เรื่องของวัด "วัดราษฎร์" วัดหลวง "วัดร้าง" วัดอะไรรับกฐินพระราชทานได้
เปิดปูมความรู้ ว่าด้วยเรื่องของ "วัดไทย" วัดร้าง วัดหลวง "วัดราษฎร์" แตกต่างกันอย่างไร แล้ววัดอะไรรับกฐินพระราชทานได้
คราวที่แล้ว ได้กล่าวถึงวัด "พระอารามหลวง" กันไปแล้ว ทำให้เข้าใจถ่องแท้ในรากแก่นของ "พระพุทธศาสนา" บ้างไม่มากก็น้อย คราวนี้ จะพามาแยกความแตกต่างของวัด "พระอารามหลวง" กับ "วัดราษฎร์" และ "วัดร้าง" ว่าเป็นอย่างไร
วัด หมายถึง สถานที่ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งปกติมีพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ รวมทั้ง มีพระภิกษุสงฆ์อาศัยที่ มาของคำว่า "วัด" บางคนอธิบายว่า มาจากคำว่า "วตวา" ในภาษาบาลี แปลว่า เป็นที่สนทนาธรรม บ้างก็ว่ามาจาก "วัตร" อันหมายถึงกิจปฏิบัติ หรือหน้าที่ของพระภิกษุที่พึงกระทำหรือแปลอีกอย่างว่า การจำศีล ภาวนา หรือสถานที่ ที่พระภิกษุสงฆ์ ใช้ปฏิบัติภาระกิจที่พึงกระทำนั่นเอง ในสมัยพุทธกาลนั้น มีการใช้คำว่า "อาราม" เป็นคำเรียกชื่อศาสนสถานในทางพุทธศาสนา ที่ใช้เรียกเสนาสนะที่มีศรัทธาถวาย พระพุทธองค์ เช่น "เชตวนาราม" หรือชื่อเต็มว่า
"เชตวเนอนาถบิณฑิกสสอาราเม" ซึ่งมีความหมายว่า "สวนของอนาถบิณฑที่ป่าเชต" หรือ "เวฬุวนาราม" หรือ "บุปผาราม" เป็นต้น "อาราเม" หรือ "อาราม" ในคำอ่านของไทย แปลว่า สวน นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา ยังมีคำที่ใช้เรียกอีกอย่างว่า "วิหาระ" หรือ "วิหาร"
ปัจจุบัน "วัดไทย" มีอยู่ทั่วประเทศ 42,626 วัด พระอารามหลวง 310 วัด วัดราษฎร์ 42,316 วัด หากแบ่งวัดออกตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ก็จะมี 2 ลักษณะ คือ วัดที่ได้รับพระราชทาน "วิสุงคามสีมา" และ "สำนักสงฆ์"
- วัดที่ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา คือ วัดที่มีอุโบสถ เป็นที่ทำสังฆกรรม คำว่า วิสุงคามสีมา หมายถึง เขตพื้นที่ที่พระภิกษุสงฆ์ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพื่อใช้จัดตั้งวัดขึ้น แต่ในทางปฏิบัตินั้น เป็นการขอพระบรมราชานุญาตเฉพาะแต่บริเวณที่ตั้งพระอุโบสถเท่านั้น
- ส่วนสำนักสงฆ์ คือ สถานที่ตั้งพำนักอาศัยของหมู่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาตใช้ผืนที่ดินแห่งนั้น เพื่อจัดตั้งเป็นวัดขึ้น ดังนั้น สำนักสงฆ์ จึงไม่มีโรงพระอุโบสถ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม วัดที่ได้รับพระราชทาน
- วิสุงคามสีมา จึงถือว่าเป็นวัดที่ถูกต้อง และมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ถ้าแบ่งตามสำดับความสำคัญ ก็แบ่งออกได้เป็น พระอารามหลวง หรือ วัดหลวง วัดราษฎร์ และวัดร้าง
เพราะฉะนั้น วัดราษฎร์ จึงหมายถึง วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และ สำนักสงฆ์ ซึ่งไม่ได้นับเข้าเป็นพระอารามหลวง ได้แก่ วัดที่ประชาชนทั่วไปสร้าง หรือ ปฏิสังขรณ์ หรือได้รับอนุญาตให้สร้างวัด และประกาศตั้งวัด โดยถูกต้องตามกฏหมายจากทางราชการ และช่วยกันทำนุบำรุงสืบต่อกันมาตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม มี วัดราษฎร์ ที่ได้ยกเป็นพระอารามหลวง ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ เป็นวัดที่มีความสำคัญต่อชุมชน มีอายุมากกว่า 50 ปี และมีพระสงฆ์จำพรรษาไม่น้อยกว่า 20 รูป ไม่น้อยกว่า 5 ปี มีพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
ส่วนความนิยมการสร้างวัดในปัจจุบัน ที่ได้รับการยกขึ้นเป็น พระอารามหลวง ต้องมีลักษณะถูกต้องตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการขอยก วัดราษฎร์ ขึ้นเป็น พระอารามหลวง พ.ศ.2518 จึงจะนับเป็น พระอารามหลวง ได้
เมื่อยกวัดราษฎร์ เป็น พระอารามหลวงแล้ว สามารถรับกฐินพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ และจะะมีงบประมาณในการพัฒนาวัดอีกด้วย
ส่วน วัดร้าง คือ วัดที่ทรุดโทรม ไม่มีพระสงฆ์พำนักอาศัยจำพรรษา ทางราชการจขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งหากบูรณะได้ อาจยกเป็นวัดมีพระสงฆ์ต่อไป โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ พ.ศ.2514
ที่มา : วิกิพีเดีย,สำนักงานพระพุทธศาสนา,ภาพจาก google