เกาะติด"ม็อบ14พ.ย."กลุ่มไม่เอาสมบูรณาญาสิทธิราชย์” จุดพลุต้านศาลรธน.
เกาะติด ม็อบ14พ.ย. การชุมนุมของ “กลุ่มราษฎร” และกลุ่มใหม่ในชื่อ “กลุ่มไม่เอาสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่นัดรวมพลกันวันนี้ บ่าย 3 โมง เพื่อเคลื่อนพลจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปที่ท้องสนามหลวง บนบริบทของการจุดพลุต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
“เจาะประเด็นร้อน” โดย อักษร 8 ทิศ ชวนพินิจพิเคราะห์และมองภาพการชุมนุม "ม็อบ14พ.ย." ผ่านมุมมองของนักวิชาการและนักการเมือง ที่ต่างชี้ประเด็นและสะท้อนปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากการชุมนุมในวันนี้มาให้ทราบกัน
ห้วงเวลาเพียง 3 วันให้หลัง..นับจากวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง โดย 3 แกนนำกลุ่มราษฎร คือนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง”
แต่แล้วเมื่อวานนี้ (13 พ.ย.) ได้มีการตั้งชื่อกลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นมาใหม่ในชื่อ “กลุ่มไม่เอาสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ประกาศนัดชุมนุมกันวันนี้ (14 พ.ย.) ตั้งแต่บ่าย 3 โมงเย็นเป็นต้นไป ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจะเคลื่อนขบวนไปที่ท้องสนามหลวง โดยประกาศเจตนรมณ์ว่าการชุมนุมครั้งนี้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยและปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง หรืออาจมองได้ว่านี่คือ “การอารยะขัดขืนต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
ทั้งนี้ กลุ่มไม่เอาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ออกแถลงการณ์ต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีล้มล้างการปกครอง โดยมีใจความสำคัญว่า.. “ขอส่งสารนี้ถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกท่าน ยืนยันว่าข้อเรียกร้องของพวกเราไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพวกเราไม่อาจยอมรับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้ได้ ศาลไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการไต่สวนแม้จะมีการร้องขอแล้วก็ตาม ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ รวมถึงมองว่ามีความพยายามเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง”
ในแถลงการณ์ดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า “หากพวกเราปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ย่อมหมายความว่าพวกเราไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญอันตั้งตระหง่านเหนือศาลรัฐธรรมนูญ จึงเรียกร้องขอให้ปรับปรุงแก้ไขการวินิจฉัย อีกทั้งยืนยันในข้อเสนอการปฏิรูปสถาบัน 10 ประการ และในวันที่ 14 พ.ย. ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยผู้บริบูรณ์พร้อมด้วยศักดิ์ศรี สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคทุกท่าน ทุกความคิดทางการเมือง ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทุกช่วงวัย ทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพ โปรดมารวมตัวพร้อมกัน ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตจำนง ยืนยันว่าการปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อ มิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครอง”
นี่เป็นการนัดชุมนุมครั้งแรก.. นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา อันมีชนวนเหตุจากเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้จัดการชุมนุมในชื่อกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต การปราศรัยในครั้งนั้นได้มีการอ่านข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบัน ทำให้นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า ..
“การกระทำของนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก(ไมค์) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล(รุ้ง) นายพริษฐ์ ชิวารักษ์(เพนกวิน) น.ส.จุฑาทิพย์ หรือเพนกวิน ศิริขันธ์ น.ส.สิริพัชระ จึงธีรพานิช นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และน.ส.อาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ " และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า 3 แกนนำกลุ่มราษฎร นายอานนท์, นายภาณุพงศ์ และ น.ส.ปนัสยา มีการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
ดังนั้น การนัดชุมนุมกันในวันนี้เพื่อต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านี้ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎร หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกับ “คมชัดลึก” เอาไว้ว่า
“อาจมีการชุมนุมที่ลุกลามบานปลาย มีแนวโน้มว่าจะมีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับข้อวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่การสร้างสถานการณ์รุนแรงก็คงจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่หากรัฐบาลและรัฐสภามีวิถีทางใดที่จะสามารถพูดคุยทำความเข้าใจกับบรรดาคนที่ไม่ต้องการความรุนแรงได้ อาจจะทอนกำลังของความรุนแรง หรือฝ่ายที่ต้องการผลักดันให้มีการปฏิรูปสถาบัน ในแบบ ในแนวที่ตัวเองต้องการลงได้บ้าง”
ขณะที่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ บอกกับสื่อมวลชน หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า “คนรู้สึกโกรธมากและรู้สึกว่าจำเป็นต้องออกมาแสดงออกมากขึ้น มีกลุ่มคนที่นัดชุมนุมกันแล้ว ยิ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่รุนแรงขึ้น”
ด้าน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ในแฟนเพจของพรรคก้าวไกล แสดงความกังวลและตั้งประเด็นว่า “ผลของคำวินิจฉัยอาจจะนำพาสังคมไทยมุ่งหน้าไปบนเส้นทางที่น่าเป็นห่วง สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญทำในวันนี้เป็นมากกว่าคำวินิจฉัย แต่เป็นการขีดอนาคตประเทศไทยให้เดินไปตามเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงและคับแคบ พรรคก้าวไกลเชื่อเสมอว่า การปกป้องสิ่งหนึ่งไม่จำเป็นต้องทำลายอีกสิ่งหนึ่ง เราสามารถปกป้องสิ่งที่เรารักด้วยการพยายามปรับเข้าหากันบนฐานของเหตุและผล”
อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา ว่า..
“ทุกข้อที่เสนอไม่ได้นำไปสู่การล้มล้าง แต่วิธีการไม่เหมาะสม วิธีการเขาก็ขยับเพดานแรงขึ้นเรื่อย ๆ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็บอก ก็เตือนอยู่ตลอดเวลา มันเลยทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าตกลงแล้วกลุ่มนี้ เป้าหมายเขาคืออะไรกันแน่ มันเหมือนกับการยั่วยุให้รัฐบาล หรือประชาชนอีกกลุ่ม มาใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงกับเขา หรือว่าลงเอยด้วยการรัฐประหาร เป้าหมายเขาคืออะไร การปฏิรูปสถาบันคือเป้าหมายสูงสุด หรือการยั่วยุให้เกิดการใช้กำลัง”
“คมชัดลึก” ประเมินการนัดรวมตัวกันชุมนุมวันนี้.. นี่อาจเป็นการจุดพลุการชุมนุมเพื่อต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และขยายผลถึง 10 ข้อเรียกร้องที่ต้องการปฏิรูปสถาบันให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม แต่ต้องไม่ลืมว่า..ทุกการกระทำนับจากนี้ของกลุ่มผู้ชุมนุม นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา หากมีการกระทำใด ๆ ที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง นาทีนั้น.. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 จะแสดงอิทธิฤทธิ์ทันที
ต้องติดตามดูสถานการณ์การชุมนุมว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด จะร้อนแรง ปลุกเร้าและเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับการกระทำของแกนนำ ผู้เข้าร่วมชุมนุมและเครือข่ายทุกภาคส่วน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ !!