1ข้าราชการ แก้ "หนี้ครัวเรือน" แนวคิดเตี้ยอุ้มค่อม
นายกฯผุด แนวคิด 1ข้าราชการ ดูแล 1 "หนี้ครัวเรือน" ระหว่างเปิดหลักสูตร วปอ.รุ่นที่ 64 ถูกมองเป็นเตี้ยอุ้มค่อม สถิติข้าราชการเป็นหนี้เฉลี่ยครอบครัวละล้าน
กลับมาฮือฮา อีกครั้ง สำหรับวาทกรรมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ผุดแนวคิดแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยโครงการ 1 ข้าราชการ รับผิดชอบ 1 ครัวเรือนยากจน ในวันแถลงยุทธศาสตร์ของนักศึกษาวปอ.รุ่นที่64 แม้ยังไม่รู้รายละเอียดของโครงการนี้ แต่แนวคิดดังกล่าว ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
เมื่อพลิกไปดูข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจหนี้สินครัวเรือนข้าราชการ ล่าสุดไว้เมื่อปี 2555 พบว่า ครอบครัวข้าราชการทุกประเภทและระดับตําแหน่ง มีรายได้เฉลี่ย ราวห้าหมื่นบาท มีหนี้สินร้อยละ83.2 มีจํานวนหนี้สินเฉลี่ย 1,111,425 บาทต่อครอบครัว
เมื่อพิจารณาตามจำนวนที่เป็นหนี้ พบว่าพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามประเภทและตำแหน่งที่สูงขึ้นโดยในระดับบริหารมีระดับหนี้สินเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่กว่า 1.5 ล้านบาท ระดับทั่วไปอยู่ที่ เกือบ 1 ล้านบาทต่อครัวเรือน หนี้สินต่อรายได้ของครอบครัวข้าราชการพบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 18.2 เท่า ในปี 2551 เป็น20.0 ในปี 2554 และ 22.3 เท่าในปี 2555 ตามลําดับ ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลที่ท้าทายแนวคิดของนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ แนวทางการแก้ปัญหาที่ฮือฮา อย่างการขายยางพาราที่ดาวอังคาร ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมาแล้ว แม้กองเชียร์จะออกมาบอกว่าเป็นการประชดประชัน แต่ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารพูดอะไรออกไป ก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงอุทกภัย พืชผักบริโภคขึ้นราคา ผักโรยหน้า ราคา 3-400 บาท นายกรัฐมนตรี ก็สั่งการให้ใช้ที่ดินทหารปลูกผักชีเพื่อแก้ปัญหา หลักสูตร วปอ.64 มีนักศึกษาร่วมชั้นอย่าง พุทธิพงศ์ ปุณณกันต์ และณัฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรี และแกนนำ กปปส.
รวมอยู่ด้วย