คอลัมนิสต์

"ปณิธาน" เคลียร์ชัด เหตุใด สหรัฐฯไม่เชิญไทย เข้าร่วมเวทีประชาธิปไตย

"ปณิธาน" เคลียร์ชัด เหตุใด สหรัฐฯไม่เชิญไทย เข้าร่วมเวทีประชาธิปไตย

25 พ.ย. 2564

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการสายความมั่นคง เคลียร์ชัด ปม โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่เชิญ ไทย เข้าร่วมเวทีประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ชี้สหรัฐหวังพลิกฟื้นประชาธิปไตยไตล์อเมริกาคืนมา

 

กลายเป็นประเด็นข้อสงสัยขึ้นมาทันที กรณีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐประกาศรายชื่อ 110 ประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ทางออนไลน์ที่สหรัฐฯจัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 9-10 ธ.ค.  เพื่อช่วยหยุดยั้งการเสื่อมถอยทางประชาธิปไตยและการพังทลายของสิทธิและเสรีภาพทั่วโลกแต่ทว่าไม่ปรากฎรายชื่อ ประเทศไทย จีน รัสเซีย เข้าร่วม ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ปฏิเสธที่จะตอบสื่อมวลชน 

 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร  อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง   เปิดเผย"คมชัดลึกออนไลน์" ว่า  เวทีการประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสหรัฐในการกอบกู้ความเชื่อมั่นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ซึ่งสหรัฐเป็นผู้ผลักดันมาหลายสิบปี แล้วนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและการทูตในหลายประเทศที่ตกต่ำลง 

 

"มีพัฒนาการในเชิงลบว่าประชาธิปไตยกำลังจะตาย มีหนังสือสำคัญออกมา เช่น ที่อังกฤษของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมกำลังจะตาย  รวมถึงสหรัฐที่มีการบุกไปรัฐสภา  ในสหรัฐมีการเสียชีวิตของผู้ประท้วง มีการละเมิดคนผิวสี  มีข้อสังเกตตรงนี้ ทำให้สหรัฐ มีความวิตกกังวลมากว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมตะวันตกที่สหรัฐ และอังกฤษผลักดันมาหลายสิบปีเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทางการทูตเพื่อกดดันเพื่อให้มีพันธมิตรมากขึ้น" รศ.ดร.ปณิธาน ปูพื้นถึงความพยายามของสหรัฐในการจัดประชุมครั้งนี้ 

 

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวต่อไปว่า  อีกด้านหนึ่ง จีนถูกมองว่าเป็นประเทศที่เจริญเติบโตก้าวหน้าที่สุดและไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เห็นหลายประเทศชื่นชมจีนและมีแนวโน้มปรับระบบการเมืองการปกครอง ให้มีลักษณะการควบคุมเสถียรภาพมากขึ้นและดูด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

 

รศ.ดร.ปณิธาน  เปิดเผยถึงความพยายามสหรัฐ เริ่มต้นตั้งแต่ ประธานาธิบดี โจไบเดน ประกาศหาเสียงได้รับเลือกตั้งจะทำ 2-3 อย่าง  1.เปิดเจรจารอบใหม่กลุ่มประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ อย่างเกาหลีเหนือ อิหร่าน  2. รณรงค์สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งได้ดำเนินการแล้ว   และ 3. การฟื้นฟูประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ที่กำลังทำอย่างที่เห็นอยู่ 

 

"ไบเดน ได้เคยประกาศนโยบายหาเสียงที่มหาวิทยาลัย Newyork University  ว่าจะทำเรื่องพวกนี้ เริ่มดำเนินการเชิญประเทศพันธมิตรใกล้ชิดของเขา และที่คิดว่าผลักดันได้ให้ยอมรับ ระบอบประชาธิปไตยแบบสหรัฐ ซึ่งไม่ใช่ไทย เพราะไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างจากของเขา" นักวิชาการสาขาความมั่นคงระหว่างประเทศ กล่าว 

 

ร.ศ.ดร.ปณิธาน วิเคราะห์ต่อไปว่าว่า  "ประเด็นที่สองระบบประชาธิปไตยที่สหรัฐผลักดันเป็นระบบประชาธิปไตยแบบที่สหรัฐคุ้นเคย มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ ไม่ได้คุ้ยเคยพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ  เป็นระบบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีมลรัฐต่างๆที่แยกการปกครองออกมาเป็นอิสระ มีกฎหมายของตัวเอง  มีศาลสูงสุดของตัวเอง ไม่ใช่ระบบของไทยที่เป็นรัฐเดี่ยว เขานิยมชมชอบเป็นรัฐอิสระหรือต้องการให้ปัตตานีมีอิสระขึ้น พวกนี้เป็นความคิดของสหรัฐ  มีประธานาธิบดีเป็นประมุข  มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลเข้มข้น ทุกสภาเลือกตั้งหมด หรือแม้แต่ฝ่ายผู้พิพากษาก็เลือกตั้งซะเยอะ แม้แต่ข้อเสนอของคนรุ่นใหม่ที่เข้าชื่อแสนคน แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่เอาระบบแบบสหรัฐในการถ่วงดุล คือไม่ให้มีสภาสูงเลย" 

 

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร  อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รศ.ดร. ปณิธาน  กล่าวว่า เรื่องเหล่านี้สหรัฐรู้ดีว่า เจ็ดปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้  มีแนวทางประชาธิปไตยเป็นของตัวเอง เปิดให้มีการพูดคุยเรื่องปฏิรูป มีสถาบันต่างๆในรูปแบบตนเองไม่ขัดกฎหมาย เปิดให้มีการชุมนุมเป็นไปตามกฎหมาย

 

อย่างไรก็ดี สหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย การไม่เชิญไม่ได้หมายความว่ามีความสัมพันธ์ไม่ดี  สหรัฐยังส่งรองผอ.ซีไอเอมาพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี ในเชิงลึกล่วงหน้าหลายเรื่องแสดงให้เห็นว่าเป็นนโยบายซับซ้อนแยกแยะความเหมาะสมต่างๆ อย่างเช่น ไม่เชิญ จีน รัฐเซีย สิงคโปร์ เพราะแนวทางประชาธิปไตยเป็นของตัวเอง  และไม่ทำแบบที่สหรัฐทำ

 

"การเชิญไปหลายร้อยประเทศ รวมถึงประเทศเล็กประเทศน้อย ส่วนใหญ่เป็นระบบการเมืองการปกครอง อย่างน้อยรับแนวทางสหรัฐได้ แต่ในขณะที่หลายประเทศก็ไม่เอา และสหรัฐไม่ค่อยรับฟังระบอบอื่นเป็นอย่างไร 

 

แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้รับเชิญเข้าร่วม ไม่ใช่เป็นการส่งสัญญาณเชิงลบ แต่มีนัยยะทางการเมืองให้เห็นว่า  เราเป็นอิสระจากสหรัฐพอสมควร จะเหมารวมไม่ได้เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ต้องดูข้อปฏิบัติจริงๆว่าประชาชนของเรามีสิทธิในการพูด การคิด การเขียนขนาดไหน ปฏิรูปไม่ใช่ปฏวัติอย่างไร ถ้าพูดปฏิรูปในเชิงสันติได้หรือไม่  ซึ่งสหรัฐไม่ได้นำมุมมองส่วนนี้ไปคิดด้วย ว่าสอดคล้องนโยบายกับเขาหรือไม่  จะนำไปเป็นประโยชน์เพื่อปิดล้อมจีนได้ไหม นี่จึงเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศซะเยอะ 

 

ความสำคัญของเวทีนี้  รศ.ดร. ปณิธาน  วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า การประชุมครั้งนี้  สหรัฐจะกู้วิกฤติประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมตะวันตกได้หรือไม่  เพราะที่ผ่านมาเมื่อนำรูปแบบที่สหรัฐไปใช้ในหลายประเทศเกิดอาการมือใครยาวสาวได้สาวเอา คนเล็กคนน้อยตกขอบกันหมด  แล้วก็แก้ไขปัญหาจัดการอะไรไม่ได้ เกิดความแปรปรวนเยอะ เขาเอาระบบนี้ไปใช้กับละตินอเมริกา ก็เริ่มคิดหนักจะใช้ระบอบนี้ไหม  แต่ถ้ากอบกู้มาได้ก็จะผงาดเป็นผู้นำโลกเสรีได้อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ตกต่ำมาก แม้แต่ประเทศตัวเองก็ยังแก้ไม่ได้

 

อีกประเด็นเป็นความพยายามของสหรัฐในการเบี่ยงเบนในประเทศ เนื่องจากเข้าสู่การเลือกตั้งกลางสมัย เพราะฉะนั้นการยกระดับตัวเองให้เห็น เป็นการข่มขวัญคู่ต่อสู้นั่นก็คือ ทรัมป์และพันธมิตร ที่กำลังตีตื้นขึ้นมาแล้ว

 

อีกอย่างการเลือกตั้งท้องถิ่น รีพับลีกันเริ่มได้คะแนนนิยมกลับมา คะแนนไบเดน ตกต่ำมาก เขาจะกู้วิกฤติศรัทธาประชาชนได้ไหม ทำให้เขาต้องเชิญประเทศให้เยอะ และสองไม่เชิญประเทศที่เห็นต่างกับเขา อย่างเช่นสิงคโปร์มีะบบบที่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ไทย ที่รัฐบาลบริหารมา7 ปี เกิดเสถียรภาพสมดุลใหม่ จีน ประสบความสำเร็จมาก จึงไม่เชิญมาร่วม  การนำหลายร้อยประเทศชี้นำได้ก็จะทำให้มีบทบาทในการเลือกตั้งของเขาด้วย 

 

อย่างไรก็ดี การที่สหรัฐดำเนินการรูปแบบนี้ ทำให้เห็นว่าเขายังมีพันธมิตรเป็นร้อยประเทศพยายามโดดเดี่ยว จีน รัสเซีย ทำให้จีนรู้ทันจึงออกมาแถลงโต้ในช่วงวันแรก

 

"เราเหมือนอยู่ในหมู่บ้านเคยสงบสุข แต่มีนักเลงประจำซอย สองคนตีกัน ทำให้พวกเราในหมู่บ้านอกสั่นขวัญแขวนไปทั่ว ในยามที่เราเดินผ่านก่อนนั้นทักทายกันดี แต่ตอนนี้มาข่มขวัญจะอยู่พวกไหน ทำให้จิตใจเราก็ตุ้มๆต่อมๆไปด้วย"  รศ.ดร.ปณิธาน  เปรียบเปรยให้เห็นถึงสถานการณ์ของสองชาติมหาอำนาจที่กำลังกำหนดนโยบายกับชาติพันธมิตรอยู่ในขณะนี้   

 

รศ.ดร. ปณิธาน กล่าวว่า  ในส่วนของไทยเร่งทำความเข้าใจและให้รู้ว่ามีจุดยืนของตัวเอง

 

"ประชาธิปไตยไม่ใช่สาธารณรัฐ ไม่ใช่ประธานาธิบดีเป็นประมุข หรือเลือกตั้งทุกอย่างเกิดปัญหาเหยียดสีผิวแก้ไม่ได้ เราไม่นิยมแบบนั้น   ถ้ายืนได้ตัวเอง เข้มแข็งขึ้น ไม่ยอมสหรัฐมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องระวังไม่กระทบสัมพันธ์โดยรวมซึ่งยังดีอยู่ แต่กรณีนี้ถือเป็นเรื่องการเมือง" 

 

 

คริสตี เคนีย์  อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ

 

อีกประเด็นที่ รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ให้เห็นเบื้องหลังการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐปัจจุบัน  เนื่องจาก  คนควบคุมกระทรวงการต่างประเทศขณะนี้เป็นพรรคเดโมแครต ซึ่งเดิมมีทัศนคติเป็นลบกับไทยว่าไทยเข้าข้างจีน เป็นลูกน้องจีน พยายามกดดันตลอด นับตั้งแต่สมัย คริสตี้ เคนนี่ย์  อดีตทูตสหรัฐประจำประเทศไทย  และ กลิน เดวีส์ (Glyn Davies )  อดีตทูตสหรัฐฯ ตอนนี้ก็กลับมาอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ เป็นการควบคุมนโยบายที่ทำเป็นแบบไม่เข้าใจ ไม่เหมือนสมัย โดนัลดิ์ ทรัมป์ 

 

กลิน เดวีส์ (Glyn Davies )  อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ

 

ทำให้กระทรวงการต่างประเทศตอนนี้เป็นการชี้นำไบเดน มากกว่า สมัยทรัมป์ที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้รับบทบาทมาก  ครั้งนั้นมีการตั้งทูตพิเศษมาคุยกับไทยทางการค้า  แต่พอมาเป็นยุคไบเดน ต้องลาออกไปและไม่ได้ตั้งใครเลย 

 

นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่กำลังสะท้อนออกไปเห็นการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจากการกลับมาของเดโมแครตตอนนี้