"ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ภาคประชาชน ร่วงตั้งแต่ด่านแรก
ยังไม่ทันเสนอเข้าสภา "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ภาคประชาชน ยากจะเดินหน้าไปได้ เพราะเหตุผลการริเริ่มกฏหมาย ไม่ถูกใจ คนยกมือในสภา
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ มี 4 ประเด็นที่เป็นปัญหา ล้ม -โล๊ะ- เลิก -ล้าง ถูกรุมต่อต้านจากผู้เห็นต่าง ตั้งแต่ยังไม่ผ่านเข้าสู่สภา ร่างแก้ไขที่เสนอโดยภาคประชาชนฉบับที่สองนี้ มีเหตุจูงใจที่ทำให้ผู้คนร่วมลงชื่อ เสนอกฏหมาย กว่าแสนห้าหมื่นราย แม้มีเพียง 23 มาตรา แต่ทว่ามีเนื้อหา เปลี่ยนสาระสำคัญ หัวใจหลักรัฐธรรมนูญฉบับปัจุบันเกือบสิ้นเชิง
เริ่มจากวุฒิสภา ด่านสำคัญการแก้รัฐธรรมนูญ ที่คณะผู้ริเริ่มเห็นว่า เป็นกลไกสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ดูจากประวัติศาสตร์แล้วไม่มีความจำเป็นตามระบอบการปกครองของไทย จึงเสนอให้เพิ่มกลไกล ให้สภาผู้แทนราษฎร ถ่วงดุลย์ ฝ่ายบริหารแทนวุฒิสภา ที่มองว่าไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะจากประวัติรัฐธรรมนูญและการเมืองไทย พบว่าถูกออกแบบมาเพื่อรับใช้อำนาจ
ศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย องค์ประกอบและการได้มายังโยงใยคสช. มีอำนาจหน้าที่มากเกินไป และทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง จึงต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะกำหนดให้มีที่มาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎรลดจำนวนตุลาการจากเก้าคนเหลือสามคน ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 7 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว คล้ายกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ให้มีที่มาจากสภาฯจำนวนสองคน ในส่วนโทษทางอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ถูกชี้มูลและศาลอาญาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่ามีความผิด ยังมีลุ้นว่าจะถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลา 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้
ในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็มีสัดส่วนที่มาจากพรรคการเมืองเสนอชื่อ และสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือก จำนวนสองคน จากกรรมการทั้งหมด 7 คน
ในส่วนของการล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร ให้ยกเลิกการนิรโทษกรรมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ ชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 48 ทั้งยังกำหนดว่า เมื่อเกิดกรณีรัฐประหาร เมื่ออำนาจกลับคืนมาสู่ปวงชนชาวไทยและได้รัฐบาลที่ชอบธรรมแล้ว ให้ดำเนินคดีต่อคณะรัฐประหารทันทีและไม่มีอายุความ ทั้งหมดนี้ คือสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ว่ากันว่า รู้ผลตั้งแต่ยังไม่ได้นำเข้าไปพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา 16 พฤศจิกายนนี้