คอลัมนิสต์

"รศ.ดร.เจษฎ์" ชี้การชุมนุมอาจลุกลามบานปลาย หลังคำวินิจฉัยของศาล รธน.

"รศ.ดร.เจษฎ์" ชี้การชุมนุมอาจลุกลามบานปลาย หลังคำวินิจฉัยของศาล รธน.

11 พ.ย. 2564

เกาะติดสถานการณ์ทางการเมืองไทยและการชุมนุมของกลุ่มราษฎร "รศ.ดร.เจษฎ์" ชี้นับจากนี้อาจลุกลามบานปลาย หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการชุมนุมเรียกร้องของ 3 แกนนำ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

ทันทีที่ "คำวินิจฉัยประวัติศาสตร์" ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการปราศรัยและการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1, 2 และ 3 (นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 3 แกนนำกลุ่มราษฎร) เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1, 2 และ 3 รวมทั้งองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวที่จะมีขึ้นต่อไป 

 

“คมชัดลึก” สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้จะเป็นไปในทิศทางใด ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษใน “เจาะประเด็นร้อน” 
 

กลุ่มผู้ชุมนุมยังเดินหน้าปฏิรูปสถาบัน โดยเน้น 10 ข้อเรียกร้องเดิมและปฏิเสธคำวินิจฉัย จุดนี้จะส่งผลอย่างไรต่อบทบาท อำนาจ หน้าที่ และความศักดิ์สิทธิ์ของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศหรือไม่ ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย

 

ศาลในลักษณะของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นศาลที่ไม่ได้สามารถกำหนดโทษในลักษณะทางอาญาได้ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงกับการบังคับ หรือศาลในลักษณะของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ที่มีสภาพบังคับที่ชัดเจนกำหนดไว้ในกฎหมาย สามารถสั่งให้ดำเนินการ หรือให้มีการดำเนินการต่อทรัพย์สินได้ จึงทำให้การที่มีคำวินิจฉัย มีคำตัดสินและไม่มีการปฏิบัติตาม ดูเสมือนหนึ่งว่าทำให้ศาลไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่อันที่จริงแล้วเมื่อคำวินิจฉัย คำตัดสินของศาลผูกพันทุกองค์กร จึงมีความเชื่อมโยงไปสู่บทบัญญัติของกฎหมายอื่นอยู่ร่วมด้วย ซึ่งต้องดูให้ครบถ้วน จึงจะเห็นว่าท้ายที่สุดคำวินิจฉัย คำตัดสิน จะเกิดผลหรือไม่ และทำให้เสียความศักดิ์สิทธิ์ของศาลธรรมนูญหรือไม่ 

 

\"รศ.ดร.เจษฎ์\" ชี้การชุมนุมอาจลุกลามบานปลาย หลังคำวินิจฉัยของศาล รธน.

 

สังคมไทยจะเดินไปในทิศทางใด ความแตกแยกที่เกิดขึ้นจะมีทางออกอย่างไร เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมยังต่อต้านศาล และตั้งเป้าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

 

ฝั่งผู้ร้องก็คงจะมีคนที่ร้องในอีกหลาย ๆ เรื่อง และนำไปเชื่อมโยงกับกฎหมายอาญาด้วย ฝั่งผู้ถูกร้องก็คงจะดื้อ ไม่ฟัง ชุมนุมต่อไป และอาจจะลุกลามบานปลายต่อ

 

รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร จะมีทางออกต่อกรณีนี้อย่างไร

 

รัฐบาลและรัฐสภาก็คงทำอะไรลำบาก จะหยิบยกข้อเสนอทั้ง 10 ข้อไปดำเนินการเป็นประการใด ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากว่าข้อเสนอทั้ง 10 ข้อได้ถูกวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาล และรัฐสภาอาจจะต้องเสนอให้มีการดำเนินการในเรื่องของการทำความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการสานเสวนา ซึ่งอาจจะไม่สามารถทำได้กับกลุ่มที่คิดเห็นตรงข้ามรุนแรงจริง ๆ อาจจะทำได้กับกลุ่มโดยรวมของสังคม

 

เยาวชนจะเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ การสร้างสถานการณ์ความรุนแรงจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไร

 

การสร้างสถานการณ์รุนแรงคงจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง คงจะมีมากขึ้นอีกเพื่อต่อสู้กับข้อวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีแนวโน้มว่าจะมีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเสมอไปเพราะว่า หากรัฐบาลรัฐสภามีวิถีทางใดที่จะสามารถพูดคุยทำความเข้าใจกับบรรดาคนที่ ไม่รุนแรงได้ อาจจะทอนกำลังของความรุนแรง หรือฝ่ายที่ต้องการผลักดันให้มีการปฏิรูปสถาบันในแบบ ในแนวที่ตัวเองต้องการลงได้บ้าง

 

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยให้ทุกฝ่ายหยุดการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 การสั่งให้ทุกคนหยุดกระทำการนั้น จะเป็นไปได้อย่างไร 
 

เข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้บรรดาผู้ถูกร้องและเครือข่าย หยุดการกระทำ ถือว่าการกระทำเช่นว่าไม่ว่าใครทำ ก็ถือว่าเป็นการล้มล้างระบอบ ถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการล้มล้าง ซึ่งแน่นอนไม่สามารถไปบอกให้ใครหยุดได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก การมีกฎหมายอาญาทั่วโลก บัญญัติว่าการฆ่าคน เป็นความผิด ก็ไม่ได้จะสามารถระงับยับยั้งการฆ่าได้หมดสิ้น ฉันใดก็ฉันนั้น คงต้องดำเนินการเป็นเปลาะ ๆ ไป มีการกระทำก็ต้องมีการดำเนินการต่อการกระทำนั้น แล้วทำให้คนโดยรวมไม่ทำผิด ก็เช่นเดียวกันกับเรื่องความผิดและการกำหนดโทษอื่น ๆ ดังที่ยกตัวอย่างเช่น การฆ่าคนตาย

 

มีแนวโน้นว่าจะมีการส่งเรื่องร้องยุบพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีส่วนสนับสนุนการชุมนุม ด้วยการประกันตัวแกนนำและมีสมาชิกพรรคเข้าร่วมการชุมนุมด้วย ความเป็นไปได้ในกรณีนี้มีมากน้อยแค่ไหน เพียงใด
 

การจะเสนอให้มีการยุบพรรคก้าวไกล ก็อาจจะไปพิจารณาว่าพรรคก้าวไกลนั้นถือว่าเป็นเครือข่ายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุเรื่องของเครือข่ายไว้หรือไม่ หากเป็นเครือข่ายก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเมื่อพรรคการเมืองไปทำการเช่นเดียวกันกับบรรดาผู้ถูกร้อง เมื่อไปพิจารณาภายใต้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ก็เข้าข่ายสามารถยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ก็ต้องไปพิจารณาดู

 

\"รศ.ดร.เจษฎ์\" ชี้การชุมนุมอาจลุกลามบานปลาย หลังคำวินิจฉัยของศาล รธน.