นักวิชาการชี้ "คำวินิจฉัยศาล รธน." ไม่มีผลระงับความขัดแย้ง-การชุมนุม
นักวิชาการรัฐศาสตร์ ยุทธพร อิสรชัย ชี้ "คำวินิจฉัยศาล รธน." คดีแกนนำม็อบราษฎรล้มล้างการปกครอง ไม่มีผลระงับการชุมนุม ความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมยังมีอยู่ต่อไป ไม่ได้ช่วยคลี่คลาย ด้าน เจษฎ์ ชี้ มีโอกาสลุกลามใหญ่โต
รศ.ดร. ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นต่อผล "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ที่ชี้ว่าการชุมนุมของแกนนำม็อบราษฎรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 และเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญและสั่งให้ผู้ถูกร้องคือนายอานนท์ นำภากับพวกและกลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ว่า การชุมนุมคงไม่ยุติลงง่าย ๆ แม้ว่าจะมี "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ"ออกมา และการชุมนุมต่อจากนี้อาจมีการดำเนินคดีความต่าง ๆ ทางอาญาหรือทางแพ่งโดยมีผู้หยิบยกเอา"คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ"มา เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งด้วย ส่วนศาลแพ่ง หรือศาลอาญา จะฟังหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจของศาลอาญา ศาลแพ่ง
"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" เป็นคดีทางรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลทางอาญาหรือแพ่ง แต่เป็นในลักษณะคำสั่งให้ยุติหรือเลิกการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เขียนในคำวินิจฉัยอยู่แล้วว่า ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีต่าง ๆ ทั้งทางอาญาและแพ่ง ถ้ามีการกระทำที่ฝ่าฝืน"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ"อาจจะมีผู้ไปยื่นดำเนินคดีแพ่ง คดีอาญา ซึ่งไม่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการยุติธรรมปกติก็ว่ากันไป เช่น ร้องว่าผิดพ.ร.บ.การชุมนุม หรือยุยงปลุกปั่น ซึ่งการกระทำนั้นต้องเข้าข่ายคดีอาญาด้วย ส่วนคดีความที่มีอยู่เดิมซึ่งเกิดจากการชุมนุมที่มีการดำเนินคดีอยู่แล้ว ก็อาจมีการหยิบยกเอา"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ"ในวันนี้ไปประกอบเป็นพยานหลักฐานได้
หรือในอนาคตหากมีการชุมนุมที่มีลักษณะคล้ายกับคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นม็อบไหนก็ตาม ก็อาจมีคนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แล้วนำเอา "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ในคดีนี้มาอ้างต่อศาลรัฐธรรมูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถยืนยันคำวินิจฉัยเดิม โดยไม่ต้องไต่สวน
"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" ในครั้งนี้ ความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมก็ยังมีอยู่ต่อไปไม่ได้ช่วยคลี่คลายอะไร การชุมนุมก็ยังจะเกิดขึ้นต่อไป "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" ไม่ได้ช่วยระงับอะไรได้และต้องดูต่อไปว่าการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะขยายวงกว้างได้หรือไม่ การวิพากษ์วิจารณ์ต่อ"คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" จะเป็นประเด็นกว้างขวางในสังคมหรือไม่ การชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายที่แกนนำเขาถูกดำเนินคดี จะกลับมาชุมนุมใหญ่ได้หรือไม่ในเมื่อแกนนำเขาถูกดำเนินคดีอยู่
ด้าน รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย กล่าวว่า ผลจาก "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" มีผล 3 ประการ
1.ผู้ถูกร้องและเครือข่ายถูกสั่งห้ามทำในลักษณะเดียวกันอีก 2. อาจเป็นบรรทัดฐานว่าใครก็ตามไปทำในลักษณะเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ในกรณีนี้ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ 3. ในเมื่อมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญไม่ตัดสิทธิดำเนินคดีทางอาญาดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำในลักษณะนี้เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อาจมีการดำเนินการทางอาญาต่อ
ซึ่งดำเนินการได้ใน 2 ลักษณะ คือ 1.เอาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ส.ค. 63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปดำเนินการเอาผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 หมิ่นพระมหากษัตริย์, มาตรา 113 ฐานกบฏ หรือมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น หรือ 2.รอจนมีการกระทำเกิดขึ้นในลักษณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ แล้วจึงไปดำเนินการทางอาญาเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้ว
"คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าที่ประกาศ 10 ข้อ เป็นการปฏิรูปในลักษณะล้มล้าง เป็นการประกาศในลักษณะเดียวกับ คณะราษฎร จึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างสถาบันฯ
ส่วนกรณีที่นายณฐพร โตประยูร จะนำเอา "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ"ไปดำเนินการเพื่อยุบพรรคก้าวไกลต่อไปโดยอ้างว่าสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มราษฎรนั้น รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ต้องมองเป็น 2 ลักษณะ
1.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรวมไปถึง เครือข่าย ของแกนนำกลุ่มราษฎรผู้ถูกร้องด้วย ซึ่งเราไม่รู้ว่า เครือข่าย ครอบคลุมไปถึงไหนบ้าง
2.ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้าข่ายเป็น เครือข่าย ถือว่าทำผิดแบบเดียวกัน ถ้าเป็นองค์กร เช่น พรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองนั้นล้มล้าง เข้าข่ายถูกยุบพรรค แต่ถ้าพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เครือข่ายของผู้ถูกร้อง จะไปยุบพรรคก้าวไกลได้อย่างไร เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเกี่ยวกับผู้ถูกร้อง 3 คน และเครือข่ายเท่านั้น
แต่ถ้าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มราษฎรในการชุมนุมเมื่อ 10 สิงหาคม 63 เช่น ไปร่วมชุมนุม ให้เงิน ช่วยเขียนคำปราศรัย ไปผลักดันให้ขึ้นปราศรัย รู้เห็นเกี่ยวกับคำปราศรัย 10 ข้อ ถ้าเป็นพรรคการเมือง ก็ถูกยุบได้
ส่วนผลต่อบ้านเมืองนั้น คงมีคนไปร้องเพิ่มอีก และอาจมีการดำเนินการในส่วนคดีอาญา ม.112 ม.116 เต็มไปหมด ส่วนอีกฝ่ายก็ไม่ยอมรับ ก็มีโอกาสที่จะชนกัน เกิดการถกเถียง เกิดการชุมนุมและสุดท้ายไม่รู้ว่าจะเกิดการปะทะกันหรือไม่ แต่วุ่นวายแน่ จะมีการปลุกปั่นยุยุง ด่าทอ จาบจ้วงล่วงเกิน มีโอกาสลุกลามใหญ่โต