จับสัญญาณยุบสภา..เดินหน้าปักหมุดสู่การเลือกตั้งปีหน้า ?
ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าสถานการณ์การเมืองไทยในปี 2565 ปีเสือ.. ปีของเสือ.. ที่อาจจะดุดันและร้อนแรงมาก จนนำไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ขณะที่รัฐนาวาประยุทธ์จำต้องอับปางก่อนครบเทอม
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่านาทีนี้ใคร ๆ .. ต่างตั้งหน้าตั้งตารอการเลือกตั้งครั้งหน้าและนับถอยหลังถึงการยุบสภาว่าจะมีขึ้นเมื่อใด ถ้ารัฐบาลยุบสภาเร็ว การเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นเร็วตามไปด้วย แต่มักจะมีคำพูดของนักการเมือง คอการเมือง และนักวิชาการที่บอกเอาไว้เสมอว่ารัฐบาลจะยุบสภาต่อเมื่อห้วงนาทีนั้น รัฐบาลได้เปรียบ ถ้ายุบสภาแล้วเสียเปรียบ ไม่มีทางที่ฆ้องและระฆังการยุบสภาจะดังขึ้น!
วันนี้ “เจาะประเด็นร้อน” โดย อักษร 8 ทิศ จับสัญญาณการยุบสภาจากบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งของรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ที่บอกกับสื่อเอาไว้อย่างมีนัยสำคัญทีเดียวว่า..
“เคยคิดไทม์ไลน์ว่ากฎหมายลูกจะมีการประกาศใช้ช่วง ก.ค. 2565 เพราะคิดว่าเปิดสภาสมัยวิสามัญช่วง เม.ย.2565 จากนั้นก็ทูลเกล้าฯ ถวาย กรอบเวลา 90 วันจะอยู่ที่ประมาณ ก.ค. 2565 นี่คือการคิดเวลายาวที่สุดไว้ก่อน แต่ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน กรอบเวลาก็จะเร็วขึ้น เคยบอกในคณะรัฐมนตรีว่าถ้ากฎหมายลูกประกาศใช้ จะมีการกดดันให้ยุบสภา รัฐบาลก็ต้องเตรียมรับมือทางการเมืองเอง”
จับความและสุ้มเสียงของรองนายกฯ วิษณุแล้ว ยากมากที่รัฐบาลจะหลีกเลี่ยงการยุบสภาเพราะแรงกดดันให้ยุบสภาจะกระเพื่อมขึ้นทุกวัน เกินต้านทาน! หากกลางปีหน้าการแก้ไขร่างกฎหมายลูกเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองแล้วเสร็จ ดังนั้นท่าทีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะก้าวเดินอย่างไร ในช่วงจังหวะที่ถูกตีกรอบด้วยเงื่อนเวลาและกฎหมายลูก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพล.อ.ประยุทธ์
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (24 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ บอกเสียงแข็งและประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยุบสภา แม้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนั้นจะประกาศใช้แล้ว ก็ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่มีการยุบสภา ส่วนจะอยู่จนกว่าจะประชุม APEC แล้วเสร็จหรือไม่นั้น ก็สุดแล้วแต่สถานการณ์
“เรื่องการเมืองก็ว่ากันไป อยู่ตามรัฐธรรมนูญ เพราะบ้านเมืองมีปัญหาเยอะแยะที่จะต้องแก้ไข ตอนนี้ประเทศก็เดินหน้าไปได้เยอะแล้วเช่นกัน ทั้งการหารายได้ใหม่เข้าประเทศ หากเอาปัญหามาตีทุกวันก็ไปไม่ได้ เพราะปัญหาก็คือปัญหา ซึ่งต้องดูว่าแต่ละปัญหานั้นทับซ้อนเพียงใด ก็แก้ไขมาโดยตลอดทุกเรื่อง”
ฟังน้ำเสียงแล้ว..ท่าทางนายกรัฐมนตรีอยากจะอยู่ยาวจนครบเทอม และทำหน้าที่จัดประชุม APEC 2022 ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายปีหน้าให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะประกาศยุบสภา ซึ่งจะครบเทอมในเดือนมีนาคม 2566
ชัดเจนว่านายกฯ ไม่ยุบสภา แต่กับเงื่อนเวลาของกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่จะมีการพิจารณาในสภา ภายใต้กรอบเวลา 180 วันนั้น จะเป็นตัวบีบรัดและกดดันให้รัฐบาลต้องยุบสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแรงบีบคั้นนั้นมีมากพอจากทุกทาง ตามที่รองนายกฯ วิษณุ บอกเอาไว้กับคณะรัฐมนตรีว่า “ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน กรอบเวลาก็จะเร็วขึ้น เคยบอกในคณะรัฐมนตรีว่าถ้ากฎหมายลูกประกาศใช้ จะมีการกดดันให้ยุบสภา รัฐบาลก็ต้องเตรียมรับมือทางการเมืองเอง”
ดังนั้น นับตั้งแต่เดือนเมษายน การพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะแล้วเสร็จและนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้าฯ ลงมาในระยะเวลา 90 วัน ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมาเร็ว การกดดันให้มีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งก็จะรุนแรงขึ้นทันที ในประเด็นนี้ ประธานวิปฝ่ายค้าน สุทิน คลังแสง บอกกับ “คมชัดลึก” ไว้ว่า...
“รัฐบาลคงจะพยายามลากยาวให้นานที่สุดเพราะไม่ต้องการยุบสภา ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เพราะความเป็นเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาลไม่มี ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐไม่มีเอกภาพ ก็ลากต่อไม่ได้ ดังนั้น ในเดือนมีนาคม-เมษายนปีหน้า การเมืองจะร้อนแรงมาก และรัฐบาลก็คงประเมินด้วยว่าถ้ายุบแล้วเสียเปรียบ คงไม่ยุบ จะยุบก็ต่อเมื่อได้เปรียบเท่านั้น”
ขณะที่ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในปีหน้ากับ “คมชัดลึก” ว่า การประชุม APEC 2022 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 จะเป็นอีกประเด็นสำคัญในการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากรีบยุบสภาในปีหน้า และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็อาจจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพดูแลการจัดประชุม APEC 2022
หรือไม่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะยังเป็นรัฐบาลรักษาการและดูแลการจัดประชุม APEC 2022 ซึ่งภาพลักษณ์ของการเป็นรัฐบาลรักษาการ อาจจะไม่สมบูรณ์เท่ากับการเป็นรัฐบาล หรืออาจเป็นรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ดังนั้น โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะยื้อให้นานที่สุดเพื่อให้ผ่านพ้นการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ของประเทศไทยให้ผ่านพ้นไปด้วยดีก่อน
ทั้งหมดยังคงเป็นเพียงการคาดการณ์ และสถานการณ์ในการจับสัญญาณการยุบสภาที่อาจจะมีขึ้น ไม่ช้าก็เร็วเพราะสถานการณ์ทางการเมืองนั้น ยากที่จะกำหนดได้ และ ภาพการลงพื้นที่หาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ใครช้าตกขบวน ! กระทั่งล่าสุดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้มีการประชุมพรรคกันและเปิดนโยบายของพรรคเพื่อเรียกคะแนนเสียงจาประชาชนอีกครั้ง แม้จะพยายามบอกว่านโยบาย "ตำบลละ 20 ล้าน-บัตรเครดิตเกษตรกร" เป็นแค่ข้อเสนอแนะจากสมาชิกของพรรคเท่านั้น แต่นี่ก็เริ่มบ่งบอกแล้วว่า พปชร. กำลังเดินเกมสู้ศึกเลือกตั้งแล้วเช่นกัน
เห็นได้จากที่ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุว่าเอกสารของพรรคพลังประชารัฐเผยแพร่ "โครงการบัตรเครดิตเกษตรประชารัฐถูกใจ" วงเงิน 50,000 บาทต่อครอบครัว, "โครงการประชารัฐระดับตำบล" ตำบลละ 20 ล้านบาท นั้นเป็นเพียงข้อเสนอแนะ และแนวนโยบายให้เกิดประโยชน์กับประชาชน อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการระดมสมองที่จะเอาแนวคิดเสนอให้ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ร่วมวิเคราะห์ พร้อมกับย้ำว่า …
“มีหลายนโยบายที่พรรคพยายามจะขับเคลื่อนอยู่ แต่ด้วยวิกฤติโควิดและข้อจำกัดอื่น ๆ ทำให้ต้องค่อย ๆ ขับเคลื่อนไป ซึ่งนโยบายที่พรรคทำสำเร็จแล้วนั้นคือการเน้นอยู่ดีกินดี เช่น การต่อยอด "บัตรประชารัฐ" ช่วยประชาชน”
จับสัญญาณการยุบสภา.. และประเมินจากความเป็นไปได้ ปฏิเสธยากว่าการยุบสภาในปีหน้าจะไม่เกิดขึ้น เว้นเสียแต่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐนาวาประยุทธ์ จะทนแรงเสียดทานและแรงกดดันจากทุกสารทิศได้ และทู่ซี้อยู่ยาวแบบถูลู่ถูกัง..!!