รื้อ "มาตรา112" ต้องพิจารณา บริบทของกฎหมาย
รื้อกฏหมายอาญา "มาตรา112" ต้องดูบริบทของกฎหมาย เพราะคำวินิจฉัยฯหยุดการ กระทำล้มล้างการปกครองฯ มีผลผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่ ระบุว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและหน่วยงานของรัฐ เป็นคำวินิจฉัยที่ทำให้กลุ่มราษฎร ต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่จะเคลื่อนไหวอย่างไร ไม่ให้เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลุดกับดักไปสู่เป้าหมาย ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากห้ามผู้ถูกร้อง ยังหมายรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายร่วมกระบวนการ และผู้ให้การสนับสนุน ทำให้ณฐพร โตประยูร จี้ กกต. เร่งดำเนินการต่อ ในคำร้องยุบพรรคก้าวไกล
หากพิจารณา10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร จะเห็นได้ชัดว่า ไม่มีข้อไหนจะฝ่าด่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปได้ ทั้งสิบข้อล้วนธำรงอยู่ในความหมาย เซาะกร่อน บ่อนทำลาย สถาบันฯ ตามที่ศาลพิจารณา เป็นที่มาของการท้าทาย จะเคลื่อนไหวต่อไปไม่สนใจคำสั่งศาล ขณะที่ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เกรงว่าเรื่องนี้จะเป็นต้นธารให้ เอาข้อหาล้มล้างการปกครอง ไปใช้กับประชาชนอย่ากว้างขวางไม่มีขอบเขต จนเป็นเหตุให้มีการบิดเบือนกฎหมายแม้ เซาะกร่อน บ่อนทำลาย เคยถูกใช้มา เมื่อครั้งยุบพรรคไทยรักษาชาติ แม้แต่พรรคเพื่อไทย ที่เสนอญัตติให้นำกรณีพิพาทนี้ ไปร่วมกันหาทางออกในสภา ก็ยังกังวลว่าคำวินิจฉัยจะบานปลาย นำไปสู่ความแตกแยก
บทความคำตอบข้อสอบกฎหมาย ในมติชน รายสัปดาห์ ของธงทอง จันทรทางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้ว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความยุติธรรม อย่าไปหลงผิดว่าขึ้นชื่อว่ากฎหมายแล้วต้องยุติธรรมเสมอ ในชีวิตได้เห็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมามากพอสมควร บางครั้งก็เป็นกฎหมายที่เคยยุติธรรมในบริบทของสังคมยุคหนึ่ง แต่พอมาถึงปัจจุบันสมัยก็ตกยุคเสียแล้ว แต่เราก็ยังตะบี้ตะบันใช้กันต่อไป ข้อเขียนนี้ จึงนับเป็นความท้าทาย การบังคับให้เป็นไปความหมายของคำว่าผูกพันในฐานะที่ เป็นพันธะที่จะต้องปฏิบัติตาม