คอลัมนิสต์

ศึก "เลือกตั้งท้องถิ่น" วัดความนิยมพรรคการเมือง ดันท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

ศึก "เลือกตั้งท้องถิ่น" วัดความนิยมพรรคการเมือง ดันท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

27 พ.ย. 2564

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียง "เลือกตั้งท้องถิ่น" ของผู้สมัครเวลา 18.00 น.ของวันนี้ "หมาก็หยุดเห่า" สำหรับการหาเสียงเลือกตั้ง นายกฯอบต.จำนวน 5329 แห่ง ส.อบต หมู่บ้านละ 1 คนของแต่ละ อบต.

"เลือกตั้งท้องถิ่น2564" เข้าสู่โค้งสุดท้ายของวันเลือกตั้ง 28พย.2564 ของการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัคร ที่ต้องยุติการหาเสียงเวลา 18.00 น.ของวันนี้ "หมาก็หยุดเห่า" สำหรับการหาเสียงเลือกตั้ง นายกฯอบต.จำนวน  5329 แห่ง ส.อบต หมู่บ้านละ 1 คนของแต่ละ อบต.

การเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในแต่ละแห่ง โดยมีหลายปัจจัยเป็นตัวกำหนดแพ้-ชนะ ปัจจัยหนึ่งคือ "กระสุนดินดำ" ที่น่าจะยิงกันพรุนไปแล้วในช่วงสัปดาห์สุดท้ายนี้

การเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดเล็กอย่างอบต.ทั้ง 5329 แห่งระหว่างผู้สมัครเก่าที่ครองอำนาจมากกว่า 8 ปีตามคำสั่ง คสช.ที่ 85/2560ในขณะที่ผู้สมัครใหม่ที่จะนำเสนอนโยบายเพื่อนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง Change We Believe in ก็ต้องมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการนำเสนอ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของสิทธิ์

แต่ทุกสนามเลือกตั้งจาก ผู้สมัครนายก อบต.และ ส อบต.จากการลงพื้นที่ในทุกภูมิภาค เหนือ  กลาง ใต้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุนยังเป็นปัจจัย-เครื่องมือชี้ขาดในชัยชนะของผู้สมัคร กกต. กลาง และ กกต.จังหวัด ที่ส่งผู้ตรวจการเลือกตั้งไปลงพื้นที่ตรวจสอบคงมีคำตอบพื้นฐาน "ไม่พบการทุจริตในการซื้อสิทธิ์และขายเสียง" ทั้งๆที่ชาวบ้านร้านตลาดพูดกันให้แซด แต่อย่างน้อยก็เป็นระบบเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผูกพันกับชนบทไทยมายาวนานร่วม 20 ปี 


  
น่าสนใจว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดเล็กในระดับรากหญ้า การเมืองใหญ่ระดับชาติยังลงไปจับ เพราะจะเป็นฐานเสียงต่อไปในอนาคต ผลการเลือกตั้งที่จะออกมาส่วนหนึ่งจะเป็นดีชนีวัดความนิยมในพรรคการเมือง หรือต่อนักการเมืองระดับชาติที่เข้าไปสนับสนุนการท้องถิ่น

ยังเหลือท้องถิ่นอีก 2 แห่ง ที่ยังไม่ได้เลือกตั้งทั้งผู้บริหาร และสภา คือ การเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.)และสมาชิกสภา กทม. (สก.)จำนวน 55 คน ที่จะเป็นตัวชี้วัดคะแนนนิยมของพรรคการเมืองสนามใหญ่ด้วยเช่นกัน ซึ่งเวลานี้ว่าที่ผู้สมัครก็ทยอยเปิดตัว เปิดสังกัด แต่รัฐบาลยังไม่ไฟเขียวให้เลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุผลอธิบาย

เช่นเดียวกับการเลือกตั้งนายกฯเมืองพัทยาและ สมาชิกสภาเมืองพัทยาจำนวน 24 คน ก็ยังไม่มีกำหนดวันเลือกตั้ง คราบไคร้ของ คสช.ยังเกาะติดอยู่กับทั้งสององค์กรท้องถิ่นนี้ เพราะทั้งผู้บริหาร และสภาท้องถิ่นทั้งสองแห่งนี้มาจากการแต่งตั้งของ คสช.

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.00-17.00 น.ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใกล้บ้านที่ท่านมีสิทธิ์ใช้บัตร  2 ใบ  1) เลือก นายก อบต ทึ่เราคิดว่าใช้   2) เลือก ส.อบต. 1 คน  ในหมู่บ้านของเรา

ช่วยกันออกแรงผลัก-ดัน นะครับ…..
จากการศึกษาการกระจายอำนาจ ดูเหมือนว่าบ้านเราแม้จะมีความก้าวหน้า แต่เดินไปอย่างช้า เกือบ 20 ที่มีกฎหมายแผนแม่บทกระจายอำนาจ แต่หลายเรื่องหลายประเด็น ยังไม่มีการปฏิบัติตามแผนแม่บท รัฐบาลกลางก็ยังหวงอำนาจ ไม่ยอมถ่ายโอนภารกิจตามแผนแม่บท

 

ผลการพิจารณาศึกษา เรื่องการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาอุปสรรคและปัญหาของการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำโครงสร้างการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ของกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแล้ว มาเป็นต้นแบบ

ได้มีพิจารณาการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่นๆตามความเหมาะสมอีกหลายแห่ง โดยเน้นรูปแบบพิเศษเชิงพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด เช่นจังหวัดภูเก็ต

การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในลักษณะจังหวัดจัดการตนเอง เช่น ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส 
การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเชิงพื้นที่ ในบางส่วนของจังหวัด เช่น นครเกาะสมุย, นครแหลมฉบัง, นครแม่สอด, เมืองทุ่งสง, เมืองหัวหิน 
ทึ่บอกว่าให้ช่วยกันผลักดัน เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่า "อนาคตท้องถิ่น คืออนาคตประเทศไทย" ถ้าองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง จะเป็นองค์กรแห่งความหวัง
รัฐบาลกลางจะต้องมีความจริงใจในการกระจายอำนาจ ไม่ใช่มีนโยบายในการกระจายอำนาจ "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน" แต่ในทางปฏิบัติกลับทำตรงข้ามกัน ไม่จริงจังและจริงใจกับท้องถิ่น


ยกตัวอย่างว่า ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญของท้องถิ่น ให้บทบาทกับท้องถิ่นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 จัดสรรงบประมาณผ่านลงไปในท้องถิ่น ผมเชื่อเหลือเกินว่า ควบคุมได้นานแล้ว เพราะท้องถิ่นเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด รู้ปัญหาของท้องถิ่น
แต่รัฐบาลกลับให้บทบาทสำคัญกับหน่วยงาน หรือองค์กรที่เป็นตัวแทนจากรัฐบาลกลาง เช่น จังหวัด อำเภอ เป็นต้น ถามว่า ในแต่ละวัน ผู้ว่าฯและนายอำเภอจะลงพื้นที่ได้สักกี่แห่ง แต่นายกฯอบต.วันหนึ่งขับรถวนตำบลได้หลายรอบ
นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่ก็นั่งอยู่ในห้องแอร์บนศาลากลาง และที่ว่าการอำเภอ ก็ขอข้อมูลจากท้องถิ่นนั้นแหละ หรือไม่ก็ขอจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.


ภารกิจหลายเรื่องถ้ารัฐบาลมอบให้ท้องถิ่นทำก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่รัฐบาลนี้กลับไม่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น หวงอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจเขียนไว้ในกฎหมายรัฐบาลยังไม่ทำเลย
ถามตรงๆว่า 245 ภารกิจที่เขียนไว้ในแผนแม่บทและกำหนดระยะเวลาไว้ด้วยว่า ต้องถ่ายโดนให้แล้วเสร็จในปีไหน เวลานี้ถ่ายโอนไปแล้วกี่ภารกิจ เหลืออีกกี่ภารกิจที่ยังไม่ถ่ายโอน เพราพเหตุผลอะไร
ที่ผ่านมาก็มักจะอ้างว่าท้องถิ่นไม่พร้อม ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะก่อนถ่ายโอนภารกิจก็มีการประเมินความพร้อมของท้องถิ่น และส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์ประเมินหมด
ร้ายไปกว่านั้น บางภารกิจถ่ายโอนให้ท้องถิ่น แต่ไม่โอนงบ ไม่โอนบุคลากร ไม่โอนเครื่องไม้เครื่องมือไปให้ ส่วนตัวผมเองอยากได้รัฐบาลที่รู้จักท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น สนับสนุนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง
เงินอุดหนุนท้องถิ่น ก็ปล่อยให้ "วิ่งได้วิ่งเอา" ใครเข้าถึงอำนาจท้องถิ่นนั้นก็จะได้งบมากหน่อย เสนอโครงการก็ผ่าน ท้องถิ่นไหนไม่รู้จักใครในส่วนกลางเสนอของบ เสนอโครงการมาก็ถูกแช่แข็งหมด หรือไม่ก็เรียกค่าหัวคิวจนงานออกมาไร้คุณภาพ
ขออนุญาตบ่นไว้นิดหน่อย

เห็นคุณเทพไท เสนพงศ์ ออกมาแถลงถึงผลการศึกษา และเสนอจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงพื้นที่และครอบคลุมทั้งจังหวัด อย่างจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งจะครอบคลุมทั้งจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุทรปราการ น่าน ปัตตานี พูดกันมามากกว่า 15 ปี ก็ยังไม่เห็นเกิดเสียที ปัญหาใหญ่อยู่ที่ฝ่ายการเมือง ทั้งไม่เข้าใจ และไม่จริงใจต่อการกระจายอำนาจ มีแต่คำพูดสวยหรูเวลาหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้นเอง
พรรคท้องถิ่นไทยมีนโยบายชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ก็เป็นเพียงพรรคเล็ก ไม่มีพลังอำนาจมากพอในการผลักดันให้เกิดเป็นมรรคเป็นผล 

เรื่อง : นายหัวไทร