"แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" นัดเผชิญหน้า ศาลรัฐธรรมนูญ วันอาทิตย์นี้
ระวังบานปลาย "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" นัดเผชิญหน้า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวันอาทิตย์นี้ ที่อนุสาวร์ย์ประชาธิปไตย
ข้อความเชิญชวนให้ร่วมชุมนุมอย่างเป็นทางการ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดหมายกันไว้ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันอาทิตย์นี้ ถือเป็นการกำหนดท่าทีอย่างเป็นทางการของกลุ่มต่อต้านคำวินิจฉัยฯ ชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 เป็นล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ หลังจากมีตัวแทนชิมลาง ติดป้ายแสดงเจตนารมย์กลางห้างดัง ทดสอบกระบวนหลังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นไว้ว่า คำร้องให้วินิจฉัย เพื่อให้ตีความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 มิได้มุ่งหวังให้มีความผิดทางอาญา
แต่จากคำวินิจฉัย ศาลต้องการชี้ให้เห็นว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ในการใช้สิทธิเสรีภาพตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ การชุมนุมที่นัดหมายจึงต้องระวังเรื่องการกระทำเป็นหลัก จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคำเตือน ป้องปรามการกระทำของกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว ถ้าไม่มีขอบเขตจะผิดกฎหมายและมีความผิดระดับร้ายแรง
ถอดความตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นตัวอย่างของความไม่สุจริตใจในการเคลื่อนไหวเมื่อวันที่10 สิงหาคม 63 บิดเบือน เซาะกร่อน บ่อนทำลาย อาฆาต มาดร้าย ทั้งหมดนั้นคือพฤติกรรมต้องห้าม เพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา49 ศาลจึงมีคำสั่งให้บุคคลทั้งสามและเครือข่าย เลิกการกระทำ นี่คือสิ่งรองนายกฯวิษณุ เน้นย้ำ การชุมนุมทำได้ แต่เรื่องที่จะกระทำระหว่างการชุมนุม ต้องระมัดระวังไม่ให้ขัดกับคำสั่ง สวนทางกับความเห็นของพรรคก้าวไกลที่ยอมรับว่า คำวินิจฉัยมีปัญหาจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่าง ขบวนการล้มล้างการปกครองกับขบวนการปกป้องสถาบัน
ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปรียบคำวินิจฉัย เสมือนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญใหม่ โดยอิงอาศัยอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและปรับท่าที ต่อการแก้ปัญหา ที่มาจากกฏหมายอาญามาตรา112 ต้องนำไปถกแถลงในสภา การนัดชุมนุมวันอาทิตย์นี้ จึงมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์ว่า ภายใต้บริบทใหม่ เสรีภาพแบบไหนนำไปสู่หนทางการแก้ปัญหา การบังคับใช้กฏหมายแบบใด ที่นำไปสู่ทางตัน พัฒนากลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกันในที่สุด