความแตกต่างจาก "วัดราษฎร์" อย่างไร

 

 

พระอารามหลวง หรือ วัดหลวง คือ วัดที่พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้าง หรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นวัดหลวง และวัดที่ราษฎรสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าจำนวนในบัญชีเป็นพระอารามหลวง

 

 

ย้อนตำนาน \"พระอารามหลวง\" ใช้หลักเกณฑ์ใด ในการจัดแบ่งตามลำดับชั้น

แต่เดิมนั้น ยังไม่มีการจัดแบ่ง พระอารามหลวง อย่างเป็นทางการ เพียงแต่มีการจัดแบ่ง พระอารามหลวง ออกเป็นหลายชั้นตามความรู้สึก หรืออาศัยการคาดเดาตามสถานการณ์ เช่น ดูจากการพระราชทานเทียนพรรษาขี้ผึ้ง หรือไม้เล่มเดียว หรือมากกว่านั้น หรือดูจากการบรรดาศักดิ์ ที่พระราชทานแก่เจ้าพนักงานผู้คุมเลกข้าพระ เป็นต้น หลังจากนั้น กระทรวงธรรมการ ร่วมกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้จัดระเบียบพระอารามหลวง เพื่อประมาณค่าบำรุงวัดหลักจากเลิกเลขวัด แต่ไม่ได้นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดระเบียบพระอารามหลวง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดระเบียบพระอารามหลวงขึ้นอย่างเป็นระบบตั้งแต่นั้นมา

 

 

โดยในครั้งนั้น วัดที่จัดว่าเป็นพระอารามหลวงนั้น คือ วัดอันสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้าง ทรงปฏิสังขรณ์เป็นส่วนพระองค์ หรือทรงในนามท่านผู้อื่น และอารามอันพระบรมวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่สร้างปฏิสังขรณ์ทรงรับไว้ในความบำรุงของแผ่นดิน ภายหลังจึงหมายรวมถึง วัดราษฎร์ ที่ประชาชนสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ แล้วทรงพิจารณาเห็นสมควรยกย่องเป็นพิเศษ ก็ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง

 

 

ย้อนตำนาน \"พระอารามหลวง\" ใช้หลักเกณฑ์ใด ในการจัดแบ่งตามลำดับชั้น
 

การแบ่งพระอารามหลวง

 

หากพูดถึงการแบ่ง พระอารามหลวง ก็จะมีการแบ่งตามระดับชั้น โดยการจัดลำดับชั้นของพระอารามหลวง เริ่มมีขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2458 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบแบ่งชั้นพระอารามหลวงออกเป็นสามชั้น แต่ละชั้นยังแยกระดับออกไปอีกหลายระดับ โดยมีสร้อยต่อท้ายชื่อวัดตามฐานะ ดังนี้

 

 

1. พระอารามหลวงชั้นเอก ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานบรรจุพระบรมอัฐิ หรือเป็นวัดที่มีเกียรติสูง มี 3 ชนิด คือ

  • ชนิดราชวรมหาวิหาร
  • ชนิดราชวรวิหาร
  • ชนิดวรมหาวิหาร

 

2. พระอารามหลวงชั้นโท ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานสำคัญ มี 4 ชนิด คือ

 

  • ชนิดราชวรมหาวิหาร
  • ชนิดราชวรวิหาร
  • ชนิดวรมหาวิหาร
  • ชนิดวรวิหาร

 

3. พระอารามหลวงชั้นตรี ได้แก่ วัดประจำหัวเมือง หรือวัดที่มีความสำคัญชั้นรอง มี 3 ชนิด คือ

 

  • ชนิดราชวรวิหาร
  • ชนิดวรวิหาร
  • ชนิดสามัญ (ไม่มีสร้อยนามต่อท้าย โดยส่วนใหญ่จะต่อท้ายว่า พระอารามหลวง)

 

 

อย่างไรก็ตาม ความหมายของชื่อสร้อยลงท้าย ก็มีความหมายที่แตกต่างกันออกไปอีก อันบ่งบอกถึงสิ่งที่ทำให้รู้ระดับของวัดแต่ละวัด โดยความหมายของคำสร้อยที่ว่าประกอบไปด้วย

 

  1. ราชวรมหาวิหาร  เป็นพระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ได้ทรงสร้าง หรือทำการปฏิสังขรณ์แบบเป็นการส่วนพระองค์ โดยสิ่งปลูกสร้างที่ว่านี้ จะมีขนาดใหญ่โตสมพระเกียรติของพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงสร้างเอาไว้
  2. วรมหาวิหาร จะเป็นไปในลักษณะเดียวกับแบบราชวรมหาวิหาร คือกษัตริย์ชั้นผู้ใหญ่ทรงเป็นผู้สร้าง หรือปฏิสังขรณ์ แต่อาจจะมีความสำคัญในบางประการน้อยกว่า
  3. ราชวรวิหาร  ซึ่งพระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้าง หรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์
  4. วรวิหาร  คือพระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ แล้วทรงพระราชทานเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้อื่น

 

 

ย้อนตำนาน \"พระอารามหลวง\" ใช้หลักเกณฑ์ใด ในการจัดแบ่งตามลำดับชั้น

 

รายชื่อพระอารามหลวง ชั้นเอก

กรุงเทพมหานคร

  • วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
  • วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร (วัดสลัก)
  • วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
  • วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
  • วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
  • วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
  • วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
  • วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
  • วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
  • วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

พระนครศรีอยุธยา

  • วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร
  • วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
  • วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร

สระบุรี

  • วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

นครปฐม

  • วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร

สุโขทัย

  • วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร

สุราษฎร์ธานี

  • วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร

ชลบุรี

  • วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร

นครพนม

  • วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

เชียงใหม่

  • วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ลำพูน

  • วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

พิษณุโลก

  • วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่)

นครศรีธรรมราช

  • วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (หรือ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร)

 

 

จากสิ่งที่ได้สรุปมาทั้งหมด น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า คำลงท้ายของ "วัดไทย" มีความแตกต่างกันอย่างไร ในคราวต่อไป จะมาร่ายเรียงถึง "วัดราษฎร์" ว่าแตกต่างจาก "พระอารามหลวง" อย่างไร แล้ว "วัดราษฎร์" จะสามารถยกฐานะเป็นพระอารามหลวงได้หรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย,inclusivechurch

ขอบคุณภาพจาก google