"ภาวะศีลธรรมอันสูงสุด" ข้อคิดจากท่านพุทธทาส ถึงปรีดี พนมยงค์
เดี๋ยวนี้ปัญหามันก็มีมากขึ้นทุกทีในโลกนี้ นักเรียนก็ขาดศีลธรรม ... ครูบาอาจารย์ก็ขาดศีลธรรม ... ทนายความขาดศีลธรรม ตำรวจขาดศีลธรรม ผู้พิพากษาขาดศีลธรรม กระทั่งผู้ปกครองบ้านเมืองขาดศีลธรรม นี่มันจะเป็นอย่างไร กับเจาะประเด็นร้อน โดยโคทม อารียา
เมื่ออ่านรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพและหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ก็จะพบวลีในทำนองว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพเท่าที่ไม่ขัดหรือไม่กระทบกระเทือนต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือวลีที่ว่า รัฐพึงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
วลีแรกชวนให้คิดว่าศีลธรรมมาก่อนสิทธิใช่ไหม วลีที่สองชวนให้คิดว่าศาสนาหมายถึงหลายศาสนาและจะรวมถึงความเชื่อของผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดโดยเฉพาะด้วยหรือไม่ ในเรื่องนี้ ขออ้างอิงถึงท่านพุทธทาสและรัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ เพื่อจะได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์
ท่านพุทธทาสเคยบรรยายในหัวข้อ “ค่าและความจำเป็นที่ต้องมีศีลธรรม” ท่านยกปัญหาให้คิดว่า “การที่เอาเปรียบกันจนต้องทะเลาะวิวาทกัน ระหว่างนายทุนกับชาวนาอย่างนี้ ก็เพราะว่ามันขาดศีลธรรมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ... เดี๋ยวนี้ปัญหามันก็มีมากขึ้นทุกทีในโลกนี้ นักเรียนก็ขาดศีลธรรม ... ครูบาอาจารย์ก็ขาดศีลธรรม ... ทนายความขาดศีลธรรม ตำรวจขาดศีลธรรม ผู้พิพากษาขาดศีลธรรม กระทั่งผู้ปกครองบ้านเมืองขาดศีลธรรม นี่มันจะเป็นอย่างไร” ท่านพุทธทาสได้กล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมมีชื่อมากมายจนสับสน เช่น “จะต้องดูว่าศีลธรรมอันดีของประชาชน คล้าย ๆ กับว่ามันมีศีลธรรมอันเลวของประชาชนอยู่ส่วนหนึ่ง” ท่านสรุปว่า “สิ่งนี้ถือความหมายในภาษาบาลีเป็นดีที่สุด คือเอาตามความหมายของคำว่า สี-ละ นั่นเอง”
“สี-ละ แปลว่า ปกติ ถ้าสิ่งใดเป็นไปเพื่อความปกติ ไม่วุ่นวาย ก็เรียกว่า สี-ละ ธรรมะที่ทำให้มีความเป็นอย่างนั้นก็เรียกว่า “ศีลธรรม” ... การที่บ้านเมืองมันไม่ปกติ แล้วเราช่วยทำให้มันปกติ จะไม่เรียกว่าศีลธรรมหรืออย่างไร ... บ้านเมืองมันรุงรังไปด้วยขยะนี้ จะต้องเรียกว่ามันผิดปกติ กวาดให้มันเรียบร้อย ให้มันเย็นตาเย็นใจให้มันไม่มีอันตรายเพราะสิ่งเหล่านั้น ก็ต้องเรียกว่าทำความปกติ”
ท่านพุทธทาสวิจารณ์คำว่า "ค่า" ว่ามีสองความหมาย ความหมายที่หนึ่งเหมือนคำว่า "ราคา" มันเกิดขึ้นเพราะความต้องการของมนุษย์ ความต้องการมันทำให้เกิดค่าขึ้นมาเท่านั้นเท่านี้ "ค่า" ในความหมายที่สอง “มันเกิดเป็นค่าขึ้นมาตามความต้องการของธรรมชาติ”
ค่าในความหมายที่หนึ่งมีหลายประเภท ประเภทที่ 1 เป็นเรื่องวัตถุอย่างเดียว บางทีก็กำหนดความต้องการอย่างโง่เขลา เหมือนที่เขาเรียกกันว่า "ไก่กับพลอย" ประเภทที่ 2 เป็นค่าตามความหมายทางไสยศาสตร์ ที่ต้องอาศัยความเชื่อ ยึดมั่นถือมั่นอย่างงมงายเป็นหลัก ประเภทที่ 3 เป็นค่าตามความต้องการที่แท้จริงตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ และขึ้นอยู่กับความต้องการกับสิ่งที่สนองความต้องการ
ค่าในความหมายที่สองเกิดขึ้นตามความต้องการของธรรมชาติ เช่น ปัจจัยสี่ นี้เป็นธรรมชาติทางวัตถุ
ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “บางทีก็น่าหัวที่ว่า ของจำเป็นแก่ชีวิตอย่างยิ่งมันกลับมีราคาถูกเหลือเกิน แล้วของบ้า ๆ บอ ๆ ทำไมมันถึงแพง ... ข้าวสารนี้ทำไมจึงไม่มีราคาแพงเท่ากับทองคำหรือเพชรพลอย” พวกมิจฉาทิฏฐิเอาเนื้อหนัง ปากท้องเป็นหลัก พวกสัมมาทิฏฐิเอาเรื่องจิตเรื่องวิญญาณเป็นหลัก ทีนี้จะเอาอย่างไหนเป็นหลัก ถ้าเอาอย่างไหนเป็นหลักแล้วความปกติสุขเกิดขึ้น ต้องถือว่าอย่างนั้นถูกต้อง เช่น พวกมิจฉาทิฏฐิเขาต้องการให้ "อยู่ดีกินดี" พวกสัมมาทิฏฐิจะต้องการ "กินอยู่แต่พอดี" พวกมิจฉาทิฏฐิจะให้ค่าของศีลธรรมน้อยมาก พวกสัมมาทิฏฐิเห็นว่าศีลธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะศีลธรรมทำให้เกิดความปกติสุข
อย่างไรก็ตาม ศีลธรรมอาจแบ่งเป็น 3 ระดับ ในระดับที่ 1 ความต้องการอยู่ในลักษณะพอทนอยู่ได้ อย่าให้ตาย ในระดับที่ 2 เราต้องการให้เรียบร้อยและสวยงามยิ่งขึ้น เราต้องการความเจริญก้าวหน้า ความศิวิไลซ์ ในระดับที่ 3 เราต้องการศีลธรรมที่เป็นมูลฐานขั้นสูงสุดทางศาสนา เราพร้อมที่จะหมดกิเลส แต่ก็ยาก เพราะเราอยากจะสมบูรณ์ด้วยรูป รส กลิ่น เสียง เราพูดเข้าข้างตัวเองทุกคน ว่าอยากนั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ แต่กลับนั่งอยู่ใต้ต้นกัลปพฤกษ์เสมอไป
ท่านพุทธทาสในการบรรยายอบรมแก่ผู้ช่วยผู้พิพากษา เรื่อง "สังคมนิยมตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา"ความตอนหนึ่งว่า "คำว่า "ศาสนา" ก็คือภาวะสูงสุดของศีลธรรม และเป็นภาวะที่เต็มรูปของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าการเมืองดีจริง ก็อยู่ในรูปของศาสนาได้ แต่โดยเหตุที่ว่า เขาเพ่งเล็งกันแต่ทางร่างกาย ทางวัตถุ การเมืองก็ไม่เป็นศาสนาที่สมบูรณ์ ศาสนาที่แท้จริงต้องเล็งถึงเรื่องทางวิญญาณหรือทางจิตใจด้วย”
“เดิมมนุษย์อยู่กันมาอย่างผาสุกตามแบบคนป่าที่ไม่มีวัฒนธรรม แต่มีสันติภาพ นี้น่าหัว จนกระทั่งเกิดมนุษย์อุตริ ... ไปเอามากักตุนไว้มาก แล้วมิหนำซ้ำยังขโมยอีก ... ฉลาดในการที่จะเอาเปรียบคนอื่น จึงต้องเดือดร้อน ถึงกับจะต้องมีพระเจ้าสมมติราชขึ้นในโลก มนุษย์พูดหลุดปากออกมาว่า "พอใจ! พอใจ!" คำว่า "พอใจ" นี้ ที่เป็นภาษาบาลีว่า ราชา ... คนที่ถูกสมมติว่า ราชา มาจากคำที่มีความหมายว่า พอใจ ... พระราชาคนแรกที่เกิดขึ้นมาได้นั้นก็เพราะการมอบหมายของคนทั้งหมด ... พระราชาก็ไม่ได้คิดว่านี้เป็นของฉัน คิดแต่ว่านี้เป็นของสังคม ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจแก่พระราชา เพราะฉะนั้นจึงเป็นพระราชาผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นต้นตอของพระราชาที่ประกอบด้วยทศพิธราชธรรมในระยะต่อมา”
คำว่า "ทศพิธราชธรรม" หมายถึงระบบที่ไม่มีการเอาเปรียบ ไม่กอบโกย ในทางพุทธศาสนาบัญญัติไว้ชัดในวินัยสงฆ์ ขืนแสวงหามา ขืนกินขืนใช้ ขืนเอาไว้เกินจำเป็น ถือว่าอาบัติ เครื่องนุ่งห่มมีได้เพียง 3 ผืน เก็บอาหารไว้ค้างคืนเป็นอาบัติ กุฏิที่อยู่อาศัยมีขนาดไม่เกิน 7x12 ฟุตเท่านั้น ส่วนเศรษฐีก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้สะสม เศรษฐีก็คือผู้มีโรงทาน มหาเศรษฐีก็ต้องมีหลายโรง พระเจ้าแผ่นดินประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม คือมีธรรม 10 ประการสำหรับความเป็นพระราชา เขียนเป็นคำบาลีได้ 10 คำ ดังนี้
1. ทานํ คือให้ทาน มีแต่การที่จะให้ ไม่รับ
2. สีลํ คือเป็นผู้มีศีลธรรม มีความเป็นปกติไม่ถูกกิเลสบีบบังคับ
3. ปริจฺจาตํ บริจาคเรื่องที่เลวออกไปเสีย เช่น ความเห็นแก่ตัว
4. อาชฺชวํ คือความตรง ความซื่อตรง ตรงไปตรงมา
5. มทฺทวํ ความอ่อนโยน นิ่มนวล แม้แก่ราษฎร
6. ตปํ คือตบะ บังคับตัวเองอยู่เสมอ
7. อโกธํ โกรธไม่ได้ โกรธไม่เป็น
8. อวิหึสํ ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไม่ได้ แม้โดยไม่เจตนา
9. ขนฺตึ คือขันติ อดทน อดกลั้น ยอมรับไว้เป็นภาระส่วนตัวที่อดกลั้น
10. อวิโรธนํ ไม่มีอะไรพิรุธ ไม่มีความพิรุธอุตริในแง่ใดก็ตาม
พระราชาองค์ใดประกอบด้วยทศพิธราชธรรมเช่นนี้จะมีปัญหาอะไรอีก
ได้กล่าวถึงประเด็น "ศีลธรรมอันดีงาม" มาพอสมควรแล้ว ขอเปลี่ยนมาประเด็นการอุปถัมภ์ศาสนาบ้าง
โดยขอกล่าวถึงบทบาทของนายปรีดี ที่เขียนไว้ในหนังสือ "นายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์" นายสุลักษณ์เห็นว่า แนวคิดส่วนใหญ่ของนายปรีดีเป็นเรื่องว่าด้วยโลกในปัจจุบัน คือ ทิฏฐิธัมมิกัตถประโยชน์ ไม่ใช่สาระในทางหลังจากชีวิตนี้หรือสาระที่สูงสุดทางศาสนา เมื่อพ้นจากแวดวงการเมืองแล้ว นายปรีดีได้เขียนบทความเรื่อง ความเป็นอนิจจังของสังคม ซึ่งสะท้อนความคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนา ก่อนหน้านี้ มีคำประกาศของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ความตอนหนึ่งว่า "สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกเป็นคำศัพท์ว่า "ศรีอาริยะ" ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า”
ก่อนปี 2475 การประชุมต่าง ๆ นั้น ที่ประชุมจะนับจาก เจ้า รองลงมาเป็นเจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน แต่พอเปลี่ยนการปกครองแล้ว เรียงตามลำดับอักขรานุกรมแทน ไล่จาก ก. ข. ค. ไป นายปรีดีมีส่วนในการยกเลิกบรรดาศักดิ์ แต่ก็พลาดที่ไม่ได้ยกเลิกสมณศักดิ์ นายปรีดีได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่ออบรมให้คนมีความรู้เรื่องธรรมะ ตราของมหาวิทยาลัยเป็นธรรมจักร คือวงล้อแห่งธรรมที่จะต้องนำอำนาจ
นายปรีดียังเป็นผู้อุดหนุนให้เกิดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งมีเนื้อหาสาระในทางประชาธิปไตย ในยุคนั้น คณะราษฎรยังพยายามหลอมรวมนิกายทั้งสองนิกายเข้าด้วยกัน ดังการสร้างวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ที่พระยาพหลพลพยุหเสนาบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกที่บวชจากสองนิกาย ในระหว่างที่นายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ยังได้นิมนต์ท่านพุทธทาสมาสนทนาธรรมที่ทำเนียบท่าช้างเป็นเวลาหลายวันในเดือนมิถุนายน 2485 ดังที่ท่านพุทธทาสมีบันทึกไว้ว่า "ท่านผู้สำเร็จมีความประสงค์จะให้คนจนมีความมั่นใจ ว่าตนมีความสุขเท่ากับคนมั่งมีได้ โดยทำใจให้สันโดษฐ์ตามหลักพุทธสาสนา, อยากให้แต่งเพลงชะนิดที่เป็นแก่นของพุทธศาสนา"
ไม่เพียงแต่พุทธศาสนาเท่านั้น นายปรีดียังยกย่องศาสนาอื่นด้วย ดังจะเห็นได้ว่าจุฬาราชมนตรีในสมัยที่ต้องเปลี่ยนนามสกุลให้เป็นไทย ก็เลือกใช้นามสกุลว่า "พรหมยงค์" ในสมัยที่นายปรีดีอยู่ในอำนาจ ก็เยี่ยมผู้นำคริสตัง คริสเตียนทั้งหมด ในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้ไปเยี่ยมนายหะยี สุหลงผู้นำมุสลิมที่ปัตตานีด้วย สำหรับนายปรีดีแล้ว ศาสนาเป็นพาหะ เป็นหนทางสำหรับคนเชื่อ แม้คนไม่เชื่อในศาสนา ถ้าคุณเชื่อในคุณงามความดี เชื่อในธรรมะแล้ว นำธรรมะมาเป็นหนทางแห่งความประพฤติดี เพื่อประโยชน์ของตนและสังคม นายปรีดีหนุนเต็มที่
ทั้งท่านพุทธทาสและนายปรีดีได้ให้โอวาทและแสดงแบบอย่างในเรื่องศีลธรรมอันดีและการอุปถัมภ์ศาสนาที่เปิดกว้าง ผมหวังว่าผู้นำสมัยนี้จะรับฟังและน้อมนำไปปฏิบัติ