คอลัมนิสต์

ส่อง 'เงินเดือนพระสงฆ์' ระดับไหนได้เท่าไหร่ สาเหตุใด 'พระ' ต้องมี เงินเดือน

ส่อง 'เงินเดือนพระสงฆ์' ระดับไหนได้เท่าไหร่ สาเหตุใด 'พระ' ต้องมี เงินเดือน

03 ก.พ. 2567

เปิดที่มา "อัตรานิตยภัต" หรือ "เงินเดือนพระสงฆ์" ในประเทศไทย ระดับไหนได้เท่าไหร่ สาเหตุใดพระถึงต้องมี เงินเดือน

เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่รู้ว่า ในส่วนของ "พระสงฆ์" ที่นอกเหนือจากเงินปัจจัย ที่ได้รับการถวายจากแหล่งต่างๆ แล้ว พระสงฆ์ในประเทศไทย ยังมีเงินเดือนประจำด้วย โดย เงินเดือนพระสงฆ์ เรียกว่า "อัตรานิตยภัต" ที่รัฐบาลเป็นผู้จ่าย เพื่อสนับสนุนเป็นค่าภัตตาหารประจํา ตามความเหมาะสม แด่พระสังฆาธิการ พระสมณศักดิ์ พระเปรียญธรรม 9 ประโยค และพระเลขานุการ ตามความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

 

นิตยภัต ในความหมายคือ "อาหาร หรือค่าอาหารที่ถวายแก่ภิกษุสามเณรเป็นประจำ" ส่วนในคู่มือการปฏิบัติงานนิตยภัต อธิบายว่า 

 

"นิตยภัต คือค่าภัตตาหารที่พระมหากษัตริย์ถวายแก่พระภิกษุสามเณร เนื่องจากนิตยภัตถวายให้พระสงฆ์เป็นประจำทุกเดือน เช่นเดียวกับเงินเดือนฆราวาส คนจำนวนมาก จึงเรียกนิตยภัตว่า เงินเดือนสงฆ์"

 

 

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชดำริว่า การพระราชทานนิตยภัต 2 ประเภท คือ ถวายเป็นภัตตาหารสำรับเช้า และสำรับเพล กับถวายเป็นเงินรายเดือน (เดิมการถวายจากทางราชการแผ่นดินเป็นเงินหวัดเงินปี) แต่ไม่ปรากฏว่า พระสงฆ์ที่ได้รับเป็นพระสงฆ์ประเภทใด

 

มาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การจ่ายนิตยภัตเป็นเงิน มาปรากฏหลักฐานว่า พ.ศ. 2371 เมื่อพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์รูปใดแล้ว ก็พระราชทานนิตยภัต และกำหนดอัตรานิตยภัตไว้ด้วย ดังนี้ สมเด็จพระสังฆราช 5 ตำลึง, สมเด็จพระพนรัตน์ 5 ตำลึง, กรมหมื่นนุชิตชิโนรส 5 ตำลึง, พระพรหมมุนี 5 ตำลึง, พระพุทธโฆษา 5 ตำลึง, พระพิมลธรรม 4 ตำลึง 3 บาท และพระธรรมอุดม 4 ตำลึง 3 บาท

 

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ.2467 ได้มีการปรับปรุงอัตรา นิตยภัตทุกอัตรา โดยเฉพาะตําแหน่งสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ และพระราชาคณะ ชั้นหิรัญบัฏ ที่ได้รับการสถาปนาก่อน พ.ศ. 2459 นอกจากจะได้รับนิตยภัต ตามอัตราที่ทรงกําหนดแล้ว ยังได้รับค่าข้าวสารอีกเดือนละ 1 บาท ส่วนผู้ที่ได้รับการสถาปนาหลัง พ.ศ.2459 ไม่ได้รับค่าข้าวสาร

 

ส่อง \'เงินเดือนพระสงฆ์\' ระดับไหนได้เท่าไหร่ สาเหตุใด \'พระ\' ต้องมี เงินเดือน
 

 

จากข้อมูลเมื่อปี 2554 พบว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้น ได้เห็นชอบเพิ่มเงินนิตยภัต เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการประกอบกิจพระศาสนา 195,572,400 บาท จากเดิมได้รับ 930 ล้านบาท รวมเป็น 1,122,572,400 บาท

 

บัญชีอัตรานิตยภัต (เงินเดือนพระสงฆ์) ของพระสังฆาธิการ พระสมณศักดิ์ และเปรียญธรรม (ป.ธ.) 9 ประโยค และพระเลขานุการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2554 เป็นต้นมา 

 

  1. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า 37,700 บาท
  2. สมเด็จพระสังฆราช 34,200 บาท
  3. ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช 30,800 บาท
  4. สมเด็จพระราชาคณะ 27,400 บาท
  5. กรรมการมหาเถรสมาคม 23,900 บาท
  6. เจ้าคณะใหญ่หนต่าง ๆ 23,900 บาท
  7. พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัฏ 20,500 บาท
  8. เจ้าคณะภาค 17,100 บาท
  9. แม่กองบาลี 17,100 บาท
  10. แม่กองธรรม 17,100 บาท
  11. รองเจ้าคณะภาค 13,700 บาท
  12. เจ้าคณะจังหวัด 10,300 บาท
  13. เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช 10,300 บาท
  14. พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นสัญญาบัตร 13,700 บาท
  15. พระราชาคณะชั้นธรรม 13,700 บาท
  16. พระราชาคณะชั้นเทพ 10,300 บาท
  17. พระราชาคณะเจ้าคณะจังหวัด 10,300 บาท
  18. พระราชาคณะชั้นราช 6,900 บาท
  19. พระราชาคณะปลัดขวา 5,500 บาท
  20. พระราชาคณะปลัดซ้าย 5,500 บาท
  21. พระราชาคณะปลัดกลาง 5,500 บาท
  22. พระราชาคณะชั้นสามัญ ป.ธ.9 ประโยค 5,500 บาท
  23. พระราชาคณะชั้นสามัญ ป.ธ.7-8 ประโยค 5,200 บาท
  24. พระราชาคณะชั้นสามัญ ป.ธ.5-6 ประโยค 4,800 บาท
  25. พระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก 4,800 บาท
  26. พระราชาคณะชั้นสามัญ ป.ธ.4/รองเจ้าคณะจังหวัด 4,500 บาท
  27. พระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท 4,500 บาท
  28. พระราชาคณะชั้นสามัญป.ธ.3 ได้ 4,100 บาท
  29. พระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ 4,100 บาท
  30. พระราชาคณะชั้นสามัญยก (เจ้าคณะอำเภอ) 4,100 บาท
  31. พระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นตรี 4,100 บาท
  32. พระป.ธ.9 ประโยค 4,100 บาท
  33. พระคณาจารย์เอก 4,100 บาท
  34. พระราชาคณะชั้นสามัญยก 3,800 บาท
  35. พระครูปลัดชั้นเอกของสมเด็จพระราชาคณะ 3,800 บาท
  36. พระคณาจารย์โท 3,800 บาท 
  37. พระราชาคณะชั้นสามัญยก/เจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ 3,800 บาท
  38. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก  3,800  บาท 
  39. เลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนต่าง ๆ (มหานิกาย/ธรรมยุต)  3,800 บาท
  40. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท 3,400 บาท
  41. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก 3,400 บาท
  42. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ 3,400 บาท
  43. พระครูสัญญาบัตร เทียบเท่าผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ 3,400 บาท
  44. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก 3,400 บาท
  45. เลขานุการเจ้าคณะภาค 3,400 บาท
  46. พระครูปลัด รองสมเด็จพระราชาคณะ 3,400 บาท
  47. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นโท 3,100 บาท
  48. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นตรี 3,100 บาท
  49. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท 3,100 บาท
  50. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก 3,100 บาท
  51. พระครูสัญญาบัตร เทียบเท่าผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก 3,100 บาท
  52. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก 3,100 บาท
  53. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นเอก 3,100 บาท
  54. เลขานุการรองเจ้าคณะภาค 3,100 บาท 
  55. เลขานุการเจ้าคณะจังหวัด 3,100 บาท
  56. พระครูปลัดของเทียบรองสมเด็จพระราชาคณะ 3,100 บาท
  57. พระครูฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช ชั้นเอก 3,100 บาท
  58. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอชั้นโท 2,700 บาท
  59. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโท 2,700 บาท
  60. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท 2,700 บาท
  61. พระครูสัญญาบัตร เทียบเท่าผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท 2,700 บาท
  62. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นเอก 2,700 บาท
  63. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นตรี 2,700 บาท
  64. พระครูฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราชชั้นโท 2,700 บาท
  65. พระครูปลัดของพระราชาคณะชั้นธรรม 2,700 บาท
  66. เลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัด 2,700 บาท
  67. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรี 2,500 บาท
  68. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท 2,500 บาท
  69. เจ้าอธิการ 2,500 บาท
  70. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี 2,200 บาท
  71. เลขานุการเจ้าคณะอำเภอ 2,200 บาท
  72. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ 1,800 บาท
  73. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์  1,800  บาท 
  74. เลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอ 1,800 บาท
  75. พระอธิการ 1,800 บาท
  76. เลขานุการเจ้าคณะตำบล 1,200 บาท

 

ส่อง \'เงินเดือนพระสงฆ์\' ระดับไหนได้เท่าไหร่ สาเหตุใด \'พระ\' ต้องมี เงินเดือน

 

แต่นอกจาก เงิน "นิตยภัต" หรือ "เงินเดือนพระสงฆ์" แล้ว พระสงฆ์ ยังมีรายได้จากกิจนิมนต์ หรือประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ญาติโยมมานิมนต์ไป หากลองคำนวนแบบขั้นต่ำสุด ๆ โดยใช้ฐานของพระบวชใหม่ จะได้ดังต่อไปนี้

 

  • กิจนิมนต์ 200-500 ต่อครั้ง  สัปดาห์ละประมาณ 3-5 วัน
  • สวดอภิธรรมศพ 200-500 ต่อครั้ง  สัปดาห์ละประมาณ 3-5 วัน
  • รายได้อื่นๆ เช่น มีผู้ถวายสังฆทาน, ใส่บาตรถวายปัจจัย ฯลฯ

 

 

หากคำนวนว่า มีกิจนิมนต์+สวดอภิธรรม สัปดาห์ละ 5 วัน ได้รับถวายปัจจัย 500 บาท จะรวมเป็นเงินประมาณ 10,000 - 15,000 บาท รายได้นี้คิดเฉพาะพระบวชใหม่ อายุจำพรรษาน้อย ยังไม่รวมพระที่ชั้นสูงขึ้นไป และพระที่ตั้งสำนักใบ้หวยทรงเจ้า ประกอบพิธีกรรมไสยศาสตร์ หากรวมพระเหล่านั้นแล้ว รายได้ต่อเดือน คาดว่า ไม่น่าจะต่ำกว่า 20,000 บาทแน่นอน ซึ่งหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า พระสงฆ์ต้องใช้เงินด้วยหรือ นั่นจึงน่าจะเป็น 1 ในเหตุผล ที่ทำให้วงการ "พระสงฆ์" ร้อนแรงมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย,สำนักงานพระพุทธศาสนา,ศิลปวัฒนธรรม