แม่ทัพเพื่อชาติ "ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ" สูตรลับเชียงรายโมเดล
เรียบร้อยติยะไพรัช "ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ" หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ โชว์บทดาวสภากล้าตาย เชื่อมคอนเนกชั่นเชียงราย-พะเยา รอเวลาไปต่อหรือควบรวม คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
พรรคเพื่อชาติเลือก “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะความสัมพันธ์กับยงยุทธ ติยะไพรัช นั้นล้ำลึกมาแต่สมัยก่อการขบวนคนเสื้อแดง ภาคเหนือ
มองข้ามช็อต “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” เป็นผู้เล่นที่เหมาะสมกับช่วงการรอคอยเลือกตั้งครั้งใหม่ด้วยกติกาบัตร 2 ใบ พรรคเพื่อชาติจะไปต่อหรือควบรวมกับพรรคไหน ก็ขึ้นอยู่กับบทบาท ส.ส.เอลวิส ในสภาฯ นับจากนี้ไป
“ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” ไม่ได้แนบแน่นแค่ผู้มากบารมีเมืองเชียงราย หากแต่สายสัมพันธ์ยังทอดยาวไปถึงผู้กองเมืองพะเยา ซึ่งคอนเนกชั่นลูกข้าวนึ่ง บอกถึงอนาคตของพรรคเพื่อชาติได้เป็นอย่างดี
เปิดฉากการประชุมพรรคเพื่อชาติ ที่ห้องประชุมสนามฟุตบอลสโมสรลีโอเชียงราย สเตเดียม จ.เชียงราย ของตระกูลติยะไพรัช ก็บอกให้รู้แล้วว่า พรรคเพื่อชาติ เป็นของใคร
พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านไม่มีอะไรมาก บุศริณธญ์ วรพัฒนานันท์ พี่สาวของยงยุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และส่งต่อให้ ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ เป็นหัวหน้าพรรคแทน
สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ สปอนเซอร์รายใหญ่ยุคแรกๆ ผันตัวขึ้นเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค และ ลินดา เชิดชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลูกสะใภ้เจ๊เกียว เป็นเลขาธิการพรรค สมความมุ่งมาดปรารถนา
หาก “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” จะนำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง ก็คงเน้นหนักในพื้นที่ภาคเหนือ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ง่าย บางทีอาจต้องรอฟังสัญญาณคนแดนไกล ก่อนตัดสินใจอนาคตเพื่อชาติ
‘เชียงรายโมเดล’
ช่วงรัฐบาล คสช. ยงยุทธ ติยะไพรัช ไปสิงสถิตอยู่ที่ชั้น 5 อิมพีเรียล ลาดพร้าว ทำกิจกรรมร่วมกับแกนนำ นปช. ซึ่งตอนนั้น “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” ก็มาร่วมขบวนด้วย ในฐานะแกนนำ นปช.เมืองพระยาพิชัยดาบหัก
ปี 2563 ยงยุทธ ติยะไพรัช ตั้งกลุ่มพลเมืองร่วมใจ ร่วมกับ สมศักดิ์ จันทะพิงค์ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตมือปราบฉลามดำ ตระเวนทำกิจกรรมทั่วภาคเหนือตอนบน บ่อยครั้งที่ ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ ได้ร่วมขบวนไปด้วย
จริงๆแล้ว ยงยุทธ ก็สนิทกับสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ภายในพรรคเพื่อไทยก็มีหลายกลุ่มก๊วน ยงยุทธจึงไม่เข้าไปยุ่ง กรณีที่ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ เปิดศึกถล่มแกนนำพรรค และถูกขับออกมา
นับแต่เสี่ยสงคราม ถอดใจอยากเลิกราจากเพื่อชาติ ยงยุทธก็ตัดสินใจดันพี่สาวให้เป็นหัวหน้าพรรคชั่วคราว และโยกเพื่อชาติจากอิมพีเรียล สำโรง มาอยู่ที่สนามลีโอ เชียงรายฯ
‘ยุบพลเมืองร่วมใจ’
ดังที่รู้กันในสภาฯ ช่วงก่อนแตกหักเพื่อไทย “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” ป้วนป้วนอยู่พรรคพลังประชารัฐ โดยเดินไปมาไหนกับวิรัช รัตนเศรษฐ และเครือข่าย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แต่ศรัณย์วุฒิ เลือกเพื่อชาติ ง่ายต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในนามฝ่ายประชาธิปไตย
ฝ่าย ยงยุทธ ติยะไพรัช กับ พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ สมัยเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดตัวกลุ่มพลเมืองร่วมใจ ขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน ซึ่งจริงๆแล้ว ก็มีเป้าหมายการเมืองท้องถิ่น
ยงยุทธสนับสนุน วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ลงสมัครนายก อบจ.เชียงราย ในนามเพื่อไทย แต่พ่าย อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ เป็นลูกสาวของสมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ อดีต ส.ส.เชียงราย
ส่วน พล.ต.ท.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ ก็ไปลงสมัครนายก อบจ.นครสวรรค์ ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.นครสวรรค์ทุกพรรค รวมถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และหิมาลัย ผิวพรรณ ซึ่ง พล.ต.ท.สมศักดิ์ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.
ดังนั้น กลุ่มพลเมืองร่วมใจจึงปิดตัวไปโดยปริยาย เดิมพันการเมืองของยงยุทธ ก็ขึ้นอยู่ที่บทบาทของ “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” หัวหน้าพรรคคนใหม่ จะแสดงได้ดีแค่ไหน และท้ายที่สุด ก็ต้องฟังยุทธศาสตร์เลือกตั้งของคนแดนไกล