คอลัมนิสต์

พรรคการเมืองเร่งหาเสียงเลือกตั้ง คำถามคือทำเพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร?

พรรคการเมืองเร่งหาเสียงเลือกตั้ง คำถามคือทำเพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร?

22 พ.ย. 2564

การเลือกตั้งครั้งหน้านี้..ทุกพรรคการเมืองแข่งกันดุเดือดแน่ เพราะต่างระดมลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างมาก จนเกิดคำถามว่าการหาเสียงและคำมั่นสัญญาของพรรคการเมืองและส.ส.เมื่อได้เข้าสู่สภาแล้ว จะทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเพื่อใคร?

 

“หาเสียงหนักมาก !!”


ประโยคนี้คงไม่ได้เป็นการพูดที่เกินความจริง  หากจับสัญญาณดูการขับเคลื่อนกลยุทธ์และระดมพลลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง และเปิดตัวสมาชิกพรรค และว่าที่ผู้สมัครส.ส.ของแต่ละพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ตามด้วย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย และพรรครวมพลังประชาชาติไทย เพื่อให้ชนะการเลือกตั้งในสมัยหน้านี้ 

 

ยิ่งล่าสุด..ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม โดยนายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการฯ และมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (22 พ.ย.) ซึ่งมีเนื้อหาใจความสำคัญหลัก คือการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปในครั้งหน้านี้ จะเป็นการเลือกตั้งแบบใช้บัตร 2 ใบ โดยส.ส. 500 คนนั้น แบ่งเป็น ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน 

 

เห็นได้ชัดเจนว่าช่วงนี้ ไม่มีพรรคไหนที่ไม่ลงพื้นที่เพื่อสะสมแต้ม ตีกินคะแนนเสียงจากประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกชนชั้น 

 

พรรคแรก ๆ ที่งัดทุกกลยุทธ์มากระชากตา กระชากใจให้ต้องหันมองก่อนใคร คือพรรคเพื่อไทย ที่ได้ลูกสาวสุดที่รักของอดีตนายกฯ นายทักษิณ ชินวัตร คืออุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม 

 

พร้อมกับปรับยุทธศาสตร์มุ่งเน้นจับคะแนนเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น นอกเหนือจากฐานเสียงกลุ่มเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งการเปลี่ยนโลโก้พรรคใหม่เป็นสีแดงตัวหนังสือสีขาว ปลุกพลังพร้อมเลือกตั้งครั้งหน้า จากโลโก้เดิมที่เป็นสีน้ำเงิน และมีลายธงชาติอยู่ที่ตัว พ.พาน และ ท.ทหาร และคำขวัญที่ว่าพรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน และ “พรุ่งนี้เพื่อไทย..เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน”  

 

พรรคการเมืองเร่งหาเสียงเลือกตั้ง คำถามคือทำเพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร?
 

หันมอง พรรคพลังประชารัฐ ที่แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวการไม่ลงรอยกันระหว่างนายกฯและรมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉายา “นายกฯขาลอย” กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค แต่แล้ว “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมาเป็นยาทิพย์ สมานแผลประสานรอยร้าวของคนทั้งคู่ ทำให้กระแสน้ำที่ขุ่น ๆ อยู่ในพรรคค่อย ๆ จางไป ท่ามกลางการลงพื้นที่หาเสียงแบบถี่ยิบเพื่อเปิดตัวสมาชิกพรรคและผู้สมัครส.ส.ของพรรค ทั้งในส่วนของ"บิ๊กป้อม"และร.อ.ธรรมนัส ทั้งในส่วนของการลงพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคอีสาน 

 

พรรคการเมืองเร่งหาเสียงเลือกตั้ง คำถามคือทำเพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร?

 

ขณะที่ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันลอยกระทง 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะมีความสบายอกสบายใจมากในระดับหนึ่งเพราะเดินพูดคุยกับรัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลแบบชิล ๆ อีกทั้งยังโพสต์เฟซบุ๊กใน “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ด้วยวรรคทองที่ว่า "พรุ่งนี้...ต้องดีกว่าเมื่อวาน"  หลังจากที่ได้ร่วมประชุมผ่านระบบ video conference กับประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (American Chamber of Commerce in Thailand : AMCHAM) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและนักธุรกิจบริษัทสมาชิก เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โอกาสทางธุรกิจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนในอนาคต ภายใต้ความท้าทายของโลก ที่มีทั้งวิกฤตโควิดและภาวะโลกร้อน 

 

“สิ่งสำคัญที่ผมเห็นว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี ได้แก่ ความมีเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งนโยบายรัฐบาลที่ไม่เปลี่ยนไปมาจนสร้างความสับสน โดยมียุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่ชัดเจน เป็นเข็มทิศนำทาง (Roadmap) ให้ทุกภาคส่วนได้มีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งวันนี้ผมถือว่าเราตั้งโจทย์ได้ถูกต้อง และเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว ก้าวต่อ ๆ ไปก็ต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือกันของคนไทยทุกคน ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ ตามหลักคิดที่ว่า "พรุ่งนี้...ต้องดีกว่าเมื่อวาน" นะครับ” นายกฯ อ้อนประชาชนคนไทย  

 

พรรคการเมืองเร่งหาเสียงเลือกตั้ง คำถามคือทำเพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร?

 

ด้านพรรคประชาธิปัตย์นั้น มีหัวหน้าพรรคที่เป็นรองนายกฯและรมว.พาณิชย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ที่ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.เพื่อระดมหาเสียงทั้งเตรียมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ และการเลือกตั้งสนามใหญ่ ในส่วนของผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ที่หันมาปักธงรบ ขอดึงคะแนนเสียงจากกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่จากทั้งเจน X เจน Y และเจน Z กันเลยทีเดียว 

 

พรรคการเมืองเร่งหาเสียงเลือกตั้ง คำถามคือทำเพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร?

 

มาถึง พรรคก้าวไกล กับภารกิจของหัวหน้าพรรคคนใหม่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ล่าสุดบุกไปเยือนเมืองสุพรรณฯ ถิ่นบรรหารบุรี พร้อมประกาศขอยึดเมืองขุนช้าง เพื่อต่อสู้กับทุกความอติธรรม และเน้นแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาน้ำและปัญหาอ้อย ให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกับเน้นย้ำว่าเจ้าของเมืองสุพรรณคือประชาชน ตามด้วยการลงพื้นที่หาเสียงที่เมืองกาญจนบุรี ด้วยการเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.กาญจนบุรี ทั้ง 5 คน ของพรรคก้าวไกล พร้อมระบุว่า ผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 5 คนนั้น เป็นเหมือนเพชร 5 กะรัต 1 เม็ด ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าเพชร 1 กะรัต 5 เม็ด โดยเน้นการทำงานเป็นทีม เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด 

 

พรรคการเมืองเร่งหาเสียงเลือกตั้ง คำถามคือทำเพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร?

 

ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เพิ่งได้นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรคหมาดๆ เมื่อวานนี้ (21 พ.ย.) นายเอนก ก็ได้ย้ำว่าจะให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรค โดยจะเตรียมพรรคสู่การเลือกตั้งในช่วงเวลา 1 ปี ต่อจากนี้ไป “เรามีเวลา 1 ปีเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรค ซึ่งเรามีผลงานในช่วงที่ร่วมเป็นรัฐบาลในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของกระทรวง อว. และผลงานของ ส.ส.ของพรรคในสภา โดยเป้าหมายจะเป็นพรรคขนาดเล็ก ขนาดกลางที่มีคุณภาพ โดยเป็นพรรคของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เพราะเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม” 

 

พรรคการเมืองเร่งหาเสียงเลือกตั้ง คำถามคือทำเพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร?

 

ทิ้งท้ายที่พรรคไทยสร้างไทย ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคลงพื้นที่หาเสียงและโพสต์เฟซบุ๊ก ชูนโยบายของพรรคในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แก่ประชาชน รวมทั้งท้วงติงนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล ที่ยังไม่ถูกต้องในหลายด้าน โดยเฉพาะล่าสุดกับการทักท้วงว่าการที่รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลิตรละ 6 บาทจากประชาชนนั้น เป็นการ “รีดเลือดกับปู” ชัดๆ 

 

พรรคการเมืองเร่งหาเสียงเลือกตั้ง คำถามคือทำเพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร?

 

ถึงบรรทัดนี้.. ถามว่าทุกพรรคการเมืองที่เร่งหาเสียงกันอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ทำเพื่อใคร? “พรุ่งนี้.. เพื่อใคร?” เพื่อให้พรรคได้คะแนนเสียง ส.ส. และได้เข้าไปนั่งทำงานในสภา คอยเป็นปากเป็นเสียงเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะท้ายที่สุดแล้ว..การเมืองไทย มักจะมีการพูดถึงเสมอว่า “การเมือง..เป็นเรื่องของผลประโยชน์” !!