คอลัมนิสต์

พรรคใหม่ไปยาก "จาตุรนต์" ยึดคนตุลาคอนเนกชั่น เมินดีล ส.สมคิด

พรรคใหม่ไปยาก "จาตุรนต์" ยึดคนตุลาคอนเนกชั่น เมินดีล ส.สมคิด

16 พ.ย. 2564

อาการลูกผีลูกคน "จาตุรนต์" กับพรรคเส้นทางใหญ่ ไม่มีดีล ส.สมคิด ยึดอุดมการณ์คนตุลา ส่วนณัฐวุฒิ และ นปช.ส่งสัญญาณกลับบ้านเก่า คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

กติกาเลือกตั้ง และอุ๊งอิ๊งเอฟเฟกต์ ส่งผลให้ “จาตุรนต์” ขับเคลื่อนพรรคเส้นทางใหม่ ไปต่อยาก ไม่ต่างจากพรรคป้ายแดงที่เคลื่อนไหวอยู่ในเวลานี้

 

อาคารที่ทำการพรรคสร้างเสร็จแล้ว “จาตุรนต์” ก็ยังไม่ได้ฤกษ์เปิดตัวพรรคเสียที ท่ามกลางความเงียบงัน จึงมีข่าวหลายกระแสที่มีชื่อจาตุรนต์ ไปเกี่ยวข้อง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และเหล่า 4 กุมาร

 

ภาพลักษณ์ของ “จาตุรนต์” คือคนเดือนตุลา ทุกย่างก้าวแวดล้อมด้วยผองเพื่อนนักกิจกรรม มช.คอนเนกชั่น อุดมการณ์ต่างจากสมคิดและพวกพ้องโดยสิ้นเชิง

 

แฟนเพจเฟซบุ๊คพรรคเส้นทางใหม่ เผยแพร่ภาพอาคารสำนักพรรคมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 แต่ไม่มีความคืบหน้าเรื่องการเปิดตัวพรรค

 

ขณะที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ผู้ก่อการตั้งพรรค ยังนำเพื่อนพ้องน้องพี่กลุ่ม OctDem เคลื่อนไหวเรียกร้องศาลให้ประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎร

ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ใช้บัตร 2 ใบเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 มีผลกระทบต่อแผนการเปิดตัวของพรรคเส้นทางใหม่อย่างมาก ก่อนหน้านั้น “จาตุรนต์” ก็ยังหวังว่าการเลือกตั้งจะใช้กติกาเดิมที่เอื้อต่อพรรคทางเลือก

 

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน การเปิดตัวพรรคเส้นทางใหม่ในเดือน พ.ย.2564 ก็ต้องเลื่อนออกไป บวกกับการต่อสู้บนท้องถนนเปลี่ยนไปเร็วมาก “จาตุรนต์” พร้อมผองเพื่อนนักกิจกรรม มช. จึงต้องพูดคุยใหม่

 

‘เส้นทางใหม่ นปช.’

 

สองเดือนที่แล้ว ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ขยับเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบ กรุยทางให้พรรคใหม่ของ “จาตุรนต์” เป็นที่รู้จักของเยาวชนคนรุ่นใหม่ แต่คาร์ม็อบก็แผ่วลงอย่างรวดเร็ว เพราะเหตุอนาธิปไตยที่สมรภูมิดินแดง

 

แม้ณัฐวุฒิ จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่เขาก็เป็นคนหลังม่านตัวจริง ในการก่อร่างสร้างพรรคเส้นทางใหม่ ดังจะเห็นได้จากข้อของ กกต. พรรคเส้นทางใหม่ (สทม.) หรือชื่อภาษาอังกฤษ NEW DIRECTION PARTY (NEWDP) มีที่ทำการพรรคอยู่ที่ 3/1-3/2 ถนนนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ ม.13 ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช อันเป็นบ้านเกิดของณัฐวุฒิ

“จาตุรนต์” และณัฐวุฒิ ได้พูดคุยกันมาตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เรื่องการตั้งใหม่ ให้เป็นพรรคทางเลือกของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่สาขาพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่พรรคเสื้อแดง แต่จะวาง Positioning แบบเดียวกับพรรคก้าวไกล

 

ก้าวแรกของณัฐวุฒิคือ การก่อตั้งสำนักข่าว UDD news ที่แยกแคราย อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยรวบรวมแกนนำ นปช.กลุ่มหนึ่ง มาสร้างอาณาจักรใหม่

 

พรรคเส้นทางใหม่ จึงมีผู้ก่อการประกอบด้วย จาตุรนต์ ฉายแสง, ก่อแก้ว พิกุลทอง,เหวง โตจิราการ, นิคม ไวยรัชพานิช ,วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ,ประภัสร์ จงสงวน,เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์, ฐิติมา ฉายแสง และวุฒิพงษ์ ฉายแสง โดยมีณัฐวุฒิเป็นกองหนุนตัวหลัก

 

การก่อสร้างอาคารสำนักงานพรรคเส้นทางใหม่ในย่านปากเกร็ด นนทบุรี เป็นก้าวต่อมาของณัฐวุฒิ แต่จะไปต่อหรือไม่ พวกเขากำลังครุ่นคิดกันอย่างหนัก

 

‘มช.คอนเนกชั่น’

 

“จาตุรนต์” มีดีเอ็นเอการเมืองของ อนันต์ ฉายแสง อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา มาตั้งแต่ก้าวแรกสู่ถนนเลือกตั้งปี 2529 แต่อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มั่นคงนั้น จาตุรนต์ก่อรูปมาแต่สมัยเป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)

 

ช่วงจังหวะที่จาตุรนต์เป็นนักศึกษา มช. ดอกไม้ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน แนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือว่าเป็นกลุ่มนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าที่แข็งขัน ไม่แพ้จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และมหิดล

 

ทุกวันนี้ อดีตแกนนำแนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กระจายตัวอยู่ในภาคธุรกิจและการเมือง ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มี ไกรวุฒ ศิรินุพงศ์ อดีตเจ้าของ นสพ.ไฟแนนเชียลไทม์ เป็นเสาหลักของกลุ่มนี้ (ไกรวุฒิเสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2549)

 

อ๋อยหรือจาตุรนต์ ยังเกาะเกี่ยว “มช.คอนเนกชั่น” ในนามของคนเดือนตุลา และคนกลุ่มนี้มีส่วนผลักดันให้จาตุรนต์ ก่อตั้งพรรคเส้นทางใหม่ เป็นพรรคทางเลือกในยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่าน

 

ผดุงศักดิ์ พื้นแสน ก็เป็นหนึ่งในแกนนำแนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 46 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน ผดุงศักดิ์ทำงานอยู่ในมูลนิธิสัมมาชีพของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

 

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดผดุงศักดิ์กล่าว เรื่องดีลการเมืองระหว่าง จาตุรนต์ กับสมคิด ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะอุดมการณ์การเมืองต่างกัน แม้จะรู้จักกันมาแต่สมัยไทยรักไทย

 

จาตุรนต์กับเส้นทางใหม่ อาจไม่สดใส แต่จะให้เปลี่ยนจุดยืนและอุดมการณ์ เสี่ยอ๋อยคงเลือกกลับเส้นทางเก่าดูจะง่ายกว่า