กองเชียร์เด็ก "ปิยบุตร" ปลุกเร้าบีบให้สู้นอกวิถีสภา
เอฟเฟกต์ล้มล้างการปกครอง "ปิยบุตร" ปลุกเร้าม็อบเยาวชนสู้ไม่ถอย เหมือนถูกบีบให้ต่อสู้นอกวิถีรัฐสภา สอดรับเสียงจากปารีส ยุเด็กปฏิวัติ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือล้มล้างการปกครองฯ “ปิยบุตร” แถลงไม่เห็นด้วย นี่เป็นการปิดประตูปฏิรูป สังคมไทยจะเดินไปสู่ทางเลือกเพียงสองทางที่หลงเหลืออยู่
ทัศนะของ “ปิยบุตร” ต่อคำวินิจฉัยข้างต้น สอดรับกับจรัล ดิษฐาภิชัย อดีตนักปฏิวัติที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศส ที่บอกว่าเมื่อปฏิเสธการปฏิรูปสถาบันฯ การปฏิวัติย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ปิยบุตร” ชี้คดีนี้มีความสำคัญ เป็นหมุดหมายในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่งผลทางการเมืองอย่างมหาศาล และชี้ชะตาสังคมไทย
ขบวนการเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ทั้งแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ,กลุ่มราษฎร, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, กลุ่มทะลุฟ้า ฯลฯ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ปฏิรูปแปลว่า ปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ใช่การล้มล้าง ไม่ใช่กบฏ พร้อมจะเดินหน้าต่อไป ตามข้อเสนอ 10 ส.ค.ปีที่แล้ว
ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊คเมื่อ 10 ส.ค.2564 ว่า "..วันนี้ เมื่อปีที่แล้ว พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ประกาศข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
หลังจากนั้น การชุมนุมของเยาวชนอนาคตของชาติ ตลอดปี ก็ยกระดับ ก้าวรุดหน้ามากขึ้น จนทำให้เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กลายเป็นข้อเรียกร้องที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา และอยู่ในพื้นที่สาธารณะ"
“ปิยบุตร” มีความกระตือรือร้นมาก โดยนำคณะก้าวหน้ามารณรงค์ลงชื่อเสนอแก้ไข ม.112 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปสถาบันฯ “เราหลีกหนีไม่ได้อีกแล้ว ร่วมกันปฏิรูปสถาบันฯ เพื่อรักษาสถาบันฯ”
‘กองเชียร์เด็ก’
9 ปีที่แล้ว “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ได้พยายามผลักดันให้เกิดคณะรณรงค์แก้ไข ม.112 โดยมีกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล หรือที่เรียกว่า แดงตาสว่าง เป็นแกนหลัก ออกล่ารายชื่อประชาชน เพื่อสนับสนุนร่างแก้ไข ม.112 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการปฏิรูปสถาบันฯ
ความฝันของปิยบุตรวูบดับ เมื่อพรรคเพื่อไทยเขี่ยร่างแก้ไข ม.112 ทิ้ง จากนั้น สถานการณ์พลิกผันจนเกิดรัฐประหาร 2557
ช่วงรัฐบาล คสช. รังสิมันต์ โรม ศิษย์เอกของ “ปิยบุตร” ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.เป็นระยะๆ แต่ม็อบจุดไม่ติด กระทั่งปี 2561 ปิยบุตรจับมือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่
สถานการณ์เวลานั้น ปิยบุตรไม่กล้าเสี่ยงเล่นเกมใหญ่ จึงไม่ผลักดันให้มีการบรรจุเรื่องแก้ไข ม.112 ไว้ในนโยบายพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งในภายหลัง ปิยบุตรออกมาพูดว่า นี่คือตราบาปทางการเมืองของเขา
นับแต่เกิดม็อบ 10 สิงหา พร้อมข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ ส่งผลให้ปิยบุตร มีความหวังขึ้นมาอีกครั้งที่จะเห็นการปฏิรูปสถาบันฯ
กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือล้มล้างการปกครองฯ “ปิยบุตร” จึงโพสต์เฟซบุ๊คว่า “หากเป็นเช่นนี้ สังคมไทยก็จะเดินมาสู่ทางเลือกเพียงสองทางที่หลงเหลืออยู่หนึ่ง อยู่กันไปแบบนี้ กับระบอบการปกครองแบบที่เป็นอยู่ที่มีลักษณะโน้มเอียงไปทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงมากขึ้นนับแต่ คสช.ก่อรัฐประหาร หรือสอง ระบอบอื่น..”
‘เสียงจากปารีส’
เมื่อไม่นานมานี้ “ปิยบุตร” พาภรรยาชาวฝรั่งเศสกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด และครั้งนั้น เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้พบกับ จรัล ดิษฐาภิชัย อดีตชาวคอมมิวนิสต์ไทย ที่หลบหนีออกจากไทย หลังรัฐประหาร 2557 และปัจจบัน จรัลได้สถานะพลเมืองฝรั่งเศส
หลังทราบผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการปฏิรูปสถาบันฯ จรัลได้โพสต์เฟซบุ๊คแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง และบอกว่า “เมื่อปฏิเสธการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การปฏิวัติย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ย้อนไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ได้มีม็อบเยาวชนนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ จรัลประเมินว่า กระแสสูงของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาถึงแล้ว ซึ่งตามประสบการณ์ของเขา การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเคยมีกระแสสูงมาแล้ว 4 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 โดยเริ่มมาตั้งแต่ 18 ก.ค.2563 มีลักษณะพิเศษหลายประการ
ประการสำคัญคือ เป้าหมายสูงสุดของขบวนการเยาวชนคือ ปฏิรูปสถาบันฯ จรัลประเมินว่า ฝ่ายสถาบันและรัฐไม่สามารถตอบโต้ขบวนการราษฎรได้ นอกเสียใช้มาตรการทางกฎหมาย จรัลยืนยันว่า “กระแสนี้ จะดำรงไปอีกยาวนาน ไม่แผ่วครับ”
“ปิยบุตร” และจรัล ดิษฐาภิชัย ต่างมีสถานะเป็นกองเชียร์เด็ก และยังฝันถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในสังคมไทย