คอลัมนิสต์

"รศ.ดร.เจษฎ์" ชี้การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ พรรคการเมืองหาเสียงชนิดตีกันเละ !

"รศ.ดร.เจษฎ์" ชี้การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ พรรคการเมืองหาเสียงชนิดตีกันเละ !

22 พ.ย. 2564

สัญญาณการเลือกตั้งครั้งหน้าดังลั่นขึ้นมาทันที ที่มีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่ง รศ.ดร.เจษฎ์ ชี้ว่าการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบนี้ พรรคการเมืองหาเสียงชนิด..ตีกันเละ !

ทันทีที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม โดยนายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการฯ เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา (21 พ.ย.) และมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (22 พ.ย.) ซึ่งมีเนื้อหาใจความสำคัญหลัก คือการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปในครั้งหน้านี้ จะเป็นการเลือกตั้งแบบใช้บัตร 2 ใบ

 

บัตรเลือกตั้งใบแรก..เป็นการกาบัตรเลือกตั้ง ส.ส.จากแบบเขตเลือกตั้ง 400 คน (400 คน 400 เขต) หรือที่รู้กันในการเลือกตั้ง แบบเขตเดียวเบอร์เดียว และการเลือกตั้งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ซึ่งเป็นการกาบัตรเลือกพรรคการเมือง โดยมีโควตา ส.ส.ได้ทั้งสิ้น 100 คน เรียงตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงคะแนนเลือกตั้งมากที่สุด ซึ่งการเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบนี้ จะทำให้ได้ส.ส.ทั้งสิ้น 500 คน 

สำหรับพรรคการเมืองที่เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งในสมัยหน้า โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ นับแต่วินาทีที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ลงมาและประกาศในราชกิจนุเบกษา ปี่กลองเลือกตั้งนับจากนี้จะส่งเสียงอึกทึกครึกโครมอย่างแน่นอน 

 

จับตาปรากฏการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการแข่งขันกันในสนามการเมืองระดับชาติ จะมีทิศทางเป็นเช่นไร ความร้อนแรงทางการเมืองที่จะปะทุขึ้นจากพรรคการเมืองและส.ส. ว่าที่ผู้สมัครส.ส.จะเข้มข้นชวนระทึกตา ระทึกใจปานใด วันนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย วิเคราะห์พอให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่า ศึกเลือกตั้งครั้งหน้านี้...ตีกันเละแน่  

 

\"รศ.ดร.เจษฎ์\" ชี้การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ พรรคการเมืองหาเสียงชนิดตีกันเละ !
 

รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่าถ้าพูดเรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง ก็เป็นการหาเสียงแบบทั่วไปที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคดำเนินการอยู่แล้ว แต่เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เดิมมี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง 350 คน และจากระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน มาเป็น ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ดังนั้น การต่อสู้ในพื้นที่ก็จะเยอะมาก ส.ส.จะไม่สามัคคีกัน 

 

“มันแตกกันได้เลย ส.ส.แต่ละเขตไม่สนใจกันเลย คือแพ้ตกน้ำไปเลย ชนะก็ชนะเลย แม้แต่ ส.ส.พรรคเดียวกัน ก็แยกกันชนะ ไม่เกี่ยวข้องกัน สุดท้ายไม่มีความสามัคคีในพรรค เพราะคะแนน ส.ส. 400 คน กับคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน มันไม่สัมพันธ์กัน ดังนั้น ไม่มีความสามัคคีในพรรค ต่างคนต่างหาเสียง ต่างหาคนมาเติม มาเสริมเพราะเขตเลือกตั้งเยอะขึ้น” 

 

\"รศ.ดร.เจษฎ์\" ชี้การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ พรรคการเมืองหาเสียงชนิดตีกันเละ !

 

รศ.ดร.เจษฎ์ ชี้ประเด็นเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อการเลือกตั้งเป็นแบบบัตร 2 ใบ จะทำให้เกิดเสียงข้างมาก คะแนนก็จะซ้อนกัน ตัวเลขผลคะแนนก็จะบิดเบือนไป เช่น การเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้งได้คะแนนมาแล้ว 30% แต่เมื่อคะแนนซ้อนกัน ตัวเลขจะขึ้นไปอยู่ที่ 34-35% จะยิ่งซ้อนมาก คะแนนก็ยิ่งบิดเบือนมาก เพราะจะเกิดการเลือกซ้ำในส่วนของการเลือกพรรคการเมือง (ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ) คือเมื่อเลือกส.ส.พรรคนั้นในแบบเขตเลือกตั้งแล้ว จะไปเลือกกพรรคการเมือง ตามที่ส.ส.คนนั้นสังกัดอยู่ตามไปด้วย คะแนนจะซ้อนกัน เพราะการเลือกแบบกระจาย พรรคนั้นมีน้อยมาก ก็จะทำให้คะแนนในการได้ ส.ส.เข้าสู่สภาฯ ค่อนข้างสูง สำหรับพรรคที่มีคะแนนซ้อนกันดังกล่าว

 

“การแข่งขันกันของ ส.ส.และพรรคการเมือง จะเกิดการห้ำหั่นกันมาก พรรคที่มีฐานคะแนนเสียงในฝ่ายเดียวกันจะเกิดการแข่งขันกันสูง เช่น  พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะแข่งขันกันสูง  หรือถ้าเป็นในส่วนของพรรคเพื่อไทย ก็จะแข่งขันกันสูงกับพรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย ฉะนั้น มันตีกันวุ่น มันช่วยเหลือกันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นคะแนนการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ส.ส.ทั้งสองระบบ ยังพอช่วยเหลือกันได้ เพราะคะแนนมันไม่โดด” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ

 

ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย บอกด้วยว่า ประเทศที่ใช้การเลือกตั้งแบบสัดส่วนก็เพื่อไม่ให้สัดส่วนคะแนนมันโดด เพราะต้องการให้ประชาชนเข้มแข็ง นักการเมืองไม่อ่อนแอ และคานอำนาจกันได้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน อีกทั้งยังทำให้ส.ส.ทั้งสองแบบสามัคคีกันใน 3 แบบ  คือ 1.ผู้สมัคร ส.ส.ในพรรคทั้งหมดสามัคคีกันเพราะคะแนนเกี่ยวโยงกัน 2.แต่ละเขตเลือกตั้ง เสียงจะไม่หลุดกัน สามารถเอาคะแนนเสียงมารวมกันได้ และ 3. ส.ส.บัญชีรายชื่อเสียงไม่ขาดหายไป ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องช่วยกันในเขตเพื่อให้คะแนนในเขตสูง ฉะนั้น ระบบสัดส่วน จึงเป็นระบบที่สร้างความสามัคคี แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 อาจจะมีปัญหาเรื่องการคำนวณคะแนนอยู่บ้าง

 

“เมื่อกลับมาสู่การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบนี้..ก็จะตีกันเละ!  ถ้าเราเชื่อว่าประเทศนี้มีการซื้อสิทธิขายเสียง ก็จะมีการซื้อเสียงกันเละ และตีกันเละในพรรคด้วย และท้ายที่สุดคือสมมุติว่าถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้ จะติดล็อก ส.ว. ถ้า ส.ว.ไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย แล้ว ส.ว.เลือกหันไปสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐอาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์คล้ายกับเมื่อปี 2535 (พฤษภาทมิฬ)

แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนมากเป็นอันดับหนึ่ง และ ส.ว. ให้การสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ก็จะไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมาก คงยุ่งเพราะ ส.ว.ไม่เอาด้วย และถ้าพรรคก้าวไกลได้เสียงข้างมากจะยิ่งแย่กันไปใหญ่" รศ.ดร.เจษฎ์ คาดการณ์สถานการณ์การเมืองต่อศึกเลือกตั้งครั้งหน้า  

 

\"รศ.ดร.เจษฎ์\" ชี้การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ พรรคการเมืองหาเสียงชนิดตีกันเละ !

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า มองจากทฤษฎี รัฐธรรมนูญปี 2540  คือแกงโฮะ คือเชื่อว่าการเอาสิ่งต่าง ๆ มารวมกันนั้นจะทำให้อร่อย คือถ้าทำดี ๆ แกงโฮะก็จะอร่อย แต่ถ้าทำไม่ดี ก็เละ ก็ไม่อร่อย รธน.ปี 2540 นั้นเป็น รธน.ที่หวือหวามากไปสำหรับประเทศไทยเพราะประเทศเรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนา เปรียบเหมือนคนที่ยังขับรถไม่ค่อยเป็น และเราขับรถได้ในความเร็ว 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่พอเอารถที่มีความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมาให้ขับ ก็คงขับชนกันตาย 

 

ในส่วนของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น (กฎหมายลูก ประกอบรัฐธรรมนูญ) รศ.ดร.เจษฎ์ ให้ข้อสังเกตว่า  ในส่วนของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น (กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ) รศ.ดร.เจษฎ์ ให้ข้อสังเกตว่าในส่วนกฎหมายลูกยังมีช่องที่มีโอกาสจะขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญอยู่ พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ แก้รัฐธรรมนูญแบบไม่สะเด็ดน้ำ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าร่างของพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาและมีความไม่ครบถ้วน

 

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นกฎหมายลูกทั้งสองฉบับนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2564 ถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในประเด็นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก ทั้งในส่วนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และพรรคการเมือง ว่า ร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับได้ทำเสร็จแล้ว รอเพียงการหารือกันอีกครั้งของวิปทั้ง 3 ฝ่าย (ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.) 

 

\"รศ.ดร.เจษฎ์\" ชี้การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ พรรคการเมืองหาเสียงชนิดตีกันเละ !

 

นายไพบูลย์ ระบุว่ากฎหมายลูกในส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. ได้มีการแก้ไขในประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่จะต้องแก้ไขตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญที่เสนอ โดยพรรคประชาธิปัตย์ ในมาตรา 91 วิธีคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อใช้ถ้อยคำมาจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือใช้คะแนนรวมให้เป็นสัดส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนของทั้งประเทศ ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญปี 2554 และในกฎหมายลูกก็เขียนตามรัฐธรรมนูญ ในการนับคะแนนก็นับโดยที่นับคะแนนรวมทั้งประเทศ เมื่อเสร็จก็นำมาหารด้วยจำนวนส.ส.  

 

ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขในปี 2564 การแก้ไขมาตรา 83 ให้มีส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยจะนำ ส.ส.100 คนมาหารจากคะแนนรวมทั้งประเทศ และจะได้คะแนนที่ส.ส.พึงมีต่อ 1 คน สมมุติ หารคะแนนที่ประชาชนมาออกเสียง 32 ล้านใบ ก็จะนำมาหาร 100 จะเท่ากับ 320,000 คน และนำคะแนนนี้ไปหารคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้

 

ถ้าหารแล้วได้คะแนนออกมาให้ได้จำนวนเต็ม คือ 1% ขึ้นไป พรรคใดที่ได้ตั้งแต่ 320,000 คนขึ้น ไป จะได้ส.ส.ตามจำนวนเต็มก่อน ส่วนเศษยังไม่พูดถึง เมื่อแบ่งช่วงแรกไปแล้วพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับการจัดสรร ส.ส.พึงมีไปแล้ว แต่เหลือส.ส.บัญชีรายชื่อที่อาจจะไม่ครบ 100 คน อย่างแบ่งไปแล้วได้ส.ส. 97 คน ถือว่าเหลือได้ส.ส.อีก 3 คน ก็จะมาดูว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเต็ม หรือได้ 1% ขึ้นไป มีพรรคการเมืองใดได้เศษมากที่สุด พรรคการเมืองนั้นก็จะได้ส.ส.เพิ่มอีกคน  

 

"นี่เป็นแนวของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ปี 2554 ซึ่งในร่างของพรรคพลังประชารัฐ ก็ร่างมาในแนวนี้ ดังนั้น จะไม่มีส.ส.ที่พรรคได้คะแนนไม่ถึง 320,000 คน การได้ ส.ส.จะต้องได้คะแนนเต็ม และพรรคที่ได้คะแนนเต็มเท่านั้น ถึงจะได้เศษ จะไม่มีส.ส.พรรคปัดเศษ เพราะจะต้องได้คะแนนเต็มก่อนเศษที่เหลือถึงค่อยมาแบ่งกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญเขียนอย่างนี้ กฎหมายเลือกตั้งปี 2554 เขียนอย่างนี้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 2564 จะเขียนแบบเดียวกัน แก้ไขคงเหมือนกัน ต้องไปแนวทางแบบนี้" รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุ

 

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนที่บอกว่าจะเสนอมาให้แก้แบบสัดส่วนอะไรต่าง ๆ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะถ้าทำไปจะขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะมาในแนวนี้คือ แก้ไข 4 เรื่อง ดังนี้


1.จำนวนส.ส.เขต 350 คนให้เป็น 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 150 คนเป็น 100 คน

2.การแก้ไขให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรใบหนึ่งคือการเลือกส.ส.เขต ส่วนอีกใบเป็นการเลือกส.ส.บัญชีรายชื่อ 

3.แก้ไขวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อเนื่องจากเป็นบัตร 2 ใบ คะแนนบัญชีรายชื่อต้องเป็นสัดส่วนโดยตรงกับคะแนนรวมของทั้งประเทศดังนั้น จะไปทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จึงต้องมาแนวนี้ดังที่กล่าวไป ข้างต้น และ

4.ในการเลือกตั้งส.ส.เขตกับบัญชีรายชื่อจะแก้ไขให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งหมดโดยใช้เบอร์ของบัญชีรายชื่อเป็นเบอร์พรรค ซึ่งจะเหมือนกับปี2554 ที่ใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศ 

ทั้งนี้ การแก้ไขนั้นเตรียมไว้หมดแล้ว พร้อมที่จะยื่นให้กับประธานรัฐสภา แต่ต้องรอรัฐธรรมนูญโปรดเกล้าฯ ก่อน เมื่อโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้วไม่เกิน 2-3 วันก็จะยื่นต่อประธานรัฐสภา